รีเซต

แพทย์ย้ำ ป่วยแล้วต้องเข้ารพ. เรียกแล้วไม่มารักษา ถือมีความผิด

แพทย์ย้ำ ป่วยแล้วต้องเข้ารพ. เรียกแล้วไม่มารักษา ถือมีความผิด
มติชน
13 เมษายน 2564 ( 14:21 )
189

เมื่อวันที่ 13 เมษายน ที่ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับการรักษาพยาบาลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยืนยันว่าให้อยู่ที่ โรงพยาบาล (รพ.)เท่านั้น ไม่ให้กักตัวเองที่บ้าน ซึ่งการรักษานั้นตามปกติเราให้อยู่ รพ.ประมาณ 10 วันก็กลับบ้านได้ เพราะโอกาสแพร่หมดไปแล้ว แต่สายพันธุ์อังกฤษที่มีการกลายพันธุ์ จึงอาจให้ผู้ติดเชื้ออยู่ รพ.นานขึ้นเป็น 14 วัน ซึ่งคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญกำลังหาคำตอบว่าจะปรับอย่างไรเหมาะสม

 

 

นพ.โอภาส กล่าวว่า ส่วนกรุงเทพมหานคร (กทม.) ใน รพ.เอกชนยังมีเตียงว่างหลักพันเตียง หากมีติดเชื้อมากขึ้น ได้จัดเตรียมฮอทพิเทล (Hospitel) รองรับมากกว่า 4 พันเตียง และ รพ.สนาม ที่หลายหน่วยงานร่วมกันจัดตั้ง สำหรับดูแลผู้ติดเชื้อไม่มีอาการ ขอความมั่นใจผู้ติดเชื้อทุกคนจะได้รับการรักษาใน รพ. ซึ่ง รพ.มีเตียงเพียงพอ

 

 

“คำนวณคร่าวๆ ประมาณ 3 หมื่นเตียงมีในมือเรียบร้อย เมื่อรักษาหายก็กลับบ้านทำให้มีเตียงหมุนเวียนเพียงพอ แต่ผู้ที่ยังไม่มีเตียงรักษา สามารถประสานหาเตียงได้ที่เบอร์ 1330 1668 และ 1669 ส่วนอุปกรณ์ป้องกันตัวสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ยังมีเพียงพอใช้ โดยหน้ากกา N95 มีพอใช้ 12 เดือน หน้ากากอนามัย มีใช้ 9 เดือน และชุด PPE เพียงพอใช้ 5 เดือน ยาฟาวิพิราเวียร์มี 575,000 เม็ด ตอนนี้สั่งเพิ่มอีก 5 แสนเม็ด เพื่อให้มีเพียงพอ” นพ.โอภาส กล่าวและว่า ส่วนห้องปฏิบัติการตรวจทุกจังหวัดมี 277 ห้อง วันหนึ่งตรวจได้ 81,700 ตัวอย่าง แม้ตอนนี้การตรวจค่อนข้างเยอะ 2-3 หมื่นตัวอย่าง ก็ถือว่ายังมีศักยภาพรองรับเพียงพอ

 

 

“ผู้ติดเชื้อทุกคนต้องอยู่ รพ.เท่านั้น เพราะตอนนี้พบว่าผู้ติดเชื้อปอดบวมแต่ไม่มีอาการ โดยอาการสามารถรุนแรงขยายตัวได้รวดเร็ว จึงต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น การที่วันนี้ไม่มีอาการ ไม่ได้แปลว่าพรุ่งนี้จะไม่มีอาการ และผู้ติดเชื้อมีเชื้อออกมาจากทางเดินหายใจ มีความเสี่ยงแพร่กระจายคนอื่น การดูแลใกล้ชิดเพื่อรักษาและควบคุมกำกับจึงสำคัญมาก ประเทศไทยมีเตียงเพียงพอ มีอุปกรณ์ต่างๆ เพียงพอ อุปกรณ์เพียงพอ ไม่เหมือนหลายประเทศที่ผู้ติดเชื้อมากดูแลไม่ไหว จนต้องให้ไปดูแลที่บ้าน และย้ำว่าโรคนี้เป็นโรคติดต่ออันตราย ถ้าเจ้าหน้าที่สั่งให้มารักษา แล้วไม่มารักษา ถือว่ามีความผิดทางกฎหมาย เราไม่ค่อยอยากใช้มาตรการทางกฎหมาย  เพราะฉะนั้นคนที่เชิญชวนให้ผู้ติดเชื้ออยู่บ้าน ไม่ติดต่อเจ้าหน้าที่ขอให้หยุดการกระทำเด็ดขาด” นพ.โอภาสกล่าว

 

 

เมื่อถามถึงผู้ติดเชื้อใน กทม.ไม่ประสงค์อยู่ Hospitel หรือ รพ.สนาม ขอเข้า รพ.เอกชนจังหวัดอื่นแทน นพ.โอภาส กล่าวว่า โรคนี้เป็นโรคติดต่ออันตราย หลักการไม่อยากให้ย้ายข้ามจังหวัด เพราะทำให้อีกจังหวัดเสี่ยงมากขึ้น การบริหารทรัพยากรแต่ละจังหวัดก็ไม่เหมือนกัน จังหวัดเล็กอาจมีเตียงว่าง หากมีผู้ติดเชื้อเข้าไปหนึ่งคนแล้วสมมติเกิดแพร่กระจายออกไป อาจทำให้จังหวัดนั้นประสบความลำบากการควบคุมโรค

 

 

“ตอนนี้อยู่จังหวัดไหนก็ขอให้อยู่จังหวัดนั้น จะไม่ย้ายข้ามจังหวัดโดยไม่จำเป็น ถ้ามีเหตุผลเฉพาะก็ว่ากันเป็นรายๆ ไป ขอทุกคนปฏิบัติตามคำแนะนำหรือข้อสั่งการเจ้าหนักงานโรคติดต่อ จะเป็นประโยชน์ต่อตัวท่านและภาพรวม ตอนนี้อาจติดขัดเล็กน้อยไม่สะดวก เนื่องจาก รพ.หลายแห่งอาจไม่ตรงใจ ขอความร่วมมือถ้ามีปัญหาจะดูแลเป็นรายกรณี แต่ภาพรวมไม่ให้เดินทางข้ามจังหวัด” นพ.โอภาส กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง