รีเซต

'ยารักษาโควิด-19 ฝีมือจีน' เข้าสู่ขั้นตอนการทดลองทางคลินิกในสหรัฐฯ

'ยารักษาโควิด-19 ฝีมือจีน' เข้าสู่ขั้นตอนการทดลองทางคลินิกในสหรัฐฯ
Xinhua
17 มีนาคม 2564 ( 20:20 )
70
'ยารักษาโควิด-19 ฝีมือจีน' เข้าสู่ขั้นตอนการทดลองทางคลินิกในสหรัฐฯ

เซี่ยงไฮ้, 17 มี.ค. (ซินหัว) -- วันพุธ (17 มี.ค.) สถาบันมาเทอเรีย เมดิกาแห่งเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Institute of Materia Medica) สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (CAS) รายงานว่ายารักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ตัวหนึ่งของจีน ได้เข้าสู่ขั้นตอนการทดลองทางคลินิกในสหรัฐฯ หลังได้รับอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (FDA) ของสหรัฐฯ

 

สถาบันมาเทอเรีย เมดิกาแห่งเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นผู้พัฒนาหลักของยาตัวข้างต้น กล่าวในแถลงการณ์ว่าสำนักบริหารผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์แห่งชาติ (NMPA) ของจีน และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐฯ ได้ยื่นขอใบอนุญาตการวิจัยทางคลินิกสำหรับยาตัวดังกล่าว ซึ่งใช้รหัส ดีซี402234 (DC402234) เมื่อเดือนกรกฎาคม 2020

เมื่อวันจันทร์ (15 มี.ค.) ที่ผ่านมา คณะนักวิจัยเริ่มการทดลองทางคลินิกระยะที่ 1 สำหรับยาตัวดังกล่าว ที่ศูนย์วิจัยทางคลินิกแห่งหนึ่งของบริษัทฟรอนเทจ แลบอราทอรีส์ (Frontage Laboratories) ซึ่งมีฐานที่ตั้งอยู่ในรัฐนิวเจอร์ซีย์

 

ยาตัวนี้เป็นสารประกอบใหม่ที่ถูกออกแบบและสังเคราะห์จากโครงสร้างผลึกของเอนไซม์โปรตีเอส (Protease) ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (SARS-CoV-2) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่มีบทบาทสำคัญเพราะเป็นตัวกลางที่เอื้อให้ไวรัสเพิ่มจํานวนและแบ่งตัว โดยการวิจัยก่อนการทดสอบในมนุษย์พบว่า สารประกอบข้างต้นแสดงฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์โปรตีเอส และแสดงฤทธิ์ต่อต้านไวรัสได้ดีในการเพาะเซลล์

แถลงการณ์ระบุว่าคุณสมบัติทางเภสัชจลนศาสตร์ที่ดี ซึ่งหมายถึงวิธีที่ยาจะดูดซึมและเคลื่อนตัวในร่างกายรวมถึงความปลอดภัยจากการทดสอบในสัตว์ ยังบ่งชี้ถึงศักยภาพของยาตัวนี้ในการทดสอบทางคลินิกในขั้นต่อไป

 

ผลการทดลองข้างต้นถูกรายงานในเอกสารที่มีชื่อว่า "การออกแบบจากโครงสร้างของยาต้านไวรัสที่มุ่งเป้าไปยังเอนไซม์โปรตีเอสของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่" (Structure-based design of antiviral drug candidates targeting the SARS-CoV-2 main protease) ซึ่งได้รับการตีพิมพ์เป็นบทความบนหน้าปกของวารสารไซแอนซ์ (Science) ประจำเดือนกรกฎาคม 2020

ทั้งนี้ ยาที่มีการจดสิทธิบัตรตัวนี้ ได้รับการพัฒนาร่วมกันโดยคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้เทค (ShanghaiTech University) และสถาบันไวรัสวิทยาอู่ฮั่น (WIV) สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง