ล้างบาง "หมูเถื่อน" ... วิกฤตซ้ำเติมผู้เลี้ยง-ผู้บริโภค
โดย น.สพ.วิวัฒน์ พงษ์วิวัฒนชัย อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ
นับแต่กรมปศุสัตว์ประกาศพบการระบาด ASF ในประเทศไทย เมื่อเดือนมกราคม 2565 หลังจากที่มีการแพร่กระจายในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก แม้จะเป็นโรคติดต่อร้ายแรงเฉพาะในหมู ไม่ติดต่อสู่คนและสัตว์อื่น แต่ก็สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง เนื่องจากเป็นโรคที่ยังไม่มีวัคซีนป้องกันและยารักษาโรคที่เฉพาะเจาะจง ทำให้การกำจัดโรคทำได้ยาก
• ผู้เลี้ยงหมูเผชิญวิกฤตต้นทุนเพิ่ม
การระบาดของ ASF ที่เกิดขึ้นในไทย ทำให้แม่พันธุ์หมูหายไปจากระบบถึง 50 % เหลือเพียง 6 แสนตัว จากเดิมที่มีจำนวน 1.2 ล้านตัว เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูหยุดการเลี้ยงไปกว่าครึ่งของจำนวนทั้งหมด และเกษตรกรอีกไม่น้อยที่ชะลอการเลี้ยงเพื่อรอดูสถานการณ์ ส่งผลให้หมูขุนของไทยมีจำนวนลดลง เหลือเพียง 14-15 ล้านตัวต่อปี จากปกติที่ไทยผลิตได้ 22-24 ล้านตัวต่อปี ทำให้ราคาหมูหน้าฟาร์มมาอยู่ที่ 100 บาทต่อกิโลกรัม ทั้งที่ต้นทุนการเลี้ยงที่ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) วิเคราะห์ไว้นั้นสูงถึง 99 - 100 บาทต่อกิโลกรัมแล้ว เท่ากับเกษตรกรต้องแบกรับภาระขาดทุนอย่างไม่ต้องส่งสัย ซึ่งเรื่องนี้ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน
ไม่ทันที่พี่น้องเกษตรกรทั้งรายย่อย รายกลาง จะตั้งตัวในระบบการเลี้ยงได้ ก็เกิดวิกฤติซ้อนวิกฤติ จากต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ อย่างข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวสาลี กากถั่วเหลือง แม้แต่ยารักษาโรคและเวชภัณฑ์สำหรับสัตว์ ก็พาเหรพขึ้นราคาอย่างไม่หยุดยั้ง มาตั้งแต่กลางปี 2563 และมาพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์เมื่อเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งต่างเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกธัญพืชรายใหญ่ของโลก ส่งผลให้ต้นทุนวัตถุดิบเพื่อผลิตเป็นอาหารสูงขึ้นเฉลี่ย 25-30 % และวิกฤติสงครามก็ยังไม่มีท่าทีที่จะจบลง ยังมีปัญหาค่าเงินอ่อนตัวที่ 38 บาทดอลลาร์สหรัฐ เป็นตัวตอกย้ำว่าต้นทุนการผลิตจะยิ่งสูงขึ้นไปอีก
ขณะเดียวกัน ผู้เลี้ยงยังต้องยกระดับระบบป้องกันโรคระบาดในฟาร์ม ทั้งช่วงของการพักคอก ปรับปรุงโรงเรือน และใช้ยาฆ่าเชื้อสำหรับเตรียมการเลี้ยง รวมถึงการนำระบบไบโอซีเคียวริตี้ (Biosecurity) มาใช้ แม้จะเป็นช่วงที่ยังไม่มีการนำหมูเข้าเลี้ยงก็ตาม เพื่อให้การเลี้ยงหมูรอบใหม่ ปลอดภัย ปลอดโรคมากที่สุด กลายเป็นต้นทุนที่เพิ่มเข้ามาอีกถึง 300-500 บาทต่อตัว
• “หมูเถื่อน” เพิ่มความเสี่ยงนำพาโรค
ในช่วงจังหวะที่ตลาดขาดแคลนซัพพลายหมู จึงเป็นช่องว่างให้ขบวนการฉวยโอกาสลักลอบนำเข้า “หมูเถื่อน” มาเป็นซัพพลายเทียม ซ้ำเติมเกษตรกรผู้เลี้ยง โดยเข้ามาในรูปแบบคอนเทนเนอร์ที่เป็นตู้เย็นสำหรับอาหารแช่แข็งผ่านทางเรือ และรถขนส่ง แล้วนำมากระจายไปยังห้องเย็นในจังหวัดต่างๆ ส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศทางยุโรป เช่น เยอรมนี สเปน เนเธอร์แลนด์ บราซิล อาร์เจนตินา มีทั้งชิ้นส่วนหมูแช่แข็ง และเครื่องใน โดยสำแดงเท็จเป็นอาหารทะเลบ้าง เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์เลี้ยงบ้าง เพื่อหลบเลี่ยงการตรวจจากกรมศุลกากร และกรมปศุสัตว์ และนำมาจำหน่ายในท้องตลาดแบบดัมพ์ราคาถูกแสนถูกเพียงกิโลกรัมละ 130-140 บาท โดยขายอย่างโจ่งแจ้งผ่านทางสื่อโซเชียล และสังคมออนไลน์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อราคาหมูในประเทศอย่างยิ่ง
เนื้อหมูและชิ้นส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นขา หัว หรือเครื่องใน ที่ลักลอบนำเข้ามา เป็นชิ้นส่วนที่ประเทศต้นทางไม่บริโภค จึงไม่ต่างกับการสร้างมูลค่าให้กับขยะเหลือทิ้งเหล่านั้น ที่สำคัญสินค้าลักลอบนำเข้าย่อม “ไม่ใช้ของดี” เป็นของถูกตกเกรดด้วยคุณภาพ และไม่ได้มาตรฐานที่นำมาเททิ้งในประเทศไทย หมูขยะเหล่านี้อุดมไปด้วยเชื้อก่อโรคในคนและในสัตว์ หมูเถื่อนทั้งจากยุโรป หรือแม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านต่างอมโรคทั้งสิ้น เห็นได้จากการจับกุมที่ผ่านมาทราบว่าตรวจสอบในห้องปฏิบัติการแล้วก็พบโรคที่เป็นอันตรายทั้งสิ้น ที่สำคัญหมูเถื่อนยังเป็นสินค้าหมดอายุ เก่าเก็บ เน่าเสีย รวมทั้งอาจมีเชื้อ ASF หรือโรคต่างถิ่น และโรคระบาดอื่นๆ ปนเปื้อนมาด้วย ซึ่งเป็นความเสี่ยงต่อผู้เลี้ยง ที่อาจก่อให้เกิดโรคระบาดซ้ำในหมู หรือโรคระบาดจากเชื้อต่างถิ่น เกษตรกรต่างกังวลว่าหมูเถื่อนที่ทะลักเข้ามา จะเป็นการซ้ำเติมภาวะโรคและทำร้ายผู้เลี้ยง โดยเฉพาะรายย่อยและรายเล็ก ที่จะหายไปจากระบบ หากยังปล่อยให้มีหมูเถื่อนเหล่านี้สามารถขายกระจายอยู่ทั่วไปเช่นนี้
• ผลกระทบต่อสุขอนามัยผู้บริโภค
“หมูเถื่อน” ซึ่งเป็นชิ้นส่วนจากประเทศในยุโรป อเมริกา และประเทศทางตะวันตก ที่หลายประเทศอนุญาตให้เกษตรกรสามารถใช้สารเร่งเนื้อแดง แรคโตพามีน ในการเลี้ยงหมูได้ย่างเสรี เมื่อส่วนที่ต้องทำลายกลับมีค่า โดยผลักดันการส่งออกมายังประเทศผู้บริโภคหมูทุกส่วนอย่างไทย เท่ากับชิ้นส่วนหมูเถื่อนอาจปนเปื้อนสารเร่งเนื้อแดง สารต้องห้ามตามกฎหมายไทย ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ. 2545 “ห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดงในการเลี้ยงหมูอย่างเด็ดขาด”
เมื่อ “หมูเถื่อน” ถูกนำมาจำหน่ายในท้องตลาด ปะปนกับเนื้อหมูที่เลี้ยงในประเทศ จึงเป็นภัยใกล้ตัวอย่างมาก เนื่องจากเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค หากรับประทานหมูที่มีสารเร่งเนื้อแดง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ อาทิ หัวใจเต้นผิดปกติ และในกลุ่มสตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และไฮเปอร์ไทรอยด์ จะยิ่งแสดงอาการอย่างรวดเร็ว
• ความมั่นคงอาหารและเกษตรกรไทยสะเทือน
“หมูเถื่อน” นับเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไทยมีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยในอาหารอย่างยิ่ง หากผู้เลี้ยงถอดใจเลิกเลี้ยงหมู เพราะความไม่มั่นใจในอาชีพ จะทำให้ไทยไม่มีเนื้อหมูที่ปลอดภัยปลอดโรค ป้อนความต้องการในประเทศ นอกจากนี้เกษตรกรต่อเนื่องทั้งผู้ผลิตวัตถุดิบอาหารสัตว์และพืชไร่ ต่างล้มเหลวเพราะไม่เหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูในฐานะผู้ใช้ผลผลิต ส่วนผู้บริโภคต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพจากความดาษดื่นของหมูเถื่อนที่ถาโถมเข้าในระบบ และแน่นอนว่าบทบาทของประเทศไทยในการเป็นครัวโลกที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้ คงเป็นได้เพียงฝัน
• บทสรุป
ปัญหา “หมูเถื่อน” ยังพอจะมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ หากทุกคนร่วมกันเป็น “ทีมไทยแลนด์” ทั้งภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เกษตรกรผู้เลี้ยง ภาคการเมือง และภาคประชาชนที่รู้เบาะแส ต้องบูรณาการในการกวาดล้างร่วมกัน ชนิดถอนรากถอนโคน ซึ่งเป็นทางออกและเป็นความหวังว่าประเทศไทยจะสลัดปัญหาเรื้อรังนี้ให้หมดไปโดยเร็ว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ความปลอดภัยในสุขภาพของผู้บริโภค และความยั่งยืนในอาชีพเกษตรกรไทย