รู้จัก ต้นตีนเป็ดหรือพญาสัตบรรณ ทำไมมีกลิ่นฉุน ช่วงฤดูหนาว อันตรายไหม
เหม็นดอกตีนเป็ด ทุกช่วงหน้าหนาว หลายคนคงเคยเจอประสบการณ์แบบนี้ เมื่อต้นตีนเป็ดหรือพญาสัตบรรณ เริ่มออกดอก จะส่งกลิ่นฉุนทั่วบริเวณจนปวดหัว วันนี้ TrueID มีคำตอบมาให้แล้วว่า ดอกตีนเป็ดทำไมถึงเหม็น และเป็นพิษต่อร่างกายไหม
ต้นตีนเป็ดหรือพญาสัตบรรณ
ต้นตีนเป็ดหรือพญาสัตบรรณ อยู่ในวงศ์ Apocynaceae มีถิ่นดั้งเดิมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และพบได้ทุกภาคในประเทศไทย และเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดสมุทรสาคร เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่มีความสูงประมาณ 12–20 เมตร ลำต้นตรง เปลือกต้นหนาเปราะ ผิวต้นเมื่อกรีดจะมียางสีขาว ดอกขาวอมเหลืองหรือเขียวอ่อน เป็นช่อตามปลายกิ่ง โดยดอกจะออกช่วงฤดูหนาว ส่งกลิ่นฉุน ส่วนลักษณะใบเดี่ยว มีใบเป็นวงรอบกิ่ง 7 ใบ มนโคนแหลม เรียงกันคล้ายตีนเป็ด ทำให้ชื่อว่าต้นตีนเป็ด
พญาสัตบรรณเป็นพืชที่มีฤทธิ์ทางอัลลีโลพาธี (Allelopathy) คือ สารสกัดสามารถช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของต้นคะน้า ข้าวโพด ข้าว ถั่วเขียวผิวดำ ถั่วเขียวผิวมัน และคะน้าได้ มีสรรพคุณทางยาสมุนไพรมากมายรวมทั้งใช้ใบพอกเพื่อดับพิษต่าง ๆ ได้ (ไม่มีรายงานถึงพิษอันตรายต่อมนุษย์)
ต้นตีนเป็ดส่งกลิ่นตอนไหน
ต้นตีนเป็ด ออกดอกมีกลิ่นฉุนรุนแรง สูดดมเพียงเล็กน้อยจะรู้สึกกลิ่นหอม หากสูดดมมากจะรู้สึกวิงเวียนศีรษะ และช่วงค่ำจะส่งกลิ่นแรงกว่าเวลาอื่น ๆ ปกติจะออกดอกในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม
ดอกตีนเป็ดทำไมถึงเหม็น
เพจเคมีฟิสิกส์ของสิ่งทอ อาหาร และของรอบตัว ได้ระบุไว้ว่า ดอกตีนเป็ดมีความเข้มข้นของน้ำมันหอมระเหยหลายชนิด โดยที่สารให้กลิ่นหลักนั้นจะเป็นสารประกอบกลุ่มลินาโลออล (linalool) 37.5% สารนี้สามารถกระตุ้นระบบประสาทในสมองให้ทำงานหนักยิ่งขึ้น และส่งผลทำให้เกิดอาการปวดหัว นอกจากนี้ยังมีสารอื่นๆอย่างน้อยถึง 34 ชนิด เมื่อรวมกันในปริมาณที่สูงขึ้น ยิ่งทำให้เกิดกลิ่นรุนแรง
ต้นตีนเป็ดหรือพญาสัตบรรณ มีพิษไหม
รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาชี้แจงประเด็นดังกล่าวลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว ชี้ ต้นตีนเป็ด ไม่ได้ปล่อยสารพิษไซยาไนด์ แค่กลิ่นเหม็นเท่านั้น โดยเจ้าตัวได้ระบุข้อความว่า
"เรื่องนี้เคยโพสต์เตือนกันทุกปี ในช่วงฤดูที่ต้นตีนเป็ดออกดอก และส่งกลิ่นแรง ว่าเป็นข่าวปลอมข่าวมั่วที่แชร์กันมานานแล้ว แต่วันนี้มีรายงานข่าวในสื่อ อ้างถึงแพทย์แผนไทยท่านหนึ่ง ที่บอกว่า "ดอกที่ส่งกลิ่นแรงๆ เป็นกลิ่นของ "ไซยาไนด์" มีผลต่อระบบหัวใจโดยตรง และการหมุนเวียนของเลือดด้วย หากสูดดมนานๆ เกิดอาการเวียนศีรษะ หน้ามืด บริเวณท้ายทอยจะมีอาการตึง อาจจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ระบบหัวใจอาจล้มเหลวได้
ซึ่งก็ต้องขอแย้งอีกครั้งว่าเป็นแค่ข่าวปลอมที่แชร์กันผิดๆ ครับ เรื่องมั่วๆ เกี่ยวกับ "ต้นพญาสัตบรรณ" หรือ "ต้นตีนเป็ด" กลับมาแชร์กันอีกแล้วครับ โดยหาว่าเป็นต้นไม้พิษ ที่กลางคืนจะปล่อยพิษ "พวกไซยาไนด์" ออกมา โดยเฉพาะในช่วงฤดูออกดอก ไม่จริงนะครับ มันเป็นแค่ต้นไม้ที่ดอกส่งกลิ่นแรง ซึ่งบางคนก็ว่าเหม็น บางคนก็ว่าหอม
รายการ "ชัวร์ก่อนแชร์" ของช่อง 9 อสมท. สำนักข่าวไทย ก็เคยทำรายงานตอนนี้เอาไว้เช่นกันครับ https://youtu.be/uxkt48kFCQc ซึ่งผู้เชี่ยวชาญที่รายการไปสัมภาษณ์ ก็ระบุชัดเจนว่า กลิ่นของต้นพญาสัตบรรณหรือต้นตีนเป็ดนั้น ไม่ได้มีสารพิษไซยาไนด์อย่างที่ว่า เป็นเรื่องไม่จริง ไม่ควรแชร์ต่อ
ข้อมูล วิกิพีเดีย , เพจเฟซบุ๊ก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ , เพจเฟซบุ๊ก เคมีฟิสิกส์ของสิ่งทอ อาหาร และของรอบตัว
--------------------
เกาะติดสถานการณ์โควิด-19 ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก
ทุกประเด็นร้อนข่าวสาร สาระ ทันเหตุการณ์ พูดคุยกันได้ 24 ชม.
คลิกเลย >>> TrueID Community <<<