รีเซต

โรคหายาก! เด็กรู้สึกหิวตลอดเวลา แม้กินหลายมื้อก็ไม่อิ่ม พ่อแม่ถึงกับล็อกห้องครัว

โรคหายาก! เด็กรู้สึกหิวตลอดเวลา แม้กินหลายมื้อก็ไม่อิ่ม พ่อแม่ถึงกับล็อกห้องครัว
ข่าวสด
8 มีนาคม 2565 ( 15:31 )
185
โรคหายาก! เด็กรู้สึกหิวตลอดเวลา แม้กินหลายมื้อก็ไม่อิ่ม พ่อแม่ถึงกับล็อกห้องครัว

โรคหายาก! เด็กวัย 10 ปีรู้สึกหิวตลอดเวลา แม้กินหลายมื้อก็ไม่อิ่ม พ่อแม่ถึงกับล็อกห้องครัว ชี้เป็นโรครักษาไม่หายขาด

 

สำนักข่าวสิงคโปร์รายงาน เดวิด ซู เด็กชายวัย 10 ขวบป่วยเป็นโรคประหลาดหายากคือ มีความรู้สึกหิวโหยตลอดเวลา ไม่ว่าจะทานอาหารมากแค่ไหน เขาถูกกระตุ้นให้รู้สึกหิวอยู่เสมอ

 

ลองจินตนาการว่า ร่างกายอิ่มท้องด้วยอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการมากมาย แต่ไม่เคยสัมผัสได้ถึงความอิ่มเลยสักครั้งจะเป็นอย่างไร แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องน่ายินดี เนื่องจากเป็นความหิวที่ควบคุมไม่ได้ ทำให้เดวิดต้องต่อทนทุกข์ทรมานจากโรคซับซ้อนที่เกิดจากภาวะทางพันธุกรรมที่หายากติดตัวมาแต่กำเนิด เรียกว่ากลุ่มอาการพราเดอร์-วิลลี ( Prader-Willi syndrome หรือ PWS)

 

The Strait Times รายงาน ครอบครัวของเดวิดทำทุกวิธีทางในการควบคุมน้ำหนักไปจนถึงการล็อกประตูห้องครัว เพื่อป้องกันไม่ให้เขาทานอาหารมากเกินไป พวกเขาได้กำหนดตารางการกินที่เฉพาะเจาะจง เพื่อให้เดวิดรู้ว่าควรทานอาหารเวลาไหนและได้ทานขนมเมื่อไหร่

 

กลุ่มอาการพราเดอร์-วิลลี เป็นภาวะพัฒนาการทางระบบประสาทและพันธุกรรมที่ซับซ้อน เกิดจากความผิดปกติของโครโมโซมคู่ที่ 15 ส่งผลให้ผู้ป่วยรู้สึกหิวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหมายความว่าร่างกายจะไม่รู้สึกอิ่มหลังจากรับประทานอาหาร หรืออธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ คือ สมองไม่สั่งการร่างกายว่าอิ่มส่งผลให้เกิดการเพิ่มน้ำหนักจนเป็นสาเหตุจากภาวะโรคอ้วน

 

 

นอกจากนี้ หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการดูแล อาจเป็นอันตรายต่อตัวเองด้วยการทานอาหารที่เป็นอันตราย เช่น อาหารที่เน่าเสียหรือขยะในปริมาณที่มากเกินไป ซึ่งเป็นอันตรายต่อกระเพาะอาหาร พร้อมทั้งอาจมีพฤติกรรมที่ผิดปกติอื่น ๆ เช่น กักตุนอาหาร ขโมยอาหาร และขโมยเงินเพื่อซื้ออาหาร

 

ผลการวิจัยทางการแพทย์ได้บันทึกกรณีผู้ป่วย PWS จำนวนมากที่พัฒนาช่องวางในลำไส้ รวมไปถึงเนื้อร้ายของเนื้อเยื่อในกระเพาะอาหาร ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้แก่ อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และการถ่ายอุจจาระลดลง เหตุจากปริมาณอาหารที่ผิดธรรมชาติที่ทานเข้าไป

 

แม้ในปัจจุบันจะยังไม่มีวิธีรักษาโรคนี้ให้หายขาด แต่หากผู้ป่วยดูแลอาการอย่างถูกต้องควบคู่กับการฝึกทักษะรับมือความบกพร่องต่าง ๆ ตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ก็อาจช่วยให้สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ และอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้ดี

 

ขอบคุณที่มาจาก Timesnownews Odditycentral

ข่าวที่เกี่ยวข้อง