6 ข้อควรรู้ ยื่นภาษี 2565 พร้อมวิธีตรวจสอบสิทธิลดหย่อนด้วยตนเอง
กรมสรรพากรได้เปิดให้คนไทยผู้มีรายได้ทยอยยื่นแบบฯภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ในรอบปีภาษี 2564 ที่รัฐบาลได้ขยายระยะเวลาการยื่นแบบฯ มาเป็น ยื่นภาษี 2565 แทนตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.ที่ผ่านมา และจะสิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค.2565 กรณีไปยื่นที่สำนักงานสรรพากร ส่วนการยื่นแบบออนไลน์จะสิ้นสุดวันที่ 8 เมษายน 2565 ซึ่งหลายคนก็อาจจะยังไม่ได้ยื่น ดังนั้น TNN ONLINE จึงได้รวบรวมข้อควรรู้ก่อน ยื่นภาษี และลดหย่อนภาษีมาฝากกัน
1. มีค่าใช้จ่ายที่นำมาลดหย่อนภาษีได้
แม้การยื่นภาษีจะไม่ใช่เรื่องยุ่งยากเหมือนเมื่อก่อน แต่สำหรับคนที่ยังไม่เคยยื่นภาษี หรือยื่นภาษ๊ในครั้งแรกแล้ว อาจจะลืมไปหรือนึกไม่ถึงว่า มีค่าใช้จ่ายที่สามารถนำมา ลดหย่อนภาษีได้ นอกเหนือจากค่าลดหย่อนพื้นฐาน อาทิ ลดหย่อนภาษีส่วนตัว ที่จะลดหย่อนได้ 60,000 บาททันที , ลดหย่อนภาษีคู่สมรสลดหย่อนได้ 60,000 บาท โดยต้องเป็นคู่สมรสที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย และคู่สมรสต้องไม่มีรายได้ , ลดหย่อนภาษีบุตร ที่ลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท เฉพาะบุตรอายุไม่เกิน 20 ปี หรือไม่เกิน 25 ปีและกำลังเรียนอยู่ แต่ในกรณีลูกคนที่ 2 ขึ้นไป และเกิดตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป จะลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท , ลดหย่อนภาษีบิดามารดา ได้คนละ 30,000 บาท โดยบิดามารดาต้องมีอายุ 60 ปีขึ้นไป และมีรายได้ทั้งปีไม่เกิน 30,000 บาท โดยใช้สิทธิ์ซ้ำระหว่างพี่น้องไม่ได้ เป็นต้น
ซึ่งค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เราสามารถเตรียมพร้อมหรือวางแผนนำไปลดหย่อนภาษีได้ ก็ได้แก่
- ซื้อประกันชีวิตและประกันสุขภาพ เบี้ยประกันชีวิตยังสามารถนำไปลดหย่อนภาษีรวมกับเบี้ยประกันสุขภาพได้สูงสุดถึง 100,000 บาท และลดหย่อนภาษีจากประกันชีวิตแบบบำนาญอีกสูงสุด 200,000 บาท
- ลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือ RMF หรือสมทบทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในบริษัทที่ทำงานอยู่ นอกจากจะเป็นเงินเก็บที่มีโอกาสได้กำไรแล้ว ยังใช้ลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 500,000 บาท (เมื่อรวมกับกองทุนเพื่อการเกษียณอื่น ๆ)
- ลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออม กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) เป็นกองทุนที่สามารถลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งจะมาแทนกองทุน LTF โดยกองทุน SSF ใช้ลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 30% ของรายได้รวมทั้งปี แต่ไม่เกิน 500,000 บาท (เมื่อรวมกับกองทุนเพื่อการเกษียณอื่น ๆ)
- ช้อปดีมีคืน โครงการช้อปดีมีคืนจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565-15 กุมภาพันธ์ 2565 (สามารถนำไปลดหย่อนภาษีในปี 2565 ได้) จะมอบสิทธิให้กับประชาชนที่ซื้อสินค้าหรือบริการ (ที่เข้าร่วมเงื่อนไข) แล้วสามารถนำวงเงินค่าใช้จ่ายไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้ (ตามจำนวนที่จ่ายจริง) แต่ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี
- ซื้อบ้านและคอนโด โดยดอกเบี้ยในการผ่อนบ้าน-คอนโดที่เสียทั้งปี สามารถลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดถึง 100,000 บาท
ภาพประกอบ : AFP
2.กรณีมีคู่สมรส และมีบุตร สามารถแบ่งค่าใช้จ่ายมาลดหย่อนได้
ในที่นี้ กรณีแยกยื่น หมายความว่า สามีภรรยาควรตกลงกันก่อนว่าจะนำค่าใช้จ่ายอะไรบ้างไปใช้ลดหย่อน เพราะหากนำข้อมูลไปกรอกทั้งสองคนก็อาจจะต้องเพิ่มความยุ่งยากและล่าช้าในการตรวจสอบรายได้ภาษีไปอีก การคืนภาษีก็จะได้ช้าไปอีก เช่น มีบุตร 2 คน ก็สามารถ แบ่งค่าใช้จ่าย สามี 1 คน และภรรยา 1 คน ก็ได้ จะช่วยแบ่งเบาภาระภาษีได้ทั้งสามีและภรรยานั่นเอง
3.หากยื่นภาษี ปี 65 ล่าช้าจะเกิดอะไรขึ้น
ถ้ากรณีลืมยื่นแบบภาษีภายในกำหนดแต่ชำระภาษีไม่ครบถ้วน หรือยื่นแบบภาษีล่าช้า ละเลย หรือหลีกเลี่ยงการยื่นแบบภาษี สิ่งที่ควรรู้เลยคือ จะต้องเสียเงินเพิ่มและเบี้ยปรับตามกฎหมายกำหนด และหากฝ่าฝืน หลีกเลี่ยง ไม่ยอมชำระจะต้องรับโทษทางอาญาด้วย บทลงโทษมีดังนี้
- กรณีไม่ชำระภาษีภายในกำหนดเวลา จะต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน (เศษของเดือนให้นับเป็น 1 เดือน) ของเงินภาษีที่ต้องชำระนับแต่วันพ้นกำหนดเวลาการยื่นรายการจนถึงวันชำระภาษี
- กรณีเจ้าพนักงานตรวจสอบออกหมายเรียก และปรากฏว่ามิได้ยื่นแบบแสดงรายการไว้หรือยื่นแบบแสดงรายการไว้แต่ชำระภาษีขาดหรือต่ำไป นอกจากจะต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มแล้ว ยังจะต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับอีก 1 เท่าหรือ 2 เท่าของภาษีที่ต้องชำระแล้วแต่กรณี เงินเบี้ยปรับดังกล่าวอาจลดหรืองดได้ตามระเบียบที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี
- กรณีไม่ยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.90, 91 หรือ 94 ภายในกำหนดเวลา ต้องระวางโทษปรับทางอาญาไม่เกิน 2,000 บาท
- กรณีจงใจ แจ้งข้อความเท็จ หรือแสดงหลักฐานเท็จหรือฉ้อโกง เพื่อหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือนถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 บาท ถึง 200,000 บาท
- เจตนาละเลยไม่ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร มีโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ
4. ยื่นภาษี ปี 65 ไม่ทันทำอย่างไร
หากยื่นแบบภาษีไม่ทันตามกำหนด ผู้เสียภาษีต้องเตรียมเอกสารที่เกี่ยวข้องไปยื่นที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่เท่านั้น (ไม่สามารถยื่นแบบภาษีทางออนไลน์ได้) โดยต้องยื่นเอกสารดังต่อไปนี้
- แบบฟอร์ม ภ.ง.ด.91 หรือ ภ.ง.ด.90
- หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่ จ่าย (50 ทวิ)
- เอกสารที่เกี่ยวข้องกับการลดหย่อนภาษี เช่น หนังสือรับรองการจ่ายเบี้ยประกันชีวิต, หนังสือรับรองการจ่ายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, หนังสือรับรองการซื้อหน่วยลงทุนใน RMF, เอกสารยืนยันสิทธิ์ค่าลดหย่อนบิดามารดา (ใบ ล.ย. 03) หรือเอกสารยืนยันสิทธิ์ลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพ (ใบ ล.ย. 04) ฯลฯ
- เตรียมเงิน เพื่อจ่ายภาษีส่วนที่ค้าง รวมทั้งอาจต้องจ่ายค่าปรับ
ภาพประกอบ : AFP
5.เช็กลดหย่อนภาษีผ่าน My Tax Account
กรมสรรพากรพัฒนาระบบ My Tax Account ใหม่ ช่วยให้ผู้เสียภาษีเข้าถึงข้อมูล และบริการบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ตรวจสอบข้อมูลค่าลดหย่อนต่าง ๆ ด้วยตนเองได้ถึง 9 รายการ ประกอบด้วย
1. เงินสมทบกองทุนประกันสังคม
2. เบี้ยประกันสุขภาพของผู้มีเงินได้
3. เงินบริจาคผ่านระบบ e-Donation
4. เงินสะสมกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)
5. เบี้ยประกันชีวิต
6. เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ
7. เบี้ยประกันสุขภาพบิดา-มารดา
8. ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างที่อยู่อาศัย (กรณีกู้คนเดียว)
9. เงินสะสมกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) รวมทั้งข้อมูลเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับข้าราชการ และภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ที่ได้รับจากกรมบัญชีกลาง
ผู้เสียภาษีสามารถนำข้อมูลที่ปรากฏ ในระบบ My Tax Account ไปใช้ประกอบการยื่นแบบแสดงรายการภาษี ภ.ง.ด.90 หรือ ภ.ง.ด.91 ได้ทันที โดยไม่ต้องกรอกข้อมูลซ้ำ รวมทั้งสามารถตรวจสอบสถานะการขอคืนภาษี และการนำส่งเอกสารหลักฐานเพื่อประกอบการพิจารณาคืนภาษีได้อีกด้วย
โดย วิธีตรวจสอบสิทธิลดหย่อน
1. เข้าเว็บไซต์กรรมสรรพากร
2. เลือก My Tax Account (บริการตรวจสอบข้อมูลลดหย่อนและสิทธิประโยชน์ทางภาษี)
3. คลิกเข้าระบบ กรอกหมายเลขผู้ใช้และรหัสผ่านเดียวกับระบบ e-Filing
4. เลือกรายการลดหย่อน
สำหรับข้อมูลที่แสดงบนระบบ My Tax Account เป็นข้อมูลที่กรมสรรพากรได้รับจากหน่วยงานภายนอกหากพบว่าไม่ถูกต้อง ไม่ครบถ้วน ผู้เสียภาษีสามารถติดต่อไปยังหน่วยงานที่ส่งข้อมูลให้แก่กรมสรรพากรได้ และที่สำคัญกรมสรรพากรได้พัฒนาระบบการยืนยันตัวตน เพื่อยกระดับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลให้มีความปลอดภัย ป้องกันการสวมรอยในการเข้าทำรายการ เพราะนอกจากการเข้าใช้งานโดยกรอก Username และ Password ของระบบ e-Filing พร้อมทั้งระบุ Laser ID หลังบัตรประจำตัวประชาชน (กรณีบุคคลธรรมดาสัญชาติไทย) แล้ว ยังมีการยืนยันตัวตนด้วยรหัส One Time Password (OTP) เพิ่มขึ้น เพื่อให้เจ้าของข้อมูลมั่นใจในความปลอดภัยของข้อมูลมากยิ่งขึ้นด้วย
การ ยื่นภาษี จะมีรายการ ลดหย่อนภาษี ขั้นพื้นฐานอีกหลายข้อที่ผู้เสียภาษีควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อรักษาผลประโยชน์ของตนเองให้ได้มากที่สุด ดังนั้น การวางแผนภาษีและเตรียมตัวก่อนจะยื่นภาษี เพื่อคิดคำนวณค่าใช้จ่ายไว้ก่อน ที่สำคัญคืออย่าลืมลดหย่อนภาษี ซึ่งหากมีข้อสงสัยก็สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่สำนักงานสรรพากรทุกแห่งทั่วประเทศ หรือศูนย์สารนิเทศสรรพากร (RD Intelligence Center) โทร. 1161
อ้างอิง : กรมสรรพากร
ภาพประกอบ : AFP