รีเซต

พิธีเปิดโครงการ “สานใจไทย สู่ใจใต้” รุ่นที่ 42

พิธีเปิดโครงการ “สานใจไทย สู่ใจใต้” รุ่นที่ 42
EntertainmentReport1
25 เมษายน 2567 ( 19:46 )
61

​วันพุธที่ 24 เมษายน 2567 เวลา 10.30 น. พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกมูลนิธิ “สานใจไทย สู่ใจใต้” เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ “สานใจไทย สู่ใจใต้” รุ่นที่ 42 ณ ห้องมัฆวานรังสรรค์ ชั้น 3 สโมสรทหารบก (ส่วนกลาง) วิภาวดี กรุงเทพฯ

 

 

โครงการ “สานใจไทย สู่ใจใต้” ได้มีการเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2548 จากดำริของ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ที่ได้มีความมุ่งหวังให้เด็กและเยาวชนในพื้นที่ชายแดนใต้ได้รับโอกาสการพัฒนา การเรียนรู้ ประสบการณ์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเอง ครอบครัว และชุมชน โดยการดำเนินงานของโครงการเป็นการขับเคลื่อนภายใต้มูลนิธิรัฐบุรุษ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ มูลนิธิรักเมืองไทย มูลนิธิพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และมูลนิธิ “สานใจไทย สู่ใจใต้”

 


​เยาวชนเข้าร่วมกิจกรรมโครงการ “สานใจไทย สู่ใจใต้”รุ่นที่ 42 ได้ผ่านกระบวนการสรรหาเยาวชนในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จังหวัด ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล และสงขลา (เฉพาะอำเภอจะนะ นาทวี เทพา และสะบ้าย้อย) ซึ่งกำลังศึกษาในสถานศึกษาของรัฐและเอกชน จำนวน 319 คน เยาวชนที่ผ่านการคัดเลือกจะต้องเข้าร่วมกิจกรรมต่อเนื่องกันเป็นเวลาประมาณ 30 วัน โดยในแต่ละปีมีกำหนดจัดกิจกรรมในช่วงปิดภาคเรียนปีละ 2 รุ่น ช่วงปิดภาคเรียนที่ 1 ระหว่างเดือน กันยายน – ตุลาคม ช่วงปิดภาคเรียนที่ 2 ระหว่างเดือน เมษายน – พฤษภาคมโดยในรุ่นที่ 42 จะดำเนินการระหว่าง 17 เมษายน – 17 พฤษภาคม 2567

 


​โครงการ “สานใจไทย สู่ใจใต้” ดำเนินการในลักษณะของการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดยมีมูลนิธิ “สานใจไทย สู่ใจใต้” เป็นหน่วยประสานการขับเคลื่อน ซึ่งมีกิจกรรมโครงการที่สำคัญ ประกอบด้วยการเข้าค่ายเพื่อเปิดโลกทัศน์และเรียนรู้ในเรื่องต่างๆเช่น การอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประวัติศาสตร์ชาติไทย การเปิดโลกวิทยาศาสตร์ และส่วนที่สำคัญคือการพำนัก กับครอบครัวอุปถัมภ์เป็นเวลา 15 วันเพื่อให้รับประสบการณ์การใช้ชีวิตและทักษะในการปฏิบัติกับชุมชนเมื่อเยาวชน ได้เข้าร่วมโครงการ “สานใจไทยสู่ใจใต้” แล้วจะได้ความรู้ประสบการณ์วิถีชีวิตที่มีความหลากหลายและมีความเข้าใจ ถึงการอยู่ร่วมกันในแบบสังคมพหุวัฒนธรรม เป็นส่วนหนึ่งของพลังแผ่นดิน สามารถที่จะปรับตัวพร้อมเผชิญกับ  สิ่งท้าทายใหม่ๆ ในภายภาคหน้าด้วยความมั่นใจ และสามารถนำไปปรับใช้ในการพัฒนาตนเอง ชุมชน สังคมและประเทศชาติ ให้มีความเจริญก้าวหน้าและมีความปกติสุขตามปณิธานของพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองค์มนตรีและรัฐบุรุษ ว่า “เกิดมาต้องตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน”

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง