รีเซต

สสจ.ขอนแก่นเผย ประชาชนรักษา 'แพ้กัญชา' ในอาหาร-เครื่องดื่มกว่า 100 คน เร่งสร้างการรับรู้

สสจ.ขอนแก่นเผย ประชาชนรักษา 'แพ้กัญชา' ในอาหาร-เครื่องดื่มกว่า 100 คน เร่งสร้างการรับรู้
มติชน
16 มิถุนายน 2565 ( 17:20 )
87
สสจ.ขอนแก่นเผย ประชาชนรักษา 'แพ้กัญชา' ในอาหาร-เครื่องดื่มกว่า 100 คน เร่งสร้างการรับรู้

16 มิถุนายน เภสัชกรเชิดชัย อริยานุชิตกุล เภสัชกรเชี่ยวชาญ (ด้านเภสัชสาธารณสุข) รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ขอนแก่น กล่าวว่า หลังจากกระทรวงสาธารณสุขได้มีการปลดล็อกพืชกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษ ประเภท 5 มีผลเมื่อวันที่ 9 มิ.ย.ที่ผ่านมา สำนักงานสาธารณสุข จ.ขอนแก่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ลงพื้นที่ให้ความรู้และรณรงค์ให้ประชาชนในพื้นที่ จ.ขอนแก่น นำพืชสมุนไพรมาใช้ประโยชน์อย่างถูกวิธีและเหมาะสม เพื่อความปลอดภัยและเพื่อสุขภาพที่ดี

 

รองนายแพทย์ สสจ.ขอนแก่นกล่าวว่า ได้เน้นย้ำเรื่องการใช้เพื่อรักษาโรค จะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของบุคลากรทางการแพทย์ และไม่ควรใช้เพื่อความบันเทิงและสันทนาการ เช่น การสูบ เพราะจะทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ และผิด พ.ร.บ.การสาธารณสุข มีโทษทั้งจำคุกและปรับ นอกจากการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ให้ความรู้กับประชาชนในแต่ละอำเภอแล้ว ยังประสานไปยังโรงพยาบาลของรัฐและเอกชน รวมทั้งโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.) ในทุกอำเภอทั้ง 26 อำเภอ พร้อมกันนี้ได้จัดทำป้ายไวนิลขนาดใหญ่ รวมทั้งป้ายประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เรื่องประโยชน์และโทษของการใช้กัญชาติดไว้ด้านหน้าโรงพยาบาลทุกแห่ง เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับประชาชน

 

“หลังจากการปลดล็อกกัญชา พบว่าใน จ.ขอนแก่น มีประชาชนเข้ารับการรักษา อาการแพ้กัญชาที่ผสมอยู่ในอาหารและเครื่องดื่มกว่า 100 ราย ทั้งหมดมีอาการไม่รุนแรงมาก มีเพียงอาการวิงเวียนศีรษะและคลื่อนไส้เท่านั้น และมีป่วยทางจิตเวชจากการใช้สารเสพติด 1 ราย มาจากการใช้กัญชาโดยการสูบ ซึ่งมีอาการกำเริบ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ส่งตัวไปรักษาเรียบร้อยแล้ว” รองนายแพทย์ สสจ.ขอนแก่นกล่าว

 

รองนายแพทย์ สสจ.ขอนแก่นกล่าวอีกว่า จำนวนผู้ลงทะเบียนจดแจ้งเพื่อปลูกกัญชาผ่าน 3 ช่องทาง คือแอพพลิเคชั่น “ปลูกกัญ”, เว็บไซต์ของ อย. และให้ สสจ.หรือ อปท.ลงทะเบียนจดแจ้งให้นั้น จากการรายงานข้อมูลเมื่อวันที่ 14 มิ.ย.ที่ผ่านมา พบว่าในพื้นที่ขอนแก่นมี จำนวน 21,432 คน แบ่งเป็น จดแจ้งเพื่อใช้ในครัวเรือน จำนวน 15,498 ราย จดแจ้งเพื่อใช้ในทางการแพทย์ เช่น แพทย์แผนไทย จำนวน 1,326 ราย จดแจ้งเพื่อใช้ในเชิงพาณิชย์ จำนวน 642 ราย และจดแจ้งเพื่อใช้ในงานวิจัย จำนวน 6 ราย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง