รีเซต

"อนุทิน" เปิดโรงเรือน ปลูกกัญชาทางการแพทย์ จ่อออกประกาศกัญชง

"อนุทิน" เปิดโรงเรือน ปลูกกัญชาทางการแพทย์ จ่อออกประกาศกัญชง
ข่าวสด
8 ตุลาคม 2563 ( 13:28 )
526
"อนุทิน" เปิดโรงเรือน ปลูกกัญชาทางการแพทย์ จ่อออกประกาศกัญชง

วันที่ 8 ต.ค. ที่องค์การเภสัชกรรม อ.หนองใหญ่ จ.ชลบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังเปิดโครงการปลูกกัญชาทางการแพทย์ในรูปแบบโรงเรือน (Greenhouse) ว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับนโยบายกัญชาทางการแพทย์ ซึ่งจากการขับเคลื่อนนโยบายนี้มา 1 ปี ถือว่ามีความก้าวหน้ามา เนื่องจากสามารถร่างกฎหมาย พ.ร.บ.กัญชา และผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว อยู่ระหว่างคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา หากผ่านจะเสนอต่อสภาออกกฎหมาย ซึ่งมั่นใจว่าพรรคร่วมรัฐบาลมีเสียงในสภามากเพียงพอที่จะผลักดัน

 

อย่างไรก็ตาม นโยบายกัญชาเป็นการนำมาใช้ทางการแพทย์ และนำสารสกัดจากกัญชาไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่เกิดประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ ไม่ได้เอาไปใช้ด้านการเสพติดหรือสันทนาการ

 

นายอนุทิน กล่าวว่า นอกจากนี้ สธ.เตรียมออกประกาศเกี่ยวกับกัญชงในอีกไม่กี่สัปดาห์ หากผ่านคณะกรรมการกฤษฎีกา เมื่อส่งกลับมาก็พร้อมลงนามทันที เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงนำสารสกัดจากกัญชงมาใช้ประโยชน์ หากขออนุญาตปลูกตามกฎหมาย ทำตามหลักเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก็ปลูกได้ โดยไม่ต้องมาถามว่าปลูก 5 ต้น 6 ต้น

 

รวมถึงจะเปิดโอกาสให้ประชาชนและวิสาหกิจชุมชนดำเนินการในลักษณะของ Contact Farming คาดว่าจะดำเนินการได้ภายในปี 2564 เนื่องจากกัญชงไม่ได้ถูกจัดเป็นยาเสพติด ทำให้เข้าถึงเร็วกว่ากัญชา อย่างไรก็ตาม กัญชาและกัญชงไม่มีความแตกต่าง เพราะได้สารสำคัญเหมือนกัน คือ CBD และ THC สำหรับปัญหาเรื่องการแอบอ้างขายกัญชาว่าผ่านการรับรองจากกระทรวงสาธารณสุขนั้น ขออย่าหลงเชื่อ เนื่องจากยังไม่สามารถขายได้

 

นายอนุทิน กล่าวว่า ส่วนการนำร่องกับวิสาหกิจชุมชนใน 3 จังหวัด คือ บุรีรัมย์ ลำปาง และนครราชสีมา ในการปลูกกัญชาเพื่อให้ได้ช่อดอกที่มีคุณภาพตามมาตรฐานที่ อภ.กำหนด เป็นการเลือกวิสาหกิจชุมชนที่มีความพร้อม ซึ่งจริงๆ อยากนำร่องทั้ง 77 จังหวัด แต่ก็ต้องพิจารณาเรื่องสภาพอากาศด้วย เพราะมีผลต่อการปลูก

 

 

นพ.โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) กล่าวว่า ขณะนี้โครงการสารสกัดต้นแบบกัญชาทางการแพทย์ของ อภ.อยู่ในระยะที่ 2 ที่เป็นระดับกึ่งอุตสาหกรรม โดยขยายพื้นที่เพาะปลูกแบบ Indoor เพิ่ม 1,700 ตารางเมตร ด้วยระบบน้ำหยด อยู่ระหว่างการก่อสร้างและติดตั้งระบบเพาะปลูก และขยายกำลังการผลิตสารสกัดเบื้องต้นที่ฝ่ายเภสัชเคมีภัณฑ์ องค์การเภสัชกรรม คลอง 10 อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ผลิตสารสกัดประมาณ 800 กิโลกรัมต่อปี ผลิตเป็นยาจากสารสกัดกัญชา 8,000 ลิตร

 

นอกจากนี้ ได้สร้างโรงเรือนอีก 4 โรงเรือน ติดตั้งเทคโนโลยีระบบการเพาะปลูก 3 ระบบ ที่มีการสร้างสภาวะการปลูกที่แตกต่างกัน และการปลูกกลางแจ้ง (Outdoor) บนพื้นที่ อภ. อ.หนองใหญ่ จ.ชลบุรี เพื่อศึกษาและพัฒนาวิธีการเพาะปลูก พัฒนาสายพันธุ์ที่ให้สารสำคัญสูงเหมาะสมกับการปลูกในไทย เพื่อลดต้นทุนการผลิตช่อดอกกัญชาในอนาคต

 

สำหรับระยะต่อไปจะผลิตในระดับอุตสาหกรรม จะขยายการปลูกกัญชาทางการแพทย์ โดยเน้นความร่วมมือกับวิสาหกิจชุมชน องค์กร หน่วยงานอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น เพิ่มกำลังการผลิตสารสกัดให้มากขึ้น พัฒนาผลิตภัณฑ์ยาจากสารสกัดกัญชาหลากหลายรูปแบบ เช่น ยาเม็ด ครีม แผ่นแปะ ยาเหน็บ แคปซูลเจล เพื่อให้แพทย์สามารถเลือกใช้ยาในรูปแบบต่างๆ ให้แก่ผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสมมากยิ่งขึ้น และเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา

 

 

นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผอ.อภ. กล่าวว่า การปลูกกัญชาทางการแพทย์ในโรงเรือนมี 3 ระบบ 4 โรงเรือน ได้แก่ 1.โรงเรือนแบบลดอุณหภูมิด้วยการระเหยน้ำ 1 โรง ติดตั้งพัดลมดูดอากาศผ่านแผ่นทำความเย็นเพื่อให้น้ำระเหยเป็นไอน้ำ น้ำจะดูดซับพลังงานจากอากาศในรูปของความร้อนแฝง ทำให้อากาศที่สูญเสียความร้อนไปกับการระเหยของน้ำมีอุณหภูมิต่ำลง เป็นระบบที่ลดอุณหภูมิได้ มีต้นทุนต่ำ แต่ไม่สามารถควบคุมความชื้นได้ เหมาะกับการปลูกในช่วงระยะเจริญทางลำต้น

 

2.โรงเรือนแบบผสมผสานควบคุมอุณหภูมิและความชื้น 1 โรง ควบคุมอุณหภูมิและความชื้นได้ดี สามารถกรองอากาศและป้องกันโรค อาทิ ราชนิด botrytis และราแป้ง โดยระบบทำงานผสมผสานระหว่าง compressor ร่วมกับ LiCl solution ที่ทำความเย็นและลดความชื้นได้ดีกว่า air conditioner ใช้พลังงานไฟฟ้าเพียง 19% เหมาะกับการปลูกกัญชาในช่วงระยะออกดอก

 

และ 3.โรงเรือนแบบระบายอากาศธรรมชาติ 2 โรง เป็นโรงเรือนแบบเปิดมีหลังคาเพื่อป้องกันหยาดน้ำฟ้า และติดตั้งตาข่ายกันแมลงขนาดใหญ่ มีต้นทุนต่ำทั้งราคาโรงเรือนและค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ แต่ไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิและความชื้นได้ จะใช้ศึกษาวิจัยวิธีการเพาะปลูกกัญชาในสภาพอากาศธรรมชาติ คัดเลือกสายพันธุ์ที่มีสารสำคัญสูงให้เหมาะกับสภาพอากาศในไทย ส่วนการปลูกแบบกลางแจ้ง จะศึกษาวิจัยพัฒนาควบคู่กันไปด้วยในพื้นที่เดียวกัน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง