เปิดผลวิจัยญี่ปุ่น ชี้ฉีดเข็มกระตุ้นยังเสี่ยงแพร่เชื้อ-ป่วยโควิด
เมื่อวันที่ 20 เมษายน ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่าทีมวิจัยที่ญี่ปุ่นได้เก็บข้อมูลปริมาณไวรัสจากตัวอย่าง nasopharyngeal swab ของผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัส BA.1.1 และ BA.2 จำนวน 611 คน โดยทำการเปรียบเทียบปริมาณไวรัสในรูปแบบของ viral load และ ระดับค่า Ct ที่อ่านได้จากการตรวจด้วย RT-PCR ตัวแปรที่ทีมวิจัยใช้เปรียบเทียบในแต่ละกลุ่มตัวอย่างคือ ประวัติการได้รับวัคซีน โดยผู้ป่วยที่ไม่ได้รับวัคซีนมี 199 ตัวอย่าง กลุ่มที่ได้รับวัคซีนครบสองเข็มมี 370 ตัวอย่าง และ กลุ่มที่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นที่สาม 42 ตัวอย่าง
ทีมวิจัยพบว่า ปริมาณ Viral load และ Ct ในตัวอย่างผู้ป่วยแต่ละกลุ่มไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยค่าเฉลี่ยของปริมาณไวรัสทั้ง 2 สายพันธุ์ก็ไม่แตกต่างกันด้วย เมื่อไปดูที่อายุของผู้ป่วย ดูเหมือนสองสายพันธุ์จะไม่แตกต่างกันเช่นกัน โดยเฉพาะในกลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีน หรือ ได้ 2 เข็ม แต่ในกลุ่มที่ได้เข็มกระตุ้นมา เหมือนจะแตกต่างกันนิดหน่อยแต่ก็ไม่มากครับ
ทีมวิจัยระบุว่าผลการทดลองที่ได้มาระบุว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นยังมีโอกาสติดเชื้อ และ แพร่เชื้อต่อให้คนอื่นๆได้ในปริมาณที่ไม่น้อยลงไปกว่าก่อนได้รับวัคซีน แต่ข้อมูลที่ไม่ได้ทำการวิเคราะห์ชัดเจนคือ ผู้ที่ได้เข็มกระตุ้นมาเป็นกลุ่มที่ได้รับมานานแล้วหรือยัง ซึ่งอาจทำให้ไม่ชัดเจนว่าภูมิจากเข็มกระตุ้นเมื่อไหร่จะเริ่มมีความเสี่ยงในการรับเชื้อและแพร่กระจายได้ตามข้อมูลนี้ครับ