"ทัวร์เที่ยวไทย" เช็กเงื่อนไขรัฐช่วยจ่ายค่าเที่ยว 5,000 บาท 1 ล้านสิทธิ
จากรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงการ "ทัวร์เที่ยวไทย" ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) โดยรัฐบาลสนับสนุนค่าเดินทางของประชาชนในลักษณะร่วมจ่าย (Co-pay) ร้อยละ 40 ของค่าใช้จ่ายแพ็กเกจนำเที่ยว แต่ไม่เกิน 5,000 บาท โดยต้องเป็นการเดินทางท่องเที่ยวข้ามจังหวัดในวันธรรมดา (วันอาทิตย์-วันพฤหัสบดี) ไม่ต่ำกว่า 3 วัน 2 คืน ไม่มีการกำหนดราคาขั้นต่ำ รวม 1,000,000 สิทธิ วงเงินงบประมาณ 5,000 ล้านบาท ตั้งแต่ พฤษภาคม-สิงหาคม 2564
ล่าสุด วันนี้ (26 มี.ค.64) เพจเฟซบุ๊ก "ไทยคู่ฟ้า" ของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เปิดเงื่อนไขโครงการ “ทัวร์เที่ยวไทย” เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวครึ่งปีหลัง โดยระบุว่า ไม่เพียงแค่โครงการเราเที่ยวด้วยกันเฟส 3 ที่ ครม.เห็นชอบให้ดำเนินโครงการฯ ต่อ แต่ยังมีโครงการใหม่อย่าง "ทัวร์เที่ยวไทย" ที่เพิ่มเติมเข้ามาเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายภาคประชาชนผ่านการท่องเที่ยวภายในประเทศ ช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง
สำหรับรายละเอียดเงื่อนไข ทัวร์เที่ยวไทย มีอะไรบ้างไปดูกัน
• กำหนดจำนวนผู้ได้รับสิทธิทั้งสิ้น 1,000,000 สิทธิ
• ระยะเวลาร่วมโครงการ ตั้งแต่เดือนพ.ค. – ส.ค. 64
• ผู้ใช้สิทธิเข้าร่วมโครงการ ได้แก่ คนไทยที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป โดยนักท่องเที่ยว 1 คนสามารถใช้สิทธิได้ 1 สิทธิ
• รัฐบาลสนับสนุนค่าเดินทางในลักษณะร่วมจ่าย (Co-pay) 40% ของค่าใช้จ่ายแพ็กเกจนำเที่ยว แต่ไม่เกิน 5,000 บาทต่อคน
• ผู้รับสิทธิจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีได้รับเงินสนับสนุนจากภาครัฐ
• ผู้ใช้สิทธิต้องเดินทางท่องเที่ยวข้ามจังหวัด ผ่านบริษัททัวร์ที่ร่วมโครงการในวันธรรมดา (วันอาทิตย์ - วันพฤหัสบดี) ไม่ต่ำกว่า 3 วัน 2 คืน
• สามารถเข้าเลือกโปรแกรมท่องเที่ยวได้ที่เว็บไซต์ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หลังจากที่เลือกโปรแกรมท่องเที่ยวเสร็จเรียบร้อยให้ติดต่อบริษัททัวร์ เพื่อชำระเงินผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ซึ่งบริษัททัวร์ก็จะต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชันถุงเงินด้วย
• สำหรับ ผู้ประกอบการที่ร่วมโครงการ ต้องเป็นบริษัทที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย และผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติโดยกรมการท่องเที่ยว ก่อนวันที่ 1 ม.ค. 63 โดยบริษัททัวร์ 1 แห่ง รับนักท่องเที่ยวได้ไม่เกิน 1,000 ราย
คาดว่า โครงการ “ทัวร์เที่ยวไทย” จะเป็นส่วนช่วยส่งเสริมและฟื้นฟูธุรกิจภาคการท่องเที่ยว ตลอดจนสร้างงาน สร้างรายได้ เสริมสภาพคล่อง กระตุ้นการบริโภคภาคประชาชนผ่านการเดินทางภายในประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาธุรกิจท่องเที่ยวช่วยสร้างรายได้หลักของประเทศสูงถึง 17% ของ GDP