รีเซต

เปิดใจ‘นฤมล ภิญโญสินวัฒน์’ ภารกิจยกระดับแรงงานไทย

เปิดใจ‘นฤมล ภิญโญสินวัฒน์’ ภารกิจยกระดับแรงงานไทย
มติชน
26 ตุลาคม 2563 ( 13:02 )
230
เปิดใจ‘นฤมล ภิญโญสินวัฒน์’ ภารกิจยกระดับแรงงานไทย

หมายเหตุนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน ให้สัมภาษณ์ “มติชน” ถึงภารกิจยกระดับแรงงานไทย ตามแนวทาง “สร้าง-ยก-ให้” และการผลักดันให้เป็นกระทรวงเศรษฐกิจ

 

กระทรวงแรงงานไม่มีรัฐมนตรีช่วยว่าการมานาน

หลายคนสงสัยว่าเหตุใดนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งตำแหน่งนี้ เพราะท่านเห็นว่ากระทรวงนี้มีความสำคัญยิ่งในช่วงวิกฤตโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 เนื่องจากจะมีคนว่างงานจำนวนมาก โจทย์คือทำอย่างไรให้เขาอยู่รอดได้ จะต้องทำเรื่องพัฒนาทักษะฝีมือ ให้มีอาชีพอิสระ เพราะเป็นมนุษย์เงินเดือนมานาน อาจไม่มีทักษะในการทำอาชีพอิสระ นายกฯเห็นว่ากระทรวงแรงงานจำเป็นต้องขยับมาเป็นกระทรวงเศรษฐกิจ เป็นกลไกในการสร้างทักษะฝีมือแรงงานให้คนอยู่รอดได้หลังโควิด-19 จึงมอบหมายให้มาช่วยดูแล และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานไว้วางใจให้ดูแลกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน นอกจากนี้ ได้รับมอบหมายให้ดูแลสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน) หรือ สสปท. องค์การมหาชนขนาดเล็ก ก่อตั้งมาประมาณ 3-4 ปี มีบุคลากรประมาณ 40 คน มีแผนงานต้องพัฒนาขยายต่อยอด และหาความร่วมมือกับภาคเอกชนอีกมาก

 

ได้กลับไปทำการบ้านหรือไม่ว่าจะต้องทำอย่างไรบ้าง

คิดกันมาก่อนเข้ารับตำแหน่ง มีทั้งที่ปรึกษาด้านวิชาการ ด้านปฏิบัติการ ด้านยุทธศาสตร์ ช่วยกันระดมสมองตกผลึกว่า ต้องเดินไปในแนวทาง “สร้าง ยก ให้” 1.สร้างแรงงานคุณภาพ รองรับตลาดแรงงานใหม่ เช่น เทคโนโลยีสมัยใหม่ เศรษฐกิจดิจิทัล ต้องมีทักษะใหม่ๆ กรมพัฒนาฝีมือแรงงานต้องแสวงหาความร่วมมือ และพัฒนาหลักสูตรเพิ่มเติม รวมไปถึงผลิตคนเพื่อเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และขยายไปยังพื้นที่ทางเหนือ (เอ็นอีซี) อีสานและใต้ ดังนั้น จึงไม่ใช่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพียงอย่างเดียว จะต้องพัฒนาแรงงานด้วย และต้องทำต่อเนื่อง 2.ยกระดับมาตรฐานฝีมือแรงงาน เดิมมีมาตรฐานค่าตอบแทนตามลักษณะอาชีพ ตามฝีมือแรงงาน อาจยังไม่ค่อยได้บังคับใช้ เพราะจะต้องมากับการพัฒนา และทดสอบฝีมือแรงงาน เพื่อให้ได้ค่าตอบแทนสูงขึ้น เราต้องยกระดับมาตรฐานฝีมือแรงงานตรงนี้อย่างจริงจัง ต้องมีแผนงานออกมาต่อเนื่อง ส่วนใหญ่ร่วมกับภาคเอกชน เพราะตามเป้าหมายการพัฒนาทักษะเหล่านี้ แต่ละปีกรมทำได้ 1.2 แสนคน แต่เป้าหมายต้อง 3.8 ล้านคน ต้องมาจากความร่วมมือกับภาคเอกชน เขาพัฒนาฝีมือแรงงานของเขาเอง และส่งเสริมให้มาทดสอบฝีมือแรงงานและจ่ายค่าจ้างเพิ่มขึ้น 3.ให้โอกาส เพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย

 

เพราะตัวเองก็เป็นคนที่ได้โอกาสมาก่อน เมื่อก่อนเป็นคนยากจน ครอบครัวไม่ได้ร่ำรวย แต่ว่าได้ทุนจากรัฐบาล เป็นทุน ก.พ. ทำให้ชีวิตเปลี่ยน การศึกษาดีขึ้น ได้โอกาสเป็นครูบาอาจารย์ กลับมาทำงานเพื่อประชาชน ตอนไปเรียน เอาเงินใครไปเรียน ก็ระลึกอยู่เสมอว่าเป็นภาษีประชาชน เป็นส่วนหนึ่งทำให้ตัดสินใจกลับมาทำงานการเมือง เพราะอยากจะให้คนอื่นได้รับโอกาสบ้าง ดังนั้น จึงอยู่ในนโยบายข้อที่ 3 คือการให้แรงงานกลุ่มเปราะบางเข้าไม่ถึงสิทธิ สวัสดิการ แหล่งเงินทุน ให้โอกาสพัฒนาทักษะแรงงาน และเป็นนโยบายของกระทรวงแรงงาน คือ สร้าง ยก ให้ รวมไทยสร้างชาติ หลังจากนี้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานจะสร้างฐานข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อขับเคลื่อนงานอย่างจริงจัง

 

จะพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานอย่างไร

เน้นสร้างทักษะสามารถประกอบอาชีพอิสระได้ อยู่ได้ด้วยรายได้ที่เหมาะสม เช่น เคยเป็นนักบัญชี ก็มาขายของ จะต้องมีทักษะการขายของออนไลน์ ส่วนทักษะฝีมือที่ยังมีนายจ้างอยู่ กรมการจัดหางานก็มีแผนงานอยู่ เช่น การส่งออกแรงงานไปต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศมีข้อตกลงกับต่างประเทศต้องการแรงงานทักษะสูง

 

สมัยเป็นโฆษกรัฐบาล มีผู้นำหลายประเทศมักพูดถึงแรงงานไทยว่า หลังพ้นโควิด-19 แล้ว ขอให้ประเทศไทยส่งแรงงานไปบ้านเขาให้มากขึ้น เป็นเหตุผลที่นายกฯบอกว่ากระทรวงแรงงานต้องทำเป็นกระทรวงเศรษฐกิจ กลุ่มแรงงานที่เขาต้องการมากที่สุดคือ บุคลากรทางการแพทย์ เพราะเรามีชื่อเสียงโด่งดังจากช่วงโควิด-19 และแรงงานทักษะสูงภาคอุตสาหกรรม ดังนั้น การจะส่งแรงงานไป ต้องพัฒนาทักษะหลายด้าน ไม่ใช่แค่ฝีมือ แต่ต้องสื่อสารกับเขาได้ด้วย นายกฯสั่งการกระทรวงแรงงานมาตั้งแต่ยังไม่ปรับ ครม.ว่าให้เตรียมพร้อมพัฒนาแรงงานและลงทะเบียนรอไว้ เมื่อเปิดประเทศ ทุกประเทศให้เดินทางไปได้ ก็ให้ส่งแรงงานไปทันที

 

ในการบริหารงานมีข้อจำกัดอะไรหรือไม่

มีข้อจำกัดด้านงบประมาณ หากเราพัฒนาเอง อบรมเอง จากงบได้ปีละ 2-3 หมื่นคน แต่ในส่วน 3.8 ล้านคน ปีที่ผ่านมา เพราะความร่วมมือจากภาคเอกชน มีหลายหลักสูตรเอกชนเสียค่าใช้จ่ายให้ เข้ามาร่วมมือกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เป็นลักษณะของ ซีเอสอาร์ เขาต้องการถ่ายทอดความรู้นี้ให้กับชุมชนที่เข้าไม่ถึง ให้ได้รับการพัฒนาทักษะนี้ ปีหน้าจะเป็นตัวเลขสูงขึ้น แต่ขึ้นอยู่กับงบประมาณปี 2564 กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ถูกทอนลงเหลือ 1,700 ล้านบาท เป็นค่าบุคลากรไปแล้วเกือบ 1,000 ล้านบาท อีกส่วนที่รออยู่คือ คณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้ กำลังพิจารณาในส่วนที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เสนอไปในการพัฒนาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อีกประมาณ 2 แสนคน ประมาณ 4,100 ล้านบาท หากได้ตรงนี้มา จะมีเม็ดเงินไปทำได้เยอะขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่า ถ้าเราไม่มีเม็ดเงินตรงนี้แล้วจะไม่ทำ จะแสวงหาความร่วมมือทุกวัน เช่น พูดคุยไปแล้ว บริษัท หัวเว่ย ธนาคารออมสิน และอีกหลายที่

 

มีการตั้งเป้าหรือระยะเวลาในการดำเนินนโยบาย ‘สร้าง ยก ให้’ หรือไม่

คาดว่า 6 เดือน จะเห็นความเปลี่ยนแปลง โฉมหน้าของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ในแง่ของการให้บริการทันสมัยขึ้น มีโครงสร้างพื้นฐานรองรับ มีหลักสูตรยกระดับการใช้ดิจิทัล อีโคโนมี เข้ามามากขึ้น และอีก 1 ปี คงมีผลลัพธ์ชัดเจนมากขึ้น ถ้าถามว่าตั้งเป้าตัวเลขเท่าไร อย่างไร วันนี้ยังไม่ได้กำหนด ขอเวลา แล้วจะมาบอกอีกทีว่าตัวเลขทำได้คือเท่าไร แต่ที่ตั้งใจคืออยากจะเข้าไปรับรู้ รับฟังจากกลุ่มที่ควรมีส่วนร่วมกับการพัฒนาฝีมือแรงงานมากขึ้น โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมว่าเราจะช่วยเขาได้อย่างไร เขาจะช่วยเราได้อย่างไรในการผ่านวิกฤตนี้ อย่างที่นายกฯบอกว่าจะต้องรวมไทย สร้างชาติ เราจะมานั่งรออย่างเดียวคงไม่ไหว ก็ต้องคุยกับภาคเอกชน

 

และอีกกลุ่มที่ต้องรู้คือ กลุ่มอาชีพอิสระ คนขับแท็กซี่ คนขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ผู้ค้าแผงลอย เขาไม่ได้เป็นแรงงานในระบบ ไม่มีประกันสังคม เว้นแต่ว่าเขาสมัครเป็นผู้ประกันตน มาตรา 40 ส่วนใหญ่ไม่ได้สมัคร แต่เขาคือบุคลากรที่สำคัญที่อยู่ในวัยแรงงานของประเทศไทยที่เราจะเอื้อมมือไปถึงเขา จะช่วยพัฒนาทักษะแรงงานด้านต่างๆ ให้เขาได้อย่างไร

 

เมื่อปี 2558 เข้ามาเป็นทีมที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์ สมัยของ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ตอนนั้นเห็นแล้วว่ากระทรวงนี้ต้องเป็นกระทรวงเศรษฐกิจ คนชอบเรียกว่า จับกัง คือคิดจะดูแลแรงงานระดับล่างเท่านั้น แต่จริงๆ ต้องดูแลแรงงานทุกระดับ และมีความคิดว่ากระทรวงนี้จะต้องเป็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เป็นเอชอาร์ดี (Human Resource Department) ของประเทศ บางประเทศก็ใช้ชื่อนี้ ไม่ใช่ เลเบอร์ (Labor) อย่างเดียว

 

มีข่าวว่าไม่ค่อยลงรอยกับรัฐมนตรีว่าการ

ไม่มี เรามาจากพรรคเดียวกัน ไม่มีปัญหา จะให้ช่วยตรงไหนก็พร้อมเต็มที่ สนับสนุนทุกด้าน อาจจะไม่ได้คุยกันทุกวัน แต่มีแลกเปลี่ยนข้อมูลกันบ้าง ทำงานเสริมกัน มีเป้าหมายเดียวกันตามนโยบายรัฐบาล และพรรคพลังประชารัฐคือ ทำอย่างไรให้ประชาชนอยู่ดี กินดี และในวันเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณต่อหน้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงรับสั่งให้ช่วยกันทำให้ประชาชนมีความสุข ให้มีกำลังใจ มีพลัง ทำสิ่งถูกต้องให้ประชาชนมีความสุข ให้เอาประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ทำงานเพื่อบ้านเมือง ไม่ใช่แข่งกัน หรือต้องเปรียบกัน

 

นายกฯ และรองนายกฯ กำชับอะไรเป็นพิเศษหรือไม่

ไม่มี แต่มีเรื่องที่ได้เรียนท่านไปว่าต้องยกระดับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน นายกฯจะบอกเสมอว่าทำให้เกิดการจ้างงานในชุมชนให้เยอะๆ ท่านกำชับตลอดว่า ให้เริ่มจากภาครัฐก่อน ถ้าเราสามารถจ้างคนในชุมชนได้ เช่น หากแก้ปัญหาภัยแล้ง หรืออุทกภัย กระทรวงมหาดไทยจ้างงานคนในชุมชนก่อนได้หรือไม่ ท่านอยากให้เกิดการจ้างงานภายในประเทศให้เยอะ กระทรวงแรงงานมีแรงงานทั้งในและนอกระบบ รวมแล้ว 16-17 ล้านคน ท่านอยากให้เราดูแลอย่างทั่วถึง ข้อดีของกระทรวงแรงงานคือ มีตัวแทนกระทรวงอยู่ทุกจังหวัด เมื่อลงพื้นที่ไปแล้วสามารถขับเคลื่อนงานในพื้นที่ได้ทุกมิติ และมีประสิทธิภาพ

 

เป็นผู้หญิงมีข้อจำกัดในการทำงานหรือไม่

สิ่งนี้เป็นหัวใจที่อยากขับเคลื่อน เข้าไปช่วยเหลือ จะมีการดูแลเครือข่ายสตรีในด้านสิทธิ สวัสดิการทั้งหลาย จะแตกต่างจากผู้ชาย จึงต้องเข้าไปดูว่า แรงงานสตรีควรได้รับความคุ้มครองแบบใด อย่างไรบ้าง และจะต้องมีเวทีรับฟังจากเครือข่าย เราคิดแทนเขาทั้งหมดไม่ได้

 

ทุกบริษัทจะมีแผนกเอชอาร์ แผนกทรัพยากรบุคคล แผนกพัฒนาทรัพยากรบุคคล เป็นหัวใจสำคัญ บางแห่งมองว่าทรัพยากรมนุษย์เป็นสินทรัพย์ แต่ในทางบัญชีถูกตัดเป็นค่าใช้จ่าย แต่จริงๆ แล้ว เขาคือกลุ่มที่มีมูลค่ากับองค์กรมาก ที่ผ่านมาหลาย 10 ปี กระทรวงแรงงานถูกมองว่าดูแลเฉพาะการทำให้คนมีงานทำแค่นั้น แต่จริงๆ บทบาทของกระทรวงมีมากกว่านั้น ณ วันนี้เกิดโควิด-19 กระทรวงต้องบูรณาการกับกระทรวงอื่นๆ เช่น กระทรวงศึกษาธิการ ต้องดูว่าผลิตคนมาแล้วมีทักษะตรงกับตลาดแรงงานหรือไม่ ตรงกับความต้องการของนายจ้างหรือไม่ ต้องมีความร่วมมือกับภาคเอกชนว่าเขาต้องการแรงงานแบบใด

 

ดังนั้น ต้องเปลี่ยนแปลงบทบาทของกระทรวงแรงงาน ให้เป็นกระทรวงพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ คือ สร้างทรัพยากรมนุษย์ เพื่อเตรียมความพร้อมของประเทศ มองไปข้างหน้าว่าจะต้องมีทักษะใหม่ สำหรับเศรษฐกิจใหม่ แทนที่จะไปรอกระทรวงศึกษาฯปรับหลักสูตร ต้องไปเชื่อมให้เกิดเป็นการพัฒนานั้นขึ้น เป็นความฝัน แต่ยังไม่ได้หารือรัฐมนตรีว่าการ

 

ต้องเปลี่ยนชื่อกระทรวงหรือไม่

ต้องหารือกันก่อน จริงๆ เรื่องชื่อไม่ได้สำคัญ ขึ้นอยู่กับภารกิจมากกว่า ต่อให้เป็นชื่อเดิม แต่เข้าใจตรงกันว่า ภารกิจของเราไม่ใช่แค่เรื่องสวัสดิการ แต่เป็นการพัฒนาคน ตอนนี้เป็นรูปเป็นร่าง กรมพัฒนาฝีมือแรงงานมีบทบาทมาก และจะยิ่งมากขึ้นหลังโควิด-19 และในฐานที่เคยอยู่ในกระทรวงการคลังมาก่อน และทำงานในภาคเอกชนก็จะดึงความร่วมมือเหล่านี้มาที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงานด้วย เพื่อให้ทำงานตอบโจทย์การเป็นกระทรวงเศรษฐกิจมากขึ้น เท่าที่จะทำได้ นั่นคือความตั้งใจ เราจะยกระดับเขา อย่างในประเทศสิงคโปร์ ใช้ชื่อ กระทรวง แมน เพาเวอร์ (Man Power) เป็นพลังมนุษย์

 

เรื่องที่ได้รับมอบหมายให้ดูแล 2 จังหวัด

ไม่ได้เลือกเอง ท่านจัดให้ เข้าใจว่าเป็นรองนายกฯ (นายวิษณุ เครืองาม) เป็นผู้จัดสรรพื้นที่ให้รัฐมนตรีทั้ง 29 คน ในการดูแลจังหวัดต่างๆ หากสังเกตจะพบว่า บางคนเป็นเจ้าของพื้นที่ เป็น ส.ส.ในเขตของจังหวัดนั้น ก็ได้ดูแลจังหวัดนั้น แต่เนื่องจากเราเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อมาก่อน จึงเป็นอิสระในการจัดสรร ตอนแรกท่านจะให้ดูแล พระนครศรีอยุธยา และอ่างทอง แต่สุดท้ายเปลี่ยนเป็นแพร่และน่าน ไม่ได้ขัดข้องอะไร ก็กลายเป็นสาวเหนือ ไปทำให้คนในพื้นที่อยู่ดีกินดี แต่จริงๆ แล้วเป็นคนกรุงเทพฯ เป็นเด็กตรอกจันทน์ โดยกำเนิด

 

ใน 2 จังหวัดที่ได้รับมอบหมายต้องพัฒนาด้านใด

เข้าไปรับฟังอุปสรรค และกลับมาช่วยแก้ไขให้เขา เป็นที่ปรึกษา ให้คำแนะนำ ทำให้การทำงานของเขาขับเคลื่อนไปได้ ทั้ง 2 จังหวัด มีเรื่องหลักๆ คือ การบริหารจัดการน้ำ หากเป็นวงเงินไม่สูง เราจะประสานไปกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และกรมที่เกี่ยวข้องกับน้ำ และที่ จ.น่าน จะขยายสนามบินรองรับสายการบินมากขึ้นในอนาคต และรวมถึงพื้นที่ทำกินด้วย ส่วนที่แพร่ มีผู้สูงอายุร้อยละ 22 ของจำนวนประชากร 4 แสนคน ก็จะมี 2 มิติคือ หากเขาสามารถทำงานได้ หารายได้ได้ มิติของกระทรวงแรงงานจะเข้าไปช่วย หากเป็นผู้สูงอายุมาก จะมีใครดูแล จึงมีข้อเสนอในภาคธุรกิจ เช่น การมีบ้านพักผู้สูงอายุ จึงเกิดอาชีพนักบริบาล ดูแลผู้สูงอายุ และกรมพัฒนาฝีมือแรงงานต้องเข้าไปดูแล พัฒนาทักษะให้มีนักบริบาลเพิ่มขึ้น จะทำให้ประเทศไทยมีคนจนลดลง เพราะเราเคยจน และรู้ว่าลำบาก

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง