รีเซต

“พะเยา” น้ำป่าคร่า 5 ชีวิต กำชับ 9 จังหวัดเสี่ยงเฝ้าระวังเข้ม

“พะเยา” น้ำป่าคร่า 5 ชีวิต กำชับ 9 จังหวัดเสี่ยงเฝ้าระวังเข้ม
TNN ช่อง16
16 ตุลาคม 2566 ( 13:23 )
84
“พะเยา” น้ำป่าคร่า 5 ชีวิต กำชับ 9 จังหวัดเสี่ยงเฝ้าระวังเข้ม

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผย ยังมีสถานการณ์อุทกภัยใน 8 ลุ่มน้ำ 12 จังหวัด ห่วง “กาฬสินธุ์-อุบลราชธานี” ระดับน้ำยังเพิ่มขึ้น ขณะที่พะเยาเกิดน้ำป่าไหลหลาก ดินสไลด์ เสียชีวิต 5 ราย กำชับ 9 จังหวัดเสี่ยงติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด


รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผย ยังมีสถานการณ์อุทกภัยใน 8 ลุ่มน้ำ 12 จังหวัด ห่วง “กาฬสินธุ์-อุบลราชธานี” ระดับน้ำยังเพิ่มขึ้น ขณะที่พะเยาเกิดน้ำป่าไหลหลาก ดินสไลด์ เสียชีวิต 5 ราย กำชับ 9 จังหวัดเสี่ยงติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด ส่วนจังหวัดน้ำลดให้สำรวจความเสียหาย เฝ้าระวังโรคจากน้ำท่วมและผลกระทบทางจิตใจประชาชน


วันนี้ (16 ตุลาคม 2566) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กองสาธารณสุขฉุกเฉิน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้รายงานสถานการณ์ด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน - 16 ตุลาคม 2566 ยังมีสถานการณ์ใน 8 ลุ่มน้ำ รวม 12 จังหวัด ได้แก่ ลุ่มน้ำป่าสัก เพชรบูรณ์, ลุ่มน้ำน่าน พิษณุโลก, ลุ่มน้ำชี ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์, ลุ่มน้ำมูล อุบลราชธานี, ลุ่มน้ำบางปะกง ฉะเชิงเทรา, ลุ่มน้ำเจ้าพระยา พระนครศรีอยุธยา นครปฐม อ่างทอง ลุ่มน้ำยม พะเยา สุโขทัย และภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนบน คือ นครศรีธรรมราช โดยพื้นที่ที่น่าเป็นห่วง คือ กาฬสินธุ์ และอุบลราชธานี เนื่องจากระดับน้ำยังเพิ่มขึ้น ขณะที่พะเยา เมื่อเวลา 02.00 น. ของวันที่ 15 ตุลาคมที่ผ่านมา มีฝนตกหนัก น้ำป่าไหลหลากและดินสไลด์ ในพื้นที่ ต.หนองหล่ม อ.ดอกคำใต้ และ ต.สระ อ.เชียงม่วน ทำให้มีประชาชนเสียชีวิต 5 ราย ได้ส่งทีม MCATT ในพื้นที่ติดตามเยียวยาจิตใจญาติผู้เสียชีวิตอย่างใกล้ชิดแล้ว โดยภาพรวมมีผู้เสียชีวิตสะสม 23 ราย ผู้บาดเจ็บ 33 ราย มีการตั้งจุดอพยพรวม 35 แห่ง


นพ.ชลน่านกล่าวต่อว่า สำหรับสถานบริการสาธารณสุข พบว่าได้รับผลกระทบรวม 27 แห่ง แบ่งเป็น สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ 1 แห่ง โรงพยาบาล 2 แห่ง รพ.สต. 23 แห่ง และหน่วยริการปฐมภูมิ (PCU) อีก 1 แห่ง สามารถเปิดให้บริการได้ปกติ 26 แห่ง ยังต้องปิดบริการ 1 แห่ง คือ รพ.สต.บ้านดอนยานาง จ.กาฬสินธุ์ อย่างไรก็ตาม สถานบริการยังจัดทีมแพทย์และสาธารณสุขดูแลประชาชนและผู้ป่วยในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง จำนวน 118 ทีม ให้บริการเยี่ยมบ้าน 6,082 ราย รับยา 8,579 ราย ให้สุขศึกษา 6,499 ราย ตรวจรักษา 1,609 ราย และส่งรักษาต่อ 1 ราย โดย 5 โรคที่พบมากที่สุด ได้แก่ น้ำกัดเท้า 4,277 ราย ระบบผิวหนัง เช่น แพ้ ผื่นคัน 1,600 ราย ระบบทางเดินหายใจ 865 ราย ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ 505 ราย และระบบทางเดินอาหาร 280 ราย ส่วนการให้บริการด้านสุขภาพจิตสะสม 4,211 ราย พบมีความเครียดและได้รับการดูแล 458 ราย


ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้สนับสนุนยาและเวชภัณฑ์จากส่วนกลาง เป็นยาชุดช่วยเหลือผู้ประสบภัย 8 รายการ จำนวน 12,480 ชุด ขณะที่สำนักงานป้องกันและควบคุมโรค สนับสนุนยาสามัญประจำบ้าน 1,634 ชุด รองเท้าบูท 1,038 คู่ ชุดเวชภัณฑ์ผู้ประสบภัย 825 ชุด และยากันยุง 1,000 ชุด พร้อมกันนี้ ได้กำชับให้จังหวัดเสี่ยงติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ต่อเนื่อง ทั้งพื้นที่เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขังระยะสั้น รวมถึงพื้นที่เฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วมขัง โดยจังหวัดที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดมี 9 จังหวัด คือ อุบลราชธานี กาฬสินธุ์ เพชรบูรณ์ ลพบุรี พิษณุโลก อุตรดิตถ์ พิจิตร นครสวรรค์ และพระนครศรีอยุธยา ส่วนพื้นที่ที่ระดับน้ำเริ่มลดแล้ว ให้เร่งสำรวจประเมินความเสียหายของสถานพยาบาล เฝ้าระวังโรคและภัยสุขภาพจากน้ำท่วมขัง เช่น อุจจาระร่วง โรคฉี่หนู โรคน้ำกัดเท้า โรคผิวหนังจากเชื้อรา เป็นต้น และเฝ้าระวังฟื้นฟูสภาพจิตใจของผู้ได้รับผลกระทบ เช่น โรคเครียดหลังเผชิญเหตุการณ์รุนแรง (PTSD) ภาวะเครียด วิตกกังวล ซึมเศร้า เป็นต้น

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง