รีเซต

โลกร้อนกระตุ้นแผ่นดินไหว กทม.อาจสั่นสะเทือน

โลกร้อนกระตุ้นแผ่นดินไหว  กทม.อาจสั่นสะเทือน
TNN ช่อง16
28 เมษายน 2568 ( 12:00 )
10

ดร.สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย โพสเกี่ยวกับ ภาวะโลกร้อนเพิ่มความเสี่ยงเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงทั่วโลก

โดยระบุว่า นักวิจัยจากศูนย์วิจัยธรณีวิทยาเยอรมัน (GFZ) เมืองพอทสดัม และมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย เปิดเผยงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Seismological Research Letters ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ กำลังเร่งให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน พายุที่มีความรุนแรงก็เกิดขึ้นบ่อยครั้งขึ้น ปรากฏการณ์เหล่านี้ส่งผลให้แรงดันไฮโดรสแตติกในใต้ดินและชั้นหินเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งกระตุ้นให้วัฏจักรการเกิดแผ่นดินไหวเปลี่ยนแปลงไป ทำให้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นต่อแผ่นดินไหว ดินถล่ม สึนามิ และปรากฏการณ์ดินเหลว โดยเฉพาะในพื้นที่ชายฝั่งทั่วโลก

แผ่นดินไหวเกิดจากการเคลื่อนตัวอย่างกะทันหันของแผ่นหินใต้เปลือกโลก เป็นผลจากพลังงานที่สะสมมาเป็นเวลานาน เมื่อแรงกดดันสะสมจนเกินขีดจำกัดของความแข็งแรงของหิน ก็จะปลดปล่อยพลังงานมหาศาลออกมาในรูปของคลื่นไหวสะเทือน กระบวนการนี้เกิดขึ้นตลอดเวลา และอาจใช้เวลาสะสมเป็นเวลาหลายปี หลายทศวรรษ หรือแม้แต่หลายศตวรรษ การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลจากการละลายของน้ำแข็งขั้วโลก ทำให้พื้นผิวโลกแบกรับน้ำหนักมากขึ้น ซึ่งสามารถกดทับชั้นเปลือกโลก กระตุ้นให้เกิดการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลกและเพิ่มความถี่ของการเกิดแผ่นดินไหว

ข้อมูลจากรายงานของ IPCC ชี้ว่า ตั้งแต่ปี 1901 ถึง 1990 ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.4 มิลลิเมตรต่อปี เพิ่มเป็น 2.1 มิลลิเมตรต่อปีในช่วงปี 1990–2006 และเพิ่มขึ้นถึง 3.6 มิลลิเมตรต่อปีในช่วงปี 2006–2015 คาดว่าภายในปี 2100 ระดับน้ำทะเลจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยระหว่าง 0.43 ถึง 0.84 เมตร หากน้ำแข็งบนพื้นดินละลายจนหมด ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่าน้ำทะเลจะสูงขึ้นถึงประมาณ 70 เซนติเมตร ซึ่งเชื่อมโยงโดยตรงกับความเสี่ยงที่แผ่นดินไหวจะเกิดบ่อยและรุนแรงยิ่งขึ้น


ทั้งนี้ ความรุนแรงของสถานการณ์ในอนาคตยังขึ้นอยู่กับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มเติม รวมถึงสภาพอากาศเลวร้าย เช่น พายุที่ทวีความถี่และความรุนแรง

โดยเฉพาะพื้นที่ชายฝั่งโลก ซึ่งมีประชากรประมาณ 40% อาศัยอยู่ เช่น ซานฟรานซิสโก ลอสแองเจลิส อิสตันบูล โตเกียว และโยโกฮามา ล้วนตั้งอยู่ใกล้รอยเลื่อนแผ่นดินไหวสำคัญและพื้นที่การมุดตัวของเปลือกโลก จึงมีความเสี่ยงสูงเป็นพิเศษต่อการเกิดแผ่นดินไหวจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

สำหรับภูมิภาคใกล้ประเทศไทย ยังมีรอยเลื่อนขนาดใหญ่ 3 แห่งที่ต้องเฝ้าระวัง คือ รอยเลื่อนสะกาย รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ และรอยเลื่อนสุมาตรา ซึ่งยังคงมีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวขนาดรุนแรง และอาจส่งแรงสั่นสะเทือนมาถึงกรุงเทพมหานครได้ภายในเวลาไม่เกิน 5 นาที จึงเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง