ศบค.จัด 11 กลุ่มเดินทางเข้าไทย "กักตัว 14 วัน-คุมสังเกตอาการ"
วันนี้ (1 ก.ค.63) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมของไทย หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในต่างประเทศยังมีผู้ป่วยเพิ่มวันละมากกว่าแสนราย ว่า ปัจจุบัน กทม.มีเตียงระดับ ICU 106 เตียง ไม่ใช่ ICU 1,589 เตียง และโรงแรมที่จัดทำเป็นสถานที่พักผู้ป่วย (Hospitel) 568 เตียง ส่วนทั่วประเทศ เตียงระดับ ICU มี 465 เตียง ไม่ใช่ ICU 9,617 เตียง และ Hospitel 9,781 เตียง รวมทั่วประเทศ มีเตียง ICU 571 เตียง ไม่ใช่ ICU 11,206 เตียง และ Hospitel 10,349 เตียง
สำหรับเวชภัณฑ์ หน้ากาก N09 มี 1.12 ล้านชิ้น ชุด PPE มี 5.11 แสนชุด และเครื่องช่วยหายใจ 1.1 หมื่นเครื่อง ขณะที่ ยาฟาวิพิราเวียร์มี 3.19 แสนเม็ด สำหรับผู้ป่วย 4,571 คน และจะมีอีก 4 แสนเม็ด ภายใน ก.ค. 2563
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวต่อว่า มาตรการรองรับผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ มีหลากหลายกลุ่ม โดยหลักการคนเดินทางมาจากต่างประเทศให้สงสัยว่าอาจจะเป็นพาหะนำเชื้อมาประเทศไทย การจัดการในทางกฎหมายโดย พ.ร.บ.โรคติดต่อ บัญญัติวิธีการไว้ 3 อย่าง คือ
1.แยกกัก คือ ลงเครื่องมาป่วยเอาเข้า รพ.ทันที เรียกว่า Isolation
2.กักกัน (Quarantine) มี 4 ประเภท คือ
1) กักกันที่บ้าน (Home Quarantine)
2) สถานกักกันที่รัฐจัดให้ (State Quarantine : SQ) หรือตามต่างจังหวัด (Local Quarantine :LQ ) และที่จ่ายเงินเอง (Alternative State Quarantine ASQ) และในระดับจังหวัด (Alternative Local Quarantine : ALQ)
3) องค์กรนั้นจัดขึ้นมาและให้พักในพื้นที่ตนเองจัดไว้ (Organization Quarantine : OQ) ซึ่งข้อกำหนดฉบับที่ 12 แบ่งคนออกมา 11 ประเภท มีกลุ่มหนึ่งที่มาเป็นโรงเรียน ครู นักเรียนต่างชาติ ผู้บริหารต่างๆ มาครั้งหนึ่งอาจหลายสิบหรือร้อยคน แต่มีหอพัก หรือรพ.ประจำสถานศึกษาอยู่แล้ว เราก็อนุญาตให้พักในสถานที่ที่องค์กรจัดได้ แต่จะต้องผ่านมาตรฐานที่กรมควบคุมโรค กรมอนามัย และฝ่ายมั่นคงเข้าไปกำกับตรวจสอบ และยืนยันว่าจะไม่มีการออกไปข้างนอกให้เกิดการแพร่เชื้อ
4) Hospital Quarantine สำหรับคนที่เดินทางมารักษาหรือดูแลสุขภาพ โดยใช้ รพ.เป็นสถานที่กักกัน
3. คุมไว้สังเกตอาการ (Close Observation) คือ ไม่ต้องนอนในรพ. ประเภทนักธุรกิจมาระยะสั้นๆ มาเซ็นสัญญานอน 2-3 วันกลับบ้าน ก็ไม่อยากมาอยู่ 14 วัน แต่ต้องมีระบบตรวจสอบตั้งแต่ก่อนมา ระหว่างมา และก่อนจะกลับ ว่าไม่มีเชื้อ และต้องมีแผนว่าจะไปไหนบ้าง โดยรถยนต์ส่วนตัว ต้องบอกทั้งหมด และต้องจ่ายเงินเอง นอนโรงแรมนั้นก็ต้องเป็น Alternative State Quarantine มีแพทย์ พยาบาลประกบ และจะไปไหนคนเดียวไม่ได้ ต้องมีบุคลากรทางการแพทย์ติดตามไปด้วย เป็นการคุมไว้สังเกต อยู่ในสายตาของเจ้าหน้าที่ตลอด และต้องไม่เป็นความเสี่ยงกับประเทศไทย
ส่วนมาตรการผ่อนปรน 6 กลุ่มที่จะเข้าไทย 200 คนต่อวันนั้น นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ตามข้อกำหนดที่ออกตามความมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ฉบับที่ 12 กลุ่มคนที่จะเข้ามาในประเทศไทยมี 11 กลุ่ม ดังนี้
1. ผู้มีสัญชาติไทย อยู่ได้ทั้ง SQ LQ ALQ
2. ผู้มีเหตุยกเว้น ใช้แนวทางคุมไว้สังเกตอาการ
3. บุคคลในคณะทูต ใช้วิธีกักตนเองในสถานทูตนั้น (Home2Self Quarantine)
4. ผู้ขนส่งสินค้าตามความจำเป็น เมื่อขนส่งเสร็จเข้ามาก็ขับรถออกไปได้ ไม่ต้องอยู่
5. ผู้ควบคุมยานพาหนะ อาจต้องพักค้าง เช่น กัปตันเครื่องบิน แอร์โฮสเตส สายการบินทั้งหลาย ใช้วิธี ASQ
6. ผู้ไม่มีสัญชาติไทยซึ่งเป็นคู่สมรสคนมีสัญชาติไทย ใช้ ASQ
7. ผู้ไม่มีสัญชาติไทยมีถิ่นที่อยู่ในไทย ใช้ ASQ
8. ผู้ไม่มีสัญชาติไทยมีใบอนุญาตทำงาน ใช้ ASQ
9. ผู้ไม่มีสัญชาติไทยเป็นนักเรียนหรือนักศึกษาในไทย ใช้ ASQ หรือ OQ
10. ผู้ไม่มีสัญชาติไทยมีความจำเป็นต้องเข้ามารับการตรวจรักษาในไทย ใช้กักใน รพ.
11. ผู้ไม่มีสัญชาติไทยได้รับอนุญาตเข้ามาในไทยตามข้อตกลงพิเศษ มาระยะยาวใช้วิธี ASQ หรือมาระยะสั้นๆ ใช้วิธีคุมไว้สังเกตอาการ
เกาะติดข่าวที่นี่website: www.TNNThailand.com
facebook : TNNThailand
facebook live : TNN Live
twitter : @TNNThailand
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNThailand
Instagram : @tnn_online
TIKTOK : @tnnonline