รีเซต

ย้อนดูผลงานรัฐบาลแพทองธาร ผ่านไปแล้ว 90 วัน ทำอะไรไปแล้วบ้าง

ย้อนดูผลงานรัฐบาลแพทองธาร ผ่านไปแล้ว 90 วัน ทำอะไรไปแล้วบ้าง
TNN ช่อง16
10 ธันวาคม 2567 ( 10:22 )
18

น.ส. แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี   ประกาศเตรียมแถลงผลงานรัฐบาล 90 วัน และทิศทางของประเทศไทยในปี 2568 ในวันที่ 12 ธันวาคม 2567 นี้ โดยตลอดระยะเวลาการเข้ามาบริหารราชการแผ่นดินด้วยการรับไม้ต่อจากรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน รัฐบาลได้ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปแล้วรวม 12 ครั้ง และผลักดันโครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจออกมาหลายโครงการ โดยมีวงเงินรวมกันอย่างน้อย 3 แสนล้านบาท ทั้งงบประมาณ และวงเงินสินเชื่อ 


การประชุมครม.นัดแรกในวันที่ 7 กันยายน ถือเป็นการประชุมครม.นัดพิเศษ ยังไม่มีวาระพิจารณาโครงการสำคัญด้านเศรษฐกิจ เพราะส่วนใหญ่เป็นการรายงานแนวทางการบริหารราชการแผ่นดิน ทั้งแนวทางการประชุมคณะรัฐมนตรีและการเสนอเรื่องต่อครม. การมอบหมายให้รองนายกฯ และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ รวมไปถึงการจัดทำคำแถลงนโยบายต่อรัฐสภา


17 กันยายน เป็นการประชุมครม. ชุดใหญ่อย่างเป็นทางการ มีการเสนอโครงการสำคัญเข้ามาให้ครม.เห็นชอบคือ โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ หรือ การแจกเงิน 10,000 บาท ให้คนกลุ่มแรก 14.55 ล้านคน ซึ่งโครงการนี้แปลงร่างมาจากโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต หลังจากรัฐบาลก่อนหน้านี้ผลักดันออกมาไม่ทัน โดยครม.ได้อนุมัติวงเงินเอาไว้ก้อนใหญ่เพื่อใช้ในโครงการนี้กว่า 145,552 ล้านบาท 


พร้อมเห็นชอบการขยายระยะเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ (ภาษีแวต) ให้จัดเก็บในอัตรา ร้อยละ 7 ต่อไปอีก 1 ปี อนุมัติงบกลาง ให้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 5,924 ล้านบาท ยกระดับ 30 บาท รักษาทุกโรค “บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่” ประจำปีงบประมาณ 2567


24 กันยายน 2567 เริ่มมีวาระต่าง ๆ เสนอเข้ามายังที่ประชุมจำนวนมาก ทั้งโครงการใหม่และโครงการจากรัฐบาลเดิม ซึ่งการประชุมครม.ครั้งนี้ มีโครงการด้านเศรษฐกิจที่สำคัญคือ มาตรการพักชำระหนี้ ให้กับลูกหนี้รายย่อย ระยะที่ 2 และระยะที่ 3 และการพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ภายในกรอบวงเงินงบประมาณ รวม 22,972 ล้านบาท


นอกจากนี้อนุมัติงบกลาง วงเงิน 1,790 ล้านบาท ให้การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เป็นค่าใช้จ่าย ช่วยเหลือค่าไฟฟ้า  รวมทั้งยังอนุมัติงบกลาง อีกจำนวน 7,125 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายเงินอุดหนุนตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ หรือ มาตรการ EV3


จากนั้นในเดือนพฤศจิกายน มีโครงการสำคัญที่ผ่านมาการเห็นชอบจากครม. เช่น มาตรการสินเชื่อซื้อ – ซ่อม – สร้าง ของธนาคารอาคารสงเคราะห์ กรอบวงเงินสินเชื่อรวม 5หมื่น 5 พันล้านบาท โดยครม.อนุมัติงบประมาณวงเงินรวม 6,372 ล้านบาท เพื่อเป็นการสนับสนุนภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รองรับความต้องการที่อยู่อาศัยของประชาชน ส่งเสริม และสร้างโอกาสให้กับผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลางได้เข้าถึงสินเชื่อที่อยู่อาศัยภายใต้เงื่อนไขที่ผ่อนปรน 


ขณะที่ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน รัฐบาลได้จัดประชุม ครม.สัญจร เป็นครั้งแรก ที่จังหวัดเชียงใหม่ 29 พฤศจิกายน 2567 โดยมีการผลักดันโครงการเร่งด่วนลงไปยังจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย รวม 39 โครงการ กรอบวงเงิน 641 ล้านบาท เพื่อฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ส่วนใหญ่เป็นโครงการซ่อมแซมด้านการคมนาคม เขื่อนป้องกันตลิ่ง รวมทั้งระบบการระบายน้ำ และการฟื้นฟูเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว


การประชุมครม.สัญจรครั้งนี้ ยังมีไฮไลท์สำคัญนอกจากการเทงบลงไปในพื้นที่ คือ การอนุมัตินโยบายสำคัญด้านการลดภาระการเดินทางผ่าน นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ทั้งรถไฟชานเมืองสายสีแดง และรถไฟฟ้าสายสีม่วง ออกไปอีก 1 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2567 - 30 พฤศจิกายน 2568 โดยประมาณการว่ามีการสูญเสียรายได้ รถไฟชานเมืองสายสีแดง 35.35 ล้านบาท และรถไฟฟ้าสายสีม่วง 272.99 ล้านบาท 


นอกจากนี้ ครม.ยังเร่งดัน นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ โดยเห็นชอบการแต่งตั้งกรรมการผู้แทนฝ่ายรัฐบาลในคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 แทนตำแหน่งที่ว่างลง เพื่อเริ่มต้นการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง หรือบอร์ดไตรภาคี พิจารณาการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ วันละ 400 บาท ทั่วประเทศ ให้ทันวันที่ 1 มกราคม 2568 เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน


ภาพจาก: รัฐบาลไทย

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง