รู้จักชุด PPE อุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัย สู้โควิด-19


วันนี้ (28 มี.ค.63) จากสถานการณ์ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ ไวรัสโควิด-19 ที่มีการแพร่ระบาดได้ง่าย ทำให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานหรือบุคลากรทางการแพทย์ผู้ที่ต้องรักษาคนไข้นั้น มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้ออยู่ตลอดเวลา ดังนั้น การสวมใส่หน้ากากอนามัยเพียงอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องมีชุดอุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัย (PPE : Personal Protective Equipment) ซึ่งก็คือ อุปกรณ์ป้องกันและคุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลให้เป็นไปตามมาตรฐานหลักขององค์กรอนามัยโลก
โดยทั่วไปบุคลากรทางการแพทย์ จำเป็นต้องสวมใส่ ชุด PPE เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ตามมาตรฐานองค์การอนามัยโรค ซึ่งประกอบด้วย
- ชุดกาวน์ ช่วยป้องกันผิวหนังและเสื้อผ้า
- หน้ากาก N95 ช่วยป้องกันปากจมูก
- แว่นป้องกันตา (Goggles) ใช้เพื่อป้องกันเลือดหรือสารคัดหลั่งหรือฝอยละอองกระเด็นเข้าตาบุคลากร มีลักษณะพิเศษเฉพาะเนื่องจากต้องกระชับใบหน้า ดังนั้นแว่นสายตาจึงไม่เพียงพอในการป้องกัน
- ถุงมือ ช่วยป้องกันมือเมื่อต้องสัมผัสเลือดหรือสารคัดหลั่งของผู้ป่วย
- กระบังป้องกันหน้า (Face Shield) อุปกรณ์ชนิดนี้จะใช้ในกรณีที่ต้องรักษาผู้ป่วยโดยใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ เข้าสู่ร่างกายผู้ป่วย เช่น เจาะเลือด ทำแผล ให้น้ำเกลือ ฉีดยา ล้างของ เทสารคัดหลั่ง เก็บขยะ เก็บผ้าสกปรก เป็นต้น ซึ่งจะช่วยป้องกันจากด้านหน้าและด้านข้างได้ดี แต่ไม่สามารถป้องกันเชื้อที่แพร่กระจายทางอากาศได
- หมวก ใช้ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ จากบุคลากรสู่ผู้ป่วยและช่วยป้องกันเลือดและสารคัด หลังจากผู้ป่วยกระเด็นถูกผมบุคลากร ขณะทำความสะอาดสิ่งแวดล้อม ขณะทำความสะอาด หรือจัดเตรียมเครื่องมือ/อุปกรณ์ ต่างๆ
- รองเท้าบู๊ท สำหรับการทำกิจกรรมที่มีโอกาสปนเปื้อนสิ่งคัดหลั่งจาก ผู้ป่วยกรณีกิจกรรมที่มีความเสี่ยงกระเด็นสัมผัสขาหรือเท้าของบุคลากร เปียกแฉะที่พื้น
- Surgical Hood สำหรับการทำกิจกรรมที่มีโอกาสปนเปื้อนสิ่งคัดหลั่งจากผู้ป่วยกรณีกิจกรรมที่มีความเสี่ยงกระเด็น สัมผัสใบหน้า หรือศีรษะ ของบุคลากร
- Leg Cover สำหรับกิจกรรมที่มีโอกาสปนเปื้อนสิ่งคัดหลั่งจากผู้ป่วยกรณีกิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูงที่จะกระเด็น/สัมผัสขาหรือเท้าของบุคลากร พื้นที่เปียกแฉะ มักใส่ด้านในรองเท้าบู๊ท
ความสำคัญของชุด PPE
- ป้องกันการติดเชื้อผ่านผิวหนังและสารคัดหลั่งของผู้ป่วย
- ปกคลุมร่างกายทุกส่วน
- ป้องกันการซึมของน้ำ
- ป้องกันการติดเชื้อทางอากาศ (ในบางกรณีเท่านั้น)
- ระวังการปนเปื้อนในเวลาถอด
- แนะนำการทำความสะอาดมือ ในทุกขั้นตอนการถอด PPE
- ใช้เมื่อจำเป็น
- หากใช้น้อยเกินไปอันตราย
- หากใช้มากเกินไปสิ้นเปลือง เสียเวลา ไม่คล่องแคล่ว และเกิดการแพร่กระจายเชื้อ
- เลือก PPE ให้เหมาะสมกับงาน ความทนทาน และเหมาะสมกับกิจกรรมที่ปฏิบัติ ลักษณะของการสัมผัส
- ขนาดพอเหมาะกับผู้สวมใส่
- เลือกชนิดที่มีความคุ้มค่ากับราคา
- อุปกรณ์บางชนิด สามารถใช้ซ้ำได้แต่ต้องมีการจัดการที่เหมาะสม
ขอบคุณข้อมูลจาก นางวราภรณ์ เทียนทอง หัวหน้ากลุ่มงานการพยาบาลป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ สถาบันบำราศนราดูร
เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNThailand.com
facebook : TNNThailand
twitter : @TNNThailand
Line : @TNNThailand
Youtube Official : TNNThailand