รีเซต

ศบค.ผวาโควิดระลอก 5 รับโอมิครอนลาม 55 จว. 7 ม.ค. เล็งปรับมาตรการ

ศบค.ผวาโควิดระลอก 5 รับโอมิครอนลาม 55 จว. 7 ม.ค. เล็งปรับมาตรการ
มติชน
6 มกราคม 2565 ( 07:45 )
96

เมื่อวันที่ 6 มกราคม พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)กล่าวสถานการณ์โควิด-19 ว่าสายพันธุ์ โอมิครอนกระจายตัวไปแล้ว 55 จังหวัด จังหวัดที่มีติดเชื้อและระบาดโอมิครอน ได้แก่ กทม. กาฬสินธุ์ ชลบุรี ร้อยเอ็ด ภูเก็ต และสมุทรปราการ ผู้ติดเชื้อโอมิครอนกว่า 50% ติดเชื้อและเดินทางมาจากต่างประเทศ อีก 50% ติดเชื้อจากผู้มาจากต่างประเทศ รับเชื้อวง 2 ตอนนี้รักษาอย่างเหมาะสมแล้ว ทั้งนี้ในที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) ได้ประชุมประเมินสถานการณ์เตรียมเสนอที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) วันที่ 7 มกราคมนี้ มีเรื่องสำคัญ ได้แก่ 1.มาตรการปรับสีพื้นที่ตามสถานการณ์ จะจำกัดจำนวนคน การรวมกลุ่มกิจกรรม และการดื่มสุราในร้านอาหาร 2.การปรับมาตรการป้องกันควบคุมโรค อาทิ การเปิดสถานบันเทิง จากเดิมจะพิจารณาเปิดสถานบันเทิง เนื่องจากหลังช่วงเทศกาลปีใหม่เป็นต้นมา พบผู้ติดเชื้อในคลัสเตอร์ร้านอาหารกึ่งผับบาร์มากขึ้น ทำให้จะเป็นข้อมูลสำคัญในการตัดสินใจว่า จะเปิดสถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะหรือไม่ และ 3.การปรับมาตรการสำหรับผู้เดินทางเข้าประเทศแบบเทสต์แอนด์โก รวมถึงมาตรการเพิ่มเติมสำหรับจัดการกับสายพันธุ์โอมิครอนที่มีการระบาดอย่างรวดเร็วด้วย

 

ขณะที่ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมรับผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นหลังปีใหม่ ว่า จากการหารือร่วมกับ ดร.สันต์ ศรีอรรฆ์ธำรง อาจารย์พิเศษคณะบริหารการพัฒนาสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เกี่ยวกับสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 พบว่าขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่การระบาดระลอกที่ 5 (เวฟ 5) แล้ว ส่วนการรักษานั้นสำรวจแล้วมีเตียงรองรับวันละ 52,300 เตียงทั่วประเทศ เฉพาะกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีว่าง 25,828 เตียง หากการระบาดเป็นไปตามฉากทัศน์ที่กรมควบคุมโรค สธ.ประเมินว่าอาจมีผู้ติดเชื้อสูงสุดถึงวันละ 30,000 ราย กรมการแพทย์จะมีเตียงเพียงพอในการรักษา นอกจากนี้ คาดว่ารอบนี้จะเกิดการระบาดในเด็กมาก เพราะยังไม่ได้ฉีดวัคซีน แต่ย้ำว่าอาการไม่รุนแรง หากไม่มีโรคประจำตัว

 

ด้านองค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคยุโรปออกมาเตือนว่า จำนวนผู้ติดเชื้อโควิดกลายพันธุ์โอมิครอนที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกส่งผลให้เกิดความเสี่ยงที่จะมีไวรัสกลายพันธุ์ใหม่ๆ ที่มีความอันตรายยิ่งกว่าปรากฏขึ้นตามมา ทั้งนี้ แคเธอรีน สมอลวูด เจ้าหน้าที่อาวุโสฝ่ายสถานการณ์ฉุกเฉินขององค์การอนามัยโลก ระบุว่า การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั่วโลกอาจนำมาซึ่งผลกระทบด้านลบ ยิ่งโอมิครอนแพร่ระบาดเร็วเท่าไหร่ ยิ่งกระจายและแบ่งตัวเพิ่มขึ้นมาเท่าใด ก็มีความเป็นไปได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จะกลายเป็นไวรัสกลายพันธุ์ชนิดใหม่ด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง