รีเซต

ส่อง AI ด้านการสื่อสาร ฝีมือนักพัฒนาไทยจาก BOTNOI Group | TNN Tech Reports

ส่อง AI ด้านการสื่อสาร ฝีมือนักพัฒนาไทยจาก BOTNOI Group | TNN Tech Reports
TNN ช่อง16
28 พฤศจิกายน 2566 ( 16:48 )
44
ส่อง AI ด้านการสื่อสาร ฝีมือนักพัฒนาไทยจาก BOTNOI Group | TNN Tech Reports




ปัจจุบัน ปัญญาประดิษฐ์หรือ AI อาจถือได้ว่าเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่ถูกพูดถึงมากที่สุดก็ว่าได้ เพราะไม่ว่าจะมองไปวงการไหน ก็จะเห็นการพัฒนาและนำ AI เข้ามาประยุกต์ใช้ เพื่อช่วยงานมนุษย์ในหลากหลายด้าน 


ตั้งแต่ด้านที่มีความใกล้ตัวมนุษย์เราอย่าง ด้านการแพทย์และสุขภาพ การศึกษา ระบบขนส่งสาธารณะ การเงินและธนาคาร  การทำการเกษตร ไปจนถึงประยุกต์ใช้ในธุรกิจและอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น  ห้างสรรพสินค้าและค้าปลีก ธุรกิจก่อสร้าง หรืออุตสาหกรรมการผลิต 


“บอทน้อย” หนึ่งในผู้ประกอบการ AI 


หนึ่งในผู้ประกอบการไทยที่มองเห็นความสำคัญของ AI และกระโดดเข้ามาเป็นผู้เล่นในตลาดก็คือ บอทน้อย ซึ่งเป็นบริษัทผู้เชี่ยวชาญด้าน AI ที่มีทีมงานเป็นคนไทยทั้งหมด โดยมุ่งเน้นการพัฒนา AI เพื่อประยุกต์ใช้ในการสื่อสาร ผ่านรูปแบบการใช้งานที่หลากหลาย ทั้งในรูปแบบของบอทน้อยแชทบอท หรือ การสนทนาโต้ตอบอัตโนมัติเป็นข้อความ ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ เช่น เว็บไซต์ ไลน์ เฟซบุ้ก และรูปแบบการตอบโต้อัตโนมัติด้วยเสียง ซึ่งใช้ในระบบคอลเซ็นเตอร์ 


จุดเริ่มต้นของ “บอทน้อย”


การพัฒนาระบบ AI โต้ตอบอัตโนมัติของบอทน้อย เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2017 หรือเมื่อ 6 ปีที่แล้ว 


จากการมองเห็นปัญหาที่เชื่อว่าหลายคนประสบพบเจอ อย่างการติดต่อหรือดำเนินการใด ๆ กับทั้งองค์กรภาครัฐ และภาคธุรกิจ หรือ SME ผ่านช่องทางโทรศัพท์และออนไลน์ แล้วต้องรอการตอบกลับเป็นเวลานาน จนอาจทำให้ผู้ใช้บริการเสียเวลามากเกินควร  ก่อให้เกิดความรู้สึกไม่ประทับใจ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อองค์กร หน่วยงาน และธุรกิจ


จึงทำให้บอทน้อย ได้พัฒนานำ AI หรือปัญญาประดิษฐ์มาประยุกต์ใช้ในด้านการสื่อสารของหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อเติมเต็มช่องว่างระหว่างผู้ให้บริการและประชาชนผู้ใช้บริการ  


การบริการ


บอทน้อยได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ AI หลายรูปแบบ ทั้งเพื่อตอบโจทย์ภาคธุรกิจและองค์กร เช่น 

ระบบบอทน้อยแชตบอท หรือระบบตอบข้อความอัตโนมัติ ซึ่งใช้ในแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ เช่น ไลน์ หรือเฟซบุ้ก  ปัจจุบันมีองค์กรใช้งานจริงแล้วมากกว่า 60 ราย เช่น ธนาคาร บริษัทประกัน โรงพยาบาล และภาคธุรกิจ


1. ระบบเสียงโต้ตอบอัตโนมัติ voice bot เช่น ใช้ช่วยงาน call center  

2. มนุษย์เสมือนหรือ digital human ซึ่งตอบโจทย์การช่วยงานได้หลากหลาย เช่น ใช้งานในโรงพยาบาล หรือใช้เป็นผู้ช่วย ให้คำแนะนำและข้อมูลต่าง ๆ กับพนักงานภายในองค์กร

3. Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI ซึ่งมีจุดเด่นคือ สร้างเสียงได้รวดเร็วจากทุกที่ทุกเวลา ได้เสียงที่คล้ายกับคนและไม่ต้องใช้อุปกรณ์  เหมาะสำหรับการทำงานได้หลายรูปแบบ เช่น เสียงพากย์ในคลิปวิดีโอ หนังสือเสียง หรืองานบริการลูกค้า และงานอื่น ๆ ที่ต้องมีการใช้เสียงพากย์ (ใช้ฟรี) โดย Botnoi Voice ถือเป็นเทคโนโลยีสร้างเสียงจาก AI เจ้าแรก ๆ ของประเทศไทยเลยก็ว่าได้


การใช้งานเปลี่ยนข้อความให้เป็นเสียง สามารถทำได้โดยเข้าไปที่เว็บไซต์ voice.botnoi.ai ใช้งานได้จากอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ ไอแพด และแท็บเลต 


ภายใน Botnoi Voice ประกอบไปด้วยหลายฟังก์ชันให้เลือกใช้งาน เช่น สามารถเลือกรายละเอียดของเสียงได้ว่าจะเป็นเสียงเด็ก เสียงผู้หญิง หรือผู้ชาย (ปล่อยเสียงเด็ก ผู้หญิง ผู้ชาย) มีเสียงภาษาถิ่นให้เลือก ทั้งเหนือ ใต้ อิสาน และสำเนียงสุพรรณ  (ปล่อยเสียงเหนือ ใต้ อิสาน สุพรรณ) และมีภาษาต่างประเทศถึง 24 เสียง หรือใครอยากจะฝากเสียงพากย์ก็สามารถทำได้เช่นกัน


ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้งานมากกว่าล้านคนแล้ว

ถ้าหากใครต้องการนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์จะต้องใช้พอยท์ในการดาวน์โหลด โดยพอยท์จะได้มาจากการเติมเงิน หรือการเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ


ผู้ประกาศ AI ของบอทน้อย


ในการสัมภาษณ์ครั้งนี้ เรายังได้ดูเบื้องหลังนวัฒกรรม “ผู้ประกาศ AI ของบอทน้อย” อีกด้วย โดยการสร้างผู้ประกาศ AI ของเขาจะเริ่มตั้งแต่ให้ผู้ประกาศจะต้องอ่านประโยคอย่างน้อย 200 ประโยค เพื่อให้ทีมงานนำเสียงและข้อความไปสอน AI ให้ AI รู้จักว่าข้อความนี้ต้องอ่านอย่างไร เนื้อเสียงจะเป็นอย่างไร จากนั้น AI ก็จะสามารถจำและเลียนเสียงของผู้ประกาศได้จากข้อความทุกอย่างที่พิมพ์  


โดยในแต่ละภาษาจะใช้ความสามารถของ AI ทั้งหมด 4 ตัว คือ AI ตัวที่ 1 จะใช้สกัดเสียงภาษาไทยออกมาเป็นข้อความ  ตัวที่ 2 ทำหน้าที่เปลี่ยนข้อความภาษาไทยให้เป็นข้อความภาษาอื่น ตัวที่ 3 เปลี่ยนข้อความภาษาอื่นให้กลายเป็นเสียง และ AI ตัวที่ 4 ทำหน้าที่ในการขยับใบหน้าช่วงปาก ตามการออกเสียงแต่ละภาษาให้ดูเป็นธรรมชาติ 


AI ในปัจจุบันในมุมมองของบอทน้อย


ขณะนี้ความสามารถของ AI จะยังไม่สามารถแปลภาษาได้แบบเรียลไทม์ ทันทีทันใด แต่นี่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่น่าเอาใจช่วย เพราะหากทำได้เชื่อว่าจะถูกใช้งานและสร้างชื่อเสียงให้ไทยไปทั่วโลก


โดยปัจจุบัน สามารถแปลภาษาของประเทศแถบอาเซียนได้ แล้ว และในอนาคตจะพัฒนาไปที่ภาษายุโรปและอื่น ๆ ในระยะต่อไป 

รวมถึงพัฒนาคุณภาพอารมณ์ของเสียงให้ตรงกับเสียงต้นฉบับของคนพูดมากที่สุด เพื่อให้การสื่อสารมีความสมจริงและดูเป็นธรรมชาติ เข้ามาแบ่งเบาภาระงานของผู้ประกาศได้ในอนาคต 


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง