รีเซต

'การบินไทย' เตรียมขอศาลเลื่อนยื่นแผนฟื้นฟูฯ ออกไป 1 เดือน เหตุแผนเสร็จไม่ทันกำหนด

'การบินไทย' เตรียมขอศาลเลื่อนยื่นแผนฟื้นฟูฯ ออกไป 1 เดือน เหตุแผนเสร็จไม่ทันกำหนด
มติชน
26 มกราคม 2564 ( 17:16 )
72

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การบินไทยไม่สามารถส่งแผนฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางได้ทันตามกำหนดคือในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564

ดังนั้นในสัปดาห์นี้ การบินไทยจึงเตรียมที่จะยื่นต่อศาลล้มละลายกลาง เพื่อขอขยายระยะเวลาส่งแผนฟื้นฟูกิจการออกไปอีก 1 เดือน โดยจะเป็นการยื่นขอขยายระยะเวลาเป็นครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายที่สามารถดำเนินการได้

 

ทั้งนี้หากศาลฯพิจารณาอนุมัติคาดว่าจะสามารถส่งแผนฟื้นฟูได้ในช่วง ปลายเดือนกุมภาพันธ์ หรือ ต้นเดือนมีนาคม 2564

ด้าน พลอากาศเอก ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน ประธานกรรมการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ความคืบหน้าของการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งดำเนินการโดยคณะผู้จัดทำแผนรวม 6 คน และบริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด ร่วมกับที่ปรึกษาด้านกฏหมาย ที่ปรึกษาทางด้านธุรกิจการบิน และที่ปรึกษาทางด้านการเงิน โดยการจัดทำแผนฟื้นฟูฯ ประกอบด้วยแผนหลัก 2 ส่วน คือ

 

1.แผนธุรกิจ ประกอบด้วยแผนในการจัดหารายได้ ลดรายจ่าย ปรับปรุงกระบวนการทำงาน ตลอดจนปรับโครงสร้างองค์กรให้มีความเหมาะสมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เตรียมความพร้อมรองรับการดำเนินธุรกิจในอนาคตอย่างยั่งยืน ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการตามแผนงานไปแล้วบางส่วน อาทิ โครงการขอความร่วมมือพนักงานลาหยุดโดยไม่รับค่าตอบแทน โครงการเสียสละเพื่อองค์กร เพื่อลดต้นทุนด้านบุคลากร เป็นต้น โดยในส่วนของแผนธุรกิจนี้ ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ เกือบสมบูรณ์แล้ว

2.แผนการเงิน ประกอบด้วย แผนการปรับโครงสร้างหนี้และโครงสร้างทุน ซึ่งบริษัท การบินไทยฯ มีเจ้าหนี้จำนวนมาก การชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูฯ จึงต้องเป็นธรรมกับเจ้าหนี้ทุกฝ่าย โดยขณะนี้ อยู่ระหว่างขั้นตอนการตรวจสอบคำขอรับชำระหนี้เพื่อให้มั่นใจว่า หนี้ที่มีสิทธิได้รับชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูฯ นั้นเป็นหนี้ที่ถูกต้อง ในขณะเดียวกันจำเป็นต้องจัดทำแบบจำลองทางการเงิน เพื่อกำหนดรูปแบบการปรับโครงสร้างทุน โครงสร้างหนี้ และการจัดสรรการชำระหนี้ในรูปแบบต่างๆ เพื่อเสนอให้เจ้าหนี้พิจารณาต่อไป

 

พลอากาศเอก ชัยพฤกษ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ บริษัท การบินไทยฯ ได้พิจารณาว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินมืออาชีพ ตามระเบียบจัดซื้อจัดจ้าง และหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกของบริษัทฯ ซึ่งเป็นไปอย่างโปร่งใส เพื่อมาเป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำ ทั้งในปัจจุบันและอนาคตของการบินไทย โดยมีกรอบงบประมาณการว่าจ้างไม่เกิน 60 ล้านบาท และมีระยะเวลาในการทำงานจนกว่าศาลฯ จะให้ความเห็นชอบกับแผนฟื้นฟูฯ โดยบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินดังกล่าว จะไม่มีหน้าที่ติดต่อหาแหล่งเงินทุนใหม่ให้กับบริษัทฯ แต่อย่างใด

ดังนั้น กรณีที่มีข่าวเรื่องการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน โดยมีค่าตอบแทนสูงถึง 630 ล้านบาท นั้น จึงไม่เป็นความจริง ในส่วนขอบเขตการจัดหาแหล่งเงินทุนหรือผู้ลงทุนรายใหม่ จะดำเนินการว่าจ้างหลังจากแผนฟื้นฟูฯ ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมเจ้าหนี้และศาลแล้ว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง