รีเซต

ประชุมสภา : จาก “ไม่เก่งเศรษฐิจ” ถึง “จอมโอนแห่งยุค” ฝ่ายค้านวิจารณ์หนักร่าง พ.ร.บ.โอนงบฯ คือ “อนุสาวรีย์ของความไร้ประสิทธิภาพ” ของ พล.อ.ประยุทธ์

ประชุมสภา : จาก “ไม่เก่งเศรษฐิจ” ถึง “จอมโอนแห่งยุค” ฝ่ายค้านวิจารณ์หนักร่าง พ.ร.บ.โอนงบฯ คือ “อนุสาวรีย์ของความไร้ประสิทธิภาพ” ของ พล.อ.ประยุทธ์
บีบีซี ไทย
4 มิถุนายน 2563 ( 13:59 )
144
ประชุมสภา : จาก “ไม่เก่งเศรษฐิจ” ถึง “จอมโอนแห่งยุค” ฝ่ายค้านวิจารณ์หนักร่าง พ.ร.บ.โอนงบฯ คือ “อนุสาวรีย์ของความไร้ประสิทธิภาพ” ของ พล.อ.ประยุทธ์

 

ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรอยู่ระหว่างการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ..... วงเงิน 88,452 ล้านบาท โดยที่รัฐบาลไม่ได้ขอสภาล่างพิจารณา 3 วาระรวด ทว่าฝ่ายค้านได้แสดงความกังวลใจต่อประสิทธิภาพและความโปร่งใสในการที่นายกรัฐมนตรีมีอำนาจใช้จ่ายงบก้อนนี้แต่เพียงผู้เดียว และไม่ผ่านการตรวจสอบของรัฐสภา

 

หากนำ "งบกลางใหม่" 88,452 ล้านบาท ไปรวมกับ "งบกลางเก่า" รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น 96,000 ล้านบาท ซึ่งตั้งไว้ใน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 จะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม มีอำนาจบริหารจัดงบประมาณถึง 184,452 ล้านบาท

 

ทว่าผู้นำสูงสุดของรัฐบาลเพิ่งยอมรับเองว่าไม่เก่งเศรษฐกิจ แต่ "จริงใจและไม่แก้ปัญหาแบบมักง่าย" ทำให้ ส.ส.ฝ่ายค้านพากันวิพากษ์วิจารณ์เกลี่ยงบและจัดการงบของรัฐบาล

 

ร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณฯ มีเนื้อหา 5 มาตรา จำนวน 53 หน้า โดย พล.อ.ประยุทธ์ใช้เวลาเพียง 7 นาทีในการนำเสนอหลักการ โดยระบุว่าสาเหตุที่ต้องโอนงบของหน่วยรับงบประมาณบางรายการไปตั้งไว้เป็นงบกลาง เพราะงบกลางก้อนเดิมที่ตั้งไว้ "ไม่เพียงพอ" ต่อการนำไปใช้จ่ายสนับสนุนในการแก้ไขปัญหาและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19)

 

พล.อ.ประยุทธ์ย้ำว่า ร่างกฎหมายนี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ปัญหา 3 อย่างได้แก่ ปัญหาโควิด-19, ป้องกันเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยพิบัติ/ภัยแล้ง และใช้ในกรณีมีเหตุฉุกเฉินหรือจำเป็นอื่นๆ

 

"จอมโอนแห่งยุค"

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย (พท.) อภิปรายว่าไม่สามารถรับหลักการร่างกฎหมายฉบับนี้ได้ เนื่องจากขัดกับหลักการประชาธิปไตยและขัดแย้งกับกฎหมายอื่น โดยถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทยที่สภาที่มาจากการเลือกตั้งต้องพิจารณาร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณฯ เพราะ 5 ครั้งก่อนหน้านั้น เป็นสภาที่ไม่ได้มาจากประชาชน และเป็นการพิจารณาแบบ 3 วาระรวด

 

ที่น่าสนใจคือการโอนเข้างบกลางถึง 4 ครั้งเกิดขึ้นในรัฐบาล "ประยุทธ์ 1" รวมวงเงินกว่า 5.3 หมื่นล้านบาท ทำให้ ส.สฝ่ายค้านรายนี้ตั้งฉายาให้นายกฯ ว่า "จอมโอนแห่งยุค"

 

ย้อนสถิติรัฐบาลชงสภาผ่านกฎหมายโอนงบประมาณฯ"

  

2507 จอมพลถนอม กิตติขจร

160 ล้านบาท

2558 พล.อ.ประยุทธ์

7,917 ล้านบาท

2559 พล.อ.ประยุทธ์

22,106 ล้านบาท

2560 พล.อ.ประยุทธ์

11,866 ล้านบาท

2561 พล.อ.ประยุทธ์

10,000 ล้านบาท

 

"เมื่อนำงบกลางทั้ง 2 ก้อนมารวมกัน จะพบว่าเป็นเม็ดเงินกว่า 1.84 แสนล้านบาท โดย พล.อ.ประยุทธ์เอาไปใช้แต่เพียงผู้เดียวเลย... หลักประชาธิปไตยต้องตรวจสอบได้ โปร่งใส" นพ.ชลน่านกล่าว

 

แม้เปรียบเปรยว่าการทำหน้าที่ว่าเหมือน "มัดมือสภาให้อนุมัติ" แต่ นพ.ชลน่านก็แย้มว่าการลงมติในวาระแรก "อาจปล่อยผ่านไปก่อน" แล้วไปรอดูรายละเอียดในชั้นต่อไป หากไม่มีการแก้ไขก็ต้องโหวตคว่ำแม้จะแพ้ แต่ต้องบันทึกเอาไว้

 

"อนุสาวรีย์ของความไร้ประสิทธิภาพ"

ขณะที่นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ระบุว่าเห็นความจำเป็นในการโอนงบบางส่วนไปสู่ "งบกลางใหม่" เนื่องจากงบกลางเดิมถูกใช้ไปหมดแล้ว และงบปี 2563 ก็ถูกคิดบนพื้นฐานก่อนเกิดโควิด-19 แต่ข้อตั้งข้อสังเกตไว้ 4 ข้อ

 

  • โอนล่าช้า - "ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ถือเป็นอนุสาวรีย์ของความไร้ประสิทธิภาพในการบริหารราชการแผ่นดินของ พล.อ.ประยุทธ์ เพราะเต็มไปด้วยความล่าช้า เพราะเต็มไปด้วยความล่าช้า มติ ครม. ให้โอนงบตั้งแต่ 7 เม.ย. แล้ว"
  • โอนน้อย - "งบที่มีประโยชน์ต่อประชาชนถูกตัดยับ แต่งบที่มีเอกชนมารองรับไม่ตัดเลย สุดท้ายพอไม่ตัดก็ต้องไปชักดาบ ไปตัดงบที่ตั้งไว้ชำระคืนเงินกู้ของรัฐ 3.5 หมื่นล้านบาท ปล่อยให้หนี้งอก ดอกบาน" ทั้งนี้เขาได้ยกตัวอย่างโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา (MRO) ของกองทัพเรือ ซึ่งควรยกเลิก แต่กลับดำเนินการต่อไป ทั้งที่การบินไทยเข้าสู่แผนฟื้นฟูแล้ว ส่วนบริษัทแอร์บัสก็ถอนตัวไปแล้ว
  • โอนทะลุกรอบ - คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐที่มี พล.อ.ประยุทธ์เป็นประธาน ได้ออกประกาศขยายสัดส่วนการตั้งงบกลาง จากเดิมไม่เกิน 3.5% ของงบรายจ่ายประจำปี ขยับเพดานเป็น 7.5% เพือมารองรับกฎหมายนี้ จึงอยากสอบถามว่าประกาศนี้จะเป็นภาวะชั่วคราว หรือถาวรเพราะไม่ได้บอกว่าจะสิ้นสุดเมื่อไร
  • โอนไม่จริง - หากเห็นตัวเลขการโอนงบของของกระทรวงกลาโหมอาจหลงดีใจว่ากองทัพยอมตัดงบของตัวเอง ยอมไม่ซื้ออาวุธเพราะเห็นแก่ความเดือนร้อนประชาชน แต่จริง ๆ เป็นการ "เล่นแร่ แปรธาตุ แหกตาประชาชน" เพราะงบ 40% ที่กระทรวงกลาโหมโอนออกเป็นการ "ดาวน์น้อย ผ่อนหนัก" กล่าวคือไม่ได้ยกเลิกโครงการไป ยังดำเนินการต่อในปี 2563-2565 เช่น โครงการจัดหายานเกราะสไตเกอร์ของกองทัพบก (ทบ.) มูลค่า 4,515 ล้านบาท, โครงการจัดหาเครื่องบินใช้งานทั่วไปของ ทบ. มูลค่า 1,350 ล้านบาท และโครงการจัดหาเครื่องบินฝึกทดแทน บ.ฝ. ของกองทัพอากาศ มูลค่า 5.195 ล้านบาท

 

"นี่คือผลจากการที่เรามีอดีต ผบ.ทบ. เป็นเจ้ากระทรวงกลาโหม หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ และหัวหน้ารัฐบาล" นายพิจาร์กล่าวและยังเรียกร้องให้นายกฯ ทบทวนความมั่นคงในความหมายใหม่

 

ภท. ข้องใจทำไมต้องตัดงบลงทุนปี 63 ไปไว้ในงบกลางที่ขาดแผนงานรองรับ

ด้านนักการเมืองพรรคร่วมรัฐบาล นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ตั้งคำถามว่าร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณฯ "สำคัญแค่ไหน" และ "ช้าไปหรือไม่" กับการที่สภาจะมาพิจารณากันตอนนี้ เพราะถ้าเป็นเมื่อเดือน มี.ค. เข้าใจว่าสำคัญมากเนื่องจากรัฐบาลต้องนำเงินส่วนนี้ไปเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่ขณะนี้เดือน มิ.ย. กว่าร่างกฎหมายฉบับนี้จะผ่านสภาและผ่านวุฒิสภา ไม่รู้ว่าสิ้นเดือนจะเสร็จหรือไม่ จึงเหลือเวลาเพียง 3 เดือนในการนำเงินไปใช้

 

นายภราดรยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า งบของหน่วยขอรับงบประมาณที่ถูกตัดมาเป็นงบกลาง 88,452 ล้านบาท บางส่วนเป็นงบลงทุน ขณะที่ใน พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท บางส่วนก็เตรียมจัดสรรกลับไปให้หน่วยงานต่าง ๆ สำหรับการลงทุน จึงไม่ทราบว่าจะทำแบบนี้ไปเพื่ออะไร เพราะแทนที่จะได้ลงทุนตั้งแต่ตอนนี้ กลับต้องรอเงินกู้มาโปะ แล้วไปทำในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า ไปกลับก็ล่าช้าไป 6 เดือน

 

"ในเงิน 8 หมื่นล้านนี้ ไม่สามารถตัดลดได้เลยในชั้นกรรมาธิการ เท่ากับว่าเรากำลังเอาเงินที่มีแผนงานชัดเจน ดึงไปไว้เป็นงบกลางที่ไม่มีแผนอะไรรองรับเลย แล้วรอภาวะฉุกเฉินค่อยใช้หรือ แต่ถ้าใช้ไม่หมดก็ต้องคืนคลัง ซึ่งทำให้รอบการหมุนของเศรษฐกิจที่มีแผนอยู่แล้วต้องหยุดชะงักไป" นายภราดรกล่าว

 

เขายังเรียกร้องให้นายกฯ ลุกขึ้นยืนยันในสภาว่างบ 8 หมื่นล้านบาท จะเอาไปใช้แก้ปัญหาโควิดเป็นหลัก ไม่ใช้เพื่อเหตุผลอื่น ไม่ช่นนั้นงบที่หน่วนราชการตัดมาให้เป็นงบกลาง ก็จะสูญเปล่า

 

กลาโหมหั่นงบอกอจากอ้อมอกสูงสุด 1.7 หมื่นล้านบาท

สำหรับงบประมาณที่ 20 กระทรวงได้โอนออกจากอ้อมอก เพื่อไปตั้งเป็น "งบกลางใหม่" พบว่า กระทรวงกลาโหมยอมปรับลดงบสูงสุดกว่า 14%

 

หน่วยขอรับงบประมาณ

วงเงินที่โอนไปเป็นงบกลาง

1. กระทรวงกลาโหม

17,700 ล้านบาท

2. กระทรวงศึกษาธิการ

4,746 ล้านบาท

3. กระทรวงคมนาคม

3,427 ล้านบาท

4. กระทรวงมหาดไทย

2,057 ล้านบาท

5. กระทรวงสาธารณสุข

1,356 ล้านบาท

6. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม

1,254 ล้านบาท

7. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

1,153 ล้านบาท

8. สำนักนายรัฐมนตรี

1,065 ล้านบาท

9. กระทรวงการคลัง

778 ล้านบาท

10. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

641 ล้านบาท

11. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

571 ล้านบาท

12. กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

506 ล้านบาท

13. กระทรวงยุติธรรม

384 ล้านบาท

14. กระทรวงพาณิชย์

277 ล้านบาท

15. กระทรวงวัฒนธรรม

203 ล้านบาท

16. กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

192 ล้านบาท

17. กระทรวงอุตสาหกรรม

139 ล้านบาท

18. กระทรวงการต่างประเทศ

62 ล้านบาท

19. กระทรวงพลังงาน

37 ล้านบาท

20. กระทรวงแรงงาน

22 ล้านบาท

มา : บีบีซีไทยสรุปจากร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ..... ที่ ครม. เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 4 มิ.ย. 2563

 

รัฐบาลไม่ขอสภาผ่าน 3 วาระรวด

ร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณฯ ถือเป็นกฎหมายการเงินฉบับที่ 4 ที่รัฐบาลออกมาเพื่อรับมือกับวิกฤตโควิด-19 โดยก่อนหน้านี้ รัฐสภาเพิ่งอนุมัติพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การเงิน 3 ฉบับ วงเงินรวม 1.9 ล้านล้านบาท ให้เป็น พ.ร.บ. หลังจาก ส.ส. และ ส.ว. ใช้เวลาอภิปรายนาน 7 วัน

 

BBC

คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) และคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ได้ตกลงกันว่าจะใช้เวลาอภิปรายเพียง 1 วัน แบ่งเป็นเวลาของฝ่ายค้าน 6 ชม. และเวลาของ ครม. และพรรคร่วมรัฐบาล 4 ชม. จากนั้นให้ลงมติวาระแรก ขั้นรับหลักการ ภายในเวลา 20.00 น. ของวันนี้ (4 มิ.ย.) และตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ 49 คนเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ต่อไป นั่นหมายความว่ารัฐบาลไม่ได้ขอให้สภาพิจารณา 3 วาระรวดแต่อย่างใด

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง