รีเซต

กองทัพออสเตรเลียทดสอบระบบเลเซอร์ Fract ขนาดเท่ากระเป๋า ยิงทำลายโดรนกลางอากาศ

กองทัพออสเตรเลียทดสอบระบบเลเซอร์ Fract ขนาดเท่ากระเป๋า ยิงทำลายโดรนกลางอากาศ
TNN ช่อง16
23 มิถุนายน 2567 ( 11:07 )
33

วันที่ 17 มิถุนายนที่ผ่านมา กองกำลังป้องกันประเทศออสเตรเลีย (ADF) ประสบความสำเร็จในการทดสอบยิงระบบเลเซอร์ Fractl ขนาดเท่ากระเป๋าพกพาที่สามารถยิงทำลายโดรนกลางอากาศ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับรูปแบบของสงครามที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยการทดสอบมีขึ้นบริเวณสนามฝึกซ้อมอาวุธปุกาปุญญาล (Puckapunyal) ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา 


ระบบเลเซอร์ Fractl พัฒนาโดยบริษัท AIM Defence ซึ่งอยู่ที่กรุงเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย มีลักษณะเป็นอาวุธพลังงานทรงพลังที่ออกแบบมาเพื่อตอบโต้ระบบทางอากาศไร้คนขับ (UAS) ระบบเลเซอร์ขั้นสูงนี้สามารถตรวจจับ ติดตาม และควบคุมโดรนได้ด้วยความแม่นยำสูง สามารถกำหนดเป้าหมายโดรนที่เคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จากระยะไกล 1 กิโลเมตร ถึง 1.5 กิโลเมตร โจมตีด้วยลำแสงเลเซอร์ขนาด 10 เซนติเมตร ทำลายชิ้นส่วนของโรเตอร์ สายไฟ หรือกล้อง เพื่อให้โดรนร่วงตกลงมาจากอากาศ


โครงสร้างของระบบเลเซอร์ Fractl มีลักษณะเป็นกล่องแบตเตอรี่เก็บพลังงานไฟฟ้า โดมยิงแสงเลเซอร์แบบหมุนได้ วางอยู่บนขาตั้ง 3 ข้าง น้ำหนักทั้งหมดน้อยกว่า 50 กิโลกรัม บริษัทผู้พัฒนาอ้างว่าปืนแสงเลเซอร์ทำงานร่วมกับปัญญาประดิษฐ์ AI เพื่อการยิงที่แม่นยำและใช้อัลกอริธึมเรียนรู้การทำงาน เพื่อให้ระบบตอบสนองและทำงานได้รวดเร็วขึ้น


“การยิงโดรนบินไร้คนขับ (UAS) ร่วงจากท้องฟ้าถือเป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่ง เทคโนโลยีอาวุธพลังงานสูงมีความสามารถในการตรวจจับ ติดตาม และโจมตีเป้าหมายประเภทนี้อย่างรวดเร็ว ตัวอย่างเช่น สงครามในยูเครน ซึ่งมีการนำโดรนบินจำนวนมากเข้ามาใช้โจมตีด้านการทหาร และหากกองทัพสมัยใหม่ไม่ปรับตัวก็ยากที่จะรับมือกับสงครามโดรนรูปแบบใหม่นี้” เอลี ลี (Eli Lea) เจ้าหน้ากองกำลังป้องกันประเทศออสเตรเลีย (ADF) กล่าวอธิบายเพิ่มเติม


จุดเด่นของระบบเลเซอร์ Fractl อยู่ที่พกพาได้สะดวกมีต้นทุนการยิงต่อครั้งแค่ 1 ดอลลาร์สหรัฐ และสามารถทำงานได้ทั้งแบตเตอรี่และไฟ AC ระบบติดตั้งพร้อมใช้งานได้อย่างรวดเร็ว ช่วยเพิ่มเวลาตอบสนองในการปฏิบัติงาน และกลายเป็นข้อได้เปรียบที่สำคัญในแง่ของการใช้งาน เมื่อทุกวินาทีมีค่าและตัดสินความเป็นความตายในสงคราม อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าเสียดายว่ากองกำลังป้องกันประเทศออสเตรเลีย (ADF) ไม่เปิดเผยรายละเอียดอื่น ๆ เกี่ยวกับการทดสอบในครั้งนี้ เนื่องจากเป็นความลับด้านการทหาร


ที่มาของข้อมูล Army-technology.com, Newatlas

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง