รีเซต

ไอติม จี้ รัฐสภา รับทุกร่างแก้รธน. ชี้ นี่คือโอกาสสำคัญ แสดงความจริงใจต่อประชาชน

ไอติม จี้ รัฐสภา รับทุกร่างแก้รธน. ชี้ นี่คือโอกาสสำคัญ แสดงความจริงใจต่อประชาชน
มติชน
16 พฤศจิกายน 2563 ( 09:40 )
88

วันนี้ (16 พ.ย.) พริษฐ์ วัชรสินธุ – ไอติม – Parit Wacharasindhu กลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า ได้โพสต์ข้อเขียน เรื่อง #รับทุกร่างคือทางออก : หากรัฐสภาจริงใจและไม่ “ลักไก่” ทุกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องได้ไปต่อ ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก โดยระบุว่า

 

“เมื่อวันก่อน ผมได้ไปร่วมเวทีประชุมทางการเมือง หัวข้อ “บทบาทรัฐสภาในการโหวตแก้รัฐธรรมนูญ 7 ญัตติ กับจุดเปลี่ยนประเทศไทย” ซึ่งจัดโดยสภาที่ 3 ร่วมกับ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย | ครป. องค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย และ 30 องค์กรประชาธิปไตย เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้แทนภาคประชาชนและภาคการเมือง เกี่ยวกับการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในช่วงวันที่ 17-18 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งมีทั้งหมด 7 ร่างประกอบด้วย

 

– ร่าง 1 (พรรคร่วมรัฐบาล) : การแก้มาตรา 256 เพื่อตั้ง สสร. มาร่างฉบับใหม่ (สสร. เลือกตั้งผสมแต่งตั้ง + ห้ามแก้หมวด 1 และ 2)
– ร่าง 2 (พรรคร่วมฝ่ายค้าน) : การแก้มาตรา 256 เพื่อตั้ง สสร. มาร่างฉบับใหม่ (สสร. เลือกตั้งทั้งหมด + ห้ามแก้หมวด 1 และ 2)
– ร่าง 3 (พรรคร่วมฝ่ายค้าน) : การแก้มาตรา 270 และ 271 เพื่อตัดอำนาจ ส.ว. ในการติดตามและพิจารณากฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ
– ร่าง 4 (พรรคร่วมฝ่ายค้าน) : การแก้มาตรา 272 เพื่อตัดอำนาจ ส.ว. ในการร่วมเลือก นายกรัฐมนตรี และ ตัดช่องทางนายกฯ คนนอก
– ร่าง 5 (พรรคร่วมฝ่ายค้าน) : การแก้มาตรา 279 เพื่อยกเลิกคำสั่งประกาศ คสช.
– ร่าง 6 (พรรคร่วมฝ่ายค้าน) : การปรับระบบเลือกตั้งให้กลับไปใช้แบบรัฐธรรมนูญปี 2540
– ร่าง 7 (iLaw) : การแก้มาตรา 256 เพื่อตั้ง ส.ส.ร. มาร่างฉบับใหม่ (ส.ส.ร. เลือกตั้งทั้งหมด + แก้ได้ทุกหมวด) และ การแก้ไขอีกหลายมาตราเพิ่มเติม (เช่น อำนาจและที่มาของ ส.ว. / ที่มาของกรรมการองค์กรอิสระ / การยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ)

 

ผมในฐานะตัวแทน รัฐธรรมนูญก้าวหน้า – Conlab และเป็นหนึ่งใน 100,732 รายชื่อที่สนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน หรือ ฉบับ iLaw ได้ย้ำจุดยืนว่า หากรัฐสภามีความจริงใจในการพิจารณาทุกข้อเสนอ และพร้อมจะนำพาประเทศออกจากวิกฤตการเมืองและสร้างหนทางกลับสู่ระบอบประชาธิปไตย รัฐสภาควรลงคะแนนรับหลักการให้ทั้ง 7 ร่าง (6 ร่างจาก ส.ส. และ 1 ร่างจากประชาชน) ผ่านวาระที่ 1 เพื่อให้ทุกร่างเข้าสู่การพิจารณาในรายละเอียดในวาระถัดไป

 

ผมจึงขอเชิญชวนให้ประชาชนทุกคนเฝ้าจับตาดูท่าทีและการโหวตของสมาชิกรัฐสภาอย่างใกล้ชิด เพราะจากการประชุมรัฐสภาเพื่อลงมติในญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งก่อน เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2563 และจากสัญญาณต่าง ๆ ที่เราพอได้เห็นในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ผมอดมองโลกในแง่ร้ายไม่ได้ว่า ในการประชุมรัฐสภาครั้งที่จะถึงนี้ รัฐบาลอาจ “ลักไก่” ไม่โหวตรับทุกร่างในวาระที่ 1 แต่จะรับเพียงบางร่างหรือแค่ร่างของพรรคร่วมรัฐบาล และทำเป็นว่าได้แก้รัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นตามข้อเรียกร้องแล้ว ทั้ง ๆ ที่ร่างที่รับไปนั้น ไม่ได้แก้สิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญในการนำพาประเทศออกจากวิกฤตการเมืองและสร้างหนทางกลับสู่ระบอบประชาธิปไตย แต่อาจกลับทำให้ประเทศไทยวนอยู่ที่เดิมหรือเดินไปถึงทางตันในที่สุด

 

ลักไก่ #1 = ล็อกสเปก สสร.

จากรายละเอียดของร่างต่างๆ เราสามารถเห็นความพยายาม ล็อกสเปก สสร. 2 แบบ

(i) ล็อกสเปก ที่มาของสมาชิก สสร.

รูปแบบของ สสร. ที่ถูกเสนอโดยพรรคร่วมรัฐบาล (ร่าง 1) ให้มาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ประกอบด้วยสมาชิก 200 คน โดย 150 คนมาจากการเลือกตั้ง และ 50 คนมาจากการสรรหา

 

หากเรายึดหลักพื้นฐานของประชาธิปไตย ว่าฝ่ายนิติบัญญัติหรือผู้ร่างกฎหมายในประเทศควรมาจากการเลือกของประชาชน (เช่นเดียวกับที่ ส.ส. มาจากการเลือกตั้ง) ในเมื่อรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ คนที่มาร่าง (สสร.) ก็ควรมาจากการเลือกตั้งทั้งหมดเช่นกัน – หากเราต้องการผู้เชี่ยวชาญมาช่วยให้คำปรึกษา ก็สามารถตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาได้เหมือนในสภาผู้แทนราษฎร

 

ยิ่งไปกว่านั้น กระบวนการสรรหา 50 คนนั้น มีเค้าความพยายามของรัฐบาลที่จะควบคุมเสียง ไม่ว่าจะผ่าน 20 ตัวแทนของรัฐสภา (ซึ่งหมายถึงการมอบโควตาให้ ส.ว.ที่ คสช. แต่งตั้ง ประมาณ 7 คน และ ส.ส. พรรคร่วมรัฐบาล 7 คน) หรือ ผ่าน 10 ตัวแทน นิสิต นักศึกษา (ที่ไม่ได้ถูกเลือกจากกลุ่ม นิสิต นักศึกษากันเอง แต่ถูกเลือกโดย กกต. ซึ่งเป็นอีกหนึ่งองค์กรอิสระที่ไม่ได้รับความไว้วางใจจากผู้เรียกร้องการเปลี่ยนแปลง และถูกตั้งข้อครหาถึงความไม่เป็นกลางมาอย่างต่อเนื่อง)

 

(ii) ล็อกสเปก อำนาจของ สสร. ในการพิจารณาทุกหมวด ทุกมาตรา

ร่างที่พรรคร่วมรัฐบาลและพรรคร่วมฝ่ายค้านเสนอ (ร่าง 1 และ ร่าง 2) ล็อกไม่ให้ สสร. มีอำนาจพิจารณาแก้ไข หมวด 1 (บททั่วไป) และ หมวด 2 (พระมหากษัตริย์) มักถูกทำให้เกิดความสับสนแก่สังคม หลายคนเข้าใจผิดว่าหากพูดว่า สสร.แก้ได้ทุกหมวด จะเท่ากับ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทั้งที่ความจริงแล้วไม่ได้เกี่ยวข้องกัน และไม่สามารถทำได้เพราะจะขัดกับรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 255 ที่เขียนไว้ชัดเจนว่าการแก้รัฐธรรมนูญนั้น ห้ามเปลี่ยนระบอบการปกครองจากระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (การร่างรัฐธรรมนูญในอดีตแต่ละครั้ง รวมถึงรัฐธรรมนูญ 2560 ก็มีการทบทวนและปรับเปลี่ยนบางส่วนของหมวด 1 และ หมวด 2 เสมอมา)

 

ยิ่งไปกว่านั้น การล็อกหมวด 1 หมวด 2 จะทำให้สังคมเสียโอกาสในการสร้างพื้นที่ปลอดภัยในรูปแบบของ สสร. เพื่อให้ทุกข้อเสนอด้านการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ (ทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย) ได้ถูกพูดคุยแลกเปลี่ยนและเพื่อให้สังคมสามารถหาฉันทามติในเรื่องนี้ได้อย่างสันติวิธี

 

เพราะฉะนั้น หากรัฐสภาไม่รับทุกร่างที่มีการพูดถึงเรื่อง สสร. (ร่าง 1 / ร่าง 2 / ร่าง 7) อาจนำไปสู่การล็อกสเปกทั้ง รูปแบบของ สสร. (เพราะร่าง 1 กำหนดให้ สสร. มาจากการเลือกตั้งผสมแต่งตั้งในขณะที่ ร่าง 2 และ 7 กำหนดให้ สสร. มาจากการเลือกตั้ง) และ ล็อกอำนาจของ สสร. (เพราะร่าง 1 และ 2 ล็อกไม่ให้ สสร. พิจารณาแก้ไขหมวด 1 หมวด 2 ในขณะที่ ร่าง 7 ให้อำนาจ สสร. พิจารณาแก้ไขได้ทุกหมวด)

 

ลักไก่ #2 = ไม่แก้รายมาตราทันที และบอกให้เอาทุกอย่างไปคุยในร่างฉบับใหม่

ตามกระบวนการแล้ว กว่าจะได้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อาจต้องใช้เวลา 1-2 ปี เนื่องจากประชามติที่ต้องจัดเพื่อรับรองการแก้มาตรา 256 ที่นำไปสู่การตั้ง สสร. (ตามมาตรา 256) + การจัดการเลือกตั้ง สสร. + การจัดประชามติเพื่อรับร่างฉบับใหม่

 

หากระหว่างนั้นไม่มีการแก้ไขรายมาตราเลย ความวิปริตต่างๆ ในระบอบการเมืองไทยจะยังคงอยู่ และจะยังคงเป็นชนวนที่ก่อให้เกิดวิกฤตทางการเมืองต่อไป ไม่ว่าจะเป็นอำนาจเกินตัวของ ส.ว. (เช่น อำนาจเลือกนายกฯ อำนาจชี้ขาดว่าใครจะนั่งตำแหน่งกรรมการองค์กรอิสระและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อำนาจพิจารณากฎหมายปฏิรูปประเทศ) ที่มาที่วิปริตของ ส.ว. และ องค์กรอิสระ หรือ การคงอยู่ของแผนยุทธศาสตร์ชาติ

 

ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดปรากฏการณ์ลักไก่ทั้ง 2 อย่างนี้ รัฐสภาจำเป็นต้องลงคะแนนรับหลักการทุกร่างเพื่อให้รายละเอียดทั้งหมดถูกนำไปถกเถียงในวาระที่ 2 และวาระที่ 3 ต่อไป

 

ในบรรยากาศบ้านเมืองเช่นนี้ สิ่งที่ประชาชนผู้กำลังเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงต้องการเห็นมากที่สุด คือ “ความจริงใจ” จากผู้มีอำนาจ ว่าจะไม่เมินเฉยหรือปัดตกข้อเสนอของพวกเขา

 

ไม่ว่า ส.ส. และ ส.ว. แต่ละท่าน จะมีชุดความคิดทางการเมืองแบบใด แต่อย่างน้อย ผมหวังว่าท่านจะได้ใช้ 1 เสียงที่ตัวเองมี เพื่อเปิดโอกาสให้ชุดความคิดอื่นๆ ได้รับการพิจารณาจากเนื้อหาสาระ มิใช่ติดกับอุปสรรคเชิงเทคนิคกฎหมายจนไม่ได้ไปต่อ

 

นี่เป็นโอกาสสำคัญในการแสดงความจริงใจต่อประชาชน ผมหวังว่าท่านจะไม่ปล่อยมันให้หลุดมือไปครับ

#รับทุกร่างคือทางออก

 

 

รวมสิทธิส่งเสริมคุณภาพชีวิต เกาะติดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ทันเรื่องราวกระแสสังคม

สัมผัสประสบการณ์ข่าวได้ที่ แอปพลิเคชัน ทรูไอดี (ดาวน์โหลดเลยที่นี่!!)

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง