ม็อบหนุนกองทัพเมียนมา “พกอาวุธ” บุกโจมตี-ทำร้ายมวลชนต้านเผด็จการ
ม็อบหนุนกองทัพเมียนมา - วันที่ 25 ก.พ. เอเอฟพี รายงานสถานการณ์ความไม่สงบที่ยังยืดเยื้อในประเทศพม่าหรือเมียนมา หลังกองทัพภายใต้การนำของพล.อ.อาวุโสมิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนของนางออง ซาน ซู จี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมาว่า มวลชนจำนวนมากรวมตัวชุมนุมทั่วประเทศต่อเนื่องเป็นวันที่ยี่สิบ ทั้งในกรุงเนปยีดอว์ นครย่างกุ้ง และเมืองมัณฑะเลย์
ขณะเดียวกันเกิดการปะทะระหว่างกลุ่มผู้สนับสนุนกองทัพเมียนมาและกลุ่มผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในนครย่างกุ้ง ซึ่งช่างภาพเอเอฟพีบันทึกช่วงเวลาชุลมุนไว้ได้ เผยให้เห็นกลุ่มหนุนกองทัพหลายคนถืออาวุธ ทั้งมีด และไม้ยิงหนังยาง บางคนขว้างปาสิ่งของใส่ผู้ชุมนุม บางคนถึงขั้นทำร้ายร่างกายและยืนล้อมผู้ประท้วงที่ถูกลากไปทุบตี
ด้านเฟซบุ๊ก โซเชี่ยลมีเดียยักษ์ใหญ่ของโลก แถลงแบนบัญชีเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมที่เกี่ยวข้องกับกองทัพเมียนทั้งหมดบนแพลตฟอร์มของเฟซบุ๊กและเว็บไซต์ในเครือ โดยมีผลบังคับใช้ทันที นอกจากนี้ยังแบนการโฆษณาที่เชื่อมโยงกับกองทัพเมียนมาเพื่อปิดกั้นการชวนเชื่อใดๆ ก็ตามของกองทัพบนแพลตฟอร์มเฟซบุ๊ก
“การก่อรัฐประหารที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. รวมถึงการใช้ความรุนแรงอย่างยิ่งยวดมีผลจำเป็นต่อการแบนในครั้งนี้ เราเชื่อว่าความเสี่ยงจากการอนุญาตให้ตะมะดอว์ (กองทัพเมียนมา) มีพื้นที่บนเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมนั้นมากเกินไป”
วันเดียวกันองค์กรเอกชนไม่หวังผลกำไร (เอ็นจีโอ) 137 องค์กรจาก 31 ประเทศ ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสซี) เรียกร้องให้ใช้มาตรการกีดกันการค้าอาวุธกับเมียนมาอย่างพร้อมเพรียงทั่วโลก เพื่อตอบโต้การใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุมจนมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 4 ราย
“คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติควรบังคับใช้มาตรการกีดกันการค้าอาวุธกับเมียนมาเป็นการเร่งด่วน เพื่อตอบสนองต่อการก่อรัฐประหารและยับยั้งกองทัพเมียนมาจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนของชาวเมียนมาในอนาคต รัฐบาลที่อนุญาตให้มีการถ่ายโอนอาวุธไปยังเมียนมา ครอบคลุมทั้งจีน อินเดีย อิสราเอล เกาหลีเหนือ ฟิลิปปินส์ รัสเซีย และยูเครน ควรยุติการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องโดยทันที” ข้อความบางส่วนในจดหมายเปิดผนึก
ด้าน นายเคนเนธ รอธ ผู้อำนวยการฮิวแมนไรต์วอตช์ ระบุในเอกสารดังกล่าวว่า จากการสังหารหมู่ชาวโรฮิงยา อาชญากรรมสงครามที่เกิดขึ้นมานานหลายทศวรรษ และการโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
อย่างน้อยที่สุดที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติสามารถทำได้คือบังคับใช้มาตรการกีดกันการค้าอาวุธกับเมียนมา รวมทั้งบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรเฉพาะ ห้ามการเดินทางระหว่างประเทศ และอายัดทรัพย์สินของแกนนำกองทัพเมียนมา เช่นเดียวกับกลุ่มบริษัทที่อยู่ภายใต้การบริหารของกองทัพเมียนมา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: