รีเซต

อินเดียหวั่นเจอ "เชื้อดื้อยา" หลังใช้ยาเกินขนาดรักษาโควิด-19

อินเดียหวั่นเจอ "เชื้อดื้อยา" หลังใช้ยาเกินขนาดรักษาโควิด-19
TNN ช่อง16
9 มิถุนายน 2564 ( 18:01 )
93
อินเดียหวั่นเจอ "เชื้อดื้อยา" หลังใช้ยาเกินขนาดรักษาโควิด-19

วันนี้ ( 9 มิ.ย. 64 )นักวิทยาศาสตร์ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในอินเดียต่างแสดงความกังวลว่า ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ อินเดียอาจเจอกับ "ซูเปอร์บั๊ก" (superbug) หรือ เชื้อแบคทีเรียดื้อยา หลังจากที่มีการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ด้วยการใช้ยาเป็นปริมาณมากเกินกว่าที่กำหนดเอาไว้ 

โดยผู้ป่วยโควิด-19 ในอินเดีย ได้รับยาปฏิชีวนะที่รุนแรง อาทิ อะซิโธรไมซิน ( azithromycin) และ ดอกซี่ไซคลิน (doxycycline) ระหว่างการรักษาตัว แม้จะมีคำแนะนำว่านี่ไม่ใช่วิธีการในการรักษาโรคโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพก็ตาม  โดยข้อแนะนำจากทั้งองค์การอนามัยโลก และรัฐบาลของอินเดียเอง ชี้ว่า การใช้ยาปฏิชีวนะดังกล่าว สามารถใช้ได้กรณีที่ผู้ป่วยโควิด-19 รายนั้น ติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย แต่กลับล้มเหลวที่จะห้ามการใช้ยาเหล่านี้ เนื่องจากขาดความชัดเจนในการสื่อสาร ทำให้ปฏิบัติตามหลักการไม่ได้ ตลอดจนการขาดแคลนยาที่ใช้ในการรักษา 

ดร.แอมบริช มิธัล หัวหน้าแผนกต่อมไร้ท่อและโรคเบาหวาน ศูนย์สุขภาพ Max โรงพยาบาลในเครือของอินเดีย กล่าวว่า "พวกเขาใช้ยาปฏิชีวนะขนาดแรงอย่างเสรีเกินไป มากกว่ายาสเตียรอยด์เสียด้วยซ้ำ .. ขนาดแพทย์กว่าจะเลือกใช้ยาสเตียรอยด์ ก็ยังต้องคิดแล้วคิดอีก แต่สำหรับยาปฏิชีวนะกลับถูกใช้อย่างมาก เพียงเพราะคิดว่ามันปลอดภัยดี" 

ก่อนหน้านี้ มีเสียงเตือนออกมาค่อนข้างมากกรณี "เชื้อแบคทีเรียดื้อยา" หลังมีการศึกษาจากทีมนักวิทยาศาสตร์และแพทย์อินเดีย เผยแพร่เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม ในนิตยสารโรคติดเชื้อและการดื้อยา (Infection And Drug Resistance) โดยวิเคราะห์จากผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 17,534 คน ที่รักษาตัวใน 10 โรงพยาบาล ระหว่าง 1 มิถุนายน ถึง 30 สิงหาคม 2020

พบว่า ผู้ป่วย 640 คน มีการติดเชื้อทุติยภูมิ (secondary microbrial infection) ซึ่งหมายถึงการติดเชื้อที่เกิดขึ้นระหว่างการรักษาการติดเชื้อปฐมภูมิ ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่ติดเชื้อในโรงพยาบาล  เกือบ 57% ของผู้ป่วยกลุ่มนี้ เสียชีวิตลง เมื่อเทียบกับอีกกลุ่มที่ไม่ได้ติดเชื้อทุติยภูมิ ที่พบอัตราการเสียชีวิตราว 11% 

สำหรับเชื้อแบคทีเรียดื้อยารุนแรง เช่น  K.pneumoniae และ A.baumannii คิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยที่ติดเชื้อทุติยภูมิ

ผลวิจัยนี้เองที่ทำให้แพทย์ต่างแสดงความกังวลว่า การใช้ "ยาปฏิชีวนะ" ที่เกินขนาดจะนำมาสู่การติดเชื้อโรคที่ไม่เคยได้รับการรายงานมาก่อน และชี้ว่า นี่จะยิ่งเป็นการเติมเชื้อเพลิงเข้าไปในกองไฟที่กำลังโหมกระหน่ำอินเดียในเวลานี้ 

ขณะที่แนวทางการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่รัฐบาลจัดทำขึ้นเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม กลับไม่ได้มีการกล่าวถึงการใช้ "ยาปฏิชีวนะ" เลย โดยแนวทางก่อนหน้านี้ มีข้อแนะนำเพียงว่า ไม่ควรนำมาใช้เป็นประจำ โดยควรใช้ในกรณีผู้ป่วยที่ต้องสงสัยติดเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง