รีเซต

'โควิด' รอบนี้เชื้อลงปอดมากขึ้น ป่วยล้นไอซียู ตัวเลขโคม่าเปลี่ยน หวั่นกลายพันธุ์ เข้มชายแดนสกัดเชื้ออินเดีย

'โควิด' รอบนี้เชื้อลงปอดมากขึ้น ป่วยล้นไอซียู ตัวเลขโคม่าเปลี่ยน หวั่นกลายพันธุ์ เข้มชายแดนสกัดเชื้ออินเดีย
ข่าวสด
11 พฤษภาคม 2564 ( 14:45 )
54
'โควิด' รอบนี้เชื้อลงปอดมากขึ้น ป่วยล้นไอซียู ตัวเลขโคม่าเปลี่ยน หวั่นกลายพันธุ์ เข้มชายแดนสกัดเชื้ออินเดีย

'โควิด' รอบนี้เชื้อลงปอดมากขึ้น ผู้ป่วยล้นไอซียู ตัวเลขอาการโคม่าเปลี่ยน หวั่นกลายพันธุ์ จะดุและป้องกันยากขึ้น วอนฉีดวัคซีน เข้มชายแดนสกัดเชื้ออินเดียเข้า

 

 

วันที่ 11 พ.ค.64 ที่โรงแรมสุโกศล ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล พร้อมด้วย ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล และ ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ หารือร่วมกันถึงยุทธศาสตร์การฉีดวัคซีนโควิด-19 และการสื่อสารถึงประชาชนด้วยข้อมูลความรู้เกี่ยวกับวัคซีนที่มีความเป็นปัจจุบันมากที่สุด พร้อมรณรงค์การฉีดวัคซีนเพื่อเป็นการป้องกันตัวเอง คนในครอบครัว ชุมชน และประเทศชาติ

 

 

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า สถานการณ์โรคโควิด-19 รอบนี้มีจำนวนผู้ป่วยหนักต้องนอนไอซียูจำนวนมากขึ้น เป็นไปตามหลักการคำนวณจากการที่เราพบผู้ติดเชื้อมากขึ้น ที่ศิริราชเปิดไอซียูเพิ่มขึ้น 3 เท่า แต่ก็เต็มไม้เต็มมือ ถ้าเราไม่ช่วยกันอัตราการเสียชีวิตก็จะกระโดดมากขึ้น โดยเฉพาะขณะนี้มีความชัดเจนว่า นอกจากปัจจัยเรื่องสายพันธุ์แล้ว การมีคนไข้เยอะ คนที่ไปสถานที่เสี่ยงแล้วการ์ดตก โดยเฉพาะหนุ่มสาว ยิ่งตอนนี้เราค้นพบความชัดเจนว่า ความอ้วนก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีการเสียชีวิตด้วย

 

 

“การระบาดที่ผ่านมาจะมีตัวเลขผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรืออาการน้อย 80% คนมีอาการมาก 20% และในจำนวนนี้มี 5% ที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ แต่ล่าสุดตัวเลขเปลี่ยนแปลง คนที่ป่วยไม่มีอาการหรืออาการน้อย 70% อาการหนักเพิ่มเป็น 25-30% โดย 5% คือหนักมาก แปลว่าเมื่อเรามีผู้ป่วย 100 คน จะมีคนอาการหนัก 30 คน ถ้าเรามีผู้ป่วยพันคน ก็จะมีอาการหนัก 300 คน และถ้ามีหลักหมื่นคน เราจะมีคนอาการหนักกว่า 3 พันคน” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

 

 

ศ.นพ.ปิยะมิตร กล่าวว่า การระบาดรอบนี้มีการติดเชื้อเพิ่ม 15 เท่า มีคนต้องใส่ท่อช่วยหายใจทั่วประเทศกว่า 400 คน จากสถิติการเสียชีวิตในกลุ่มที่ใส่ท่อพบถึง 1 ใน 4 คน ดังนั้น คาดว่าเราจะมีคนเสียชีวิตอีกประมาณ 80-100 คน ดังนั้น ขอให้ประชาชนตระหนัก เฉพาะรพ.รามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ 140 ราย คนไข้หนัก 32 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 14 ราย นอกจากนี้ยังมีการเช่าโรงแรมทำเป็นฮอสพีเทล 2 แห่ง มีผู้ป่วยประมาณ 300 คน

 

 

ศ.นพ.สุทธิพงศ์ กล่าวว่า รพ.จุฬาฯ มีผู้ป่วยประมาณ 1 พันคน รวมที่รักษาหายแล้ว ตอนนี้รับผู้ป่วยใน รพ.ประมาณ 200 ราย ฮอสพิเทล 300-400 คน รอบนี้เจอผู้ป่วยเชื้อลงปอดมากกว่ารอบที่ผ่านมา ทำให้มีความต้องการไอซียูมากขึ้น แต่หากมีการฉีดวัคซีนกันมากขึ้นก็จะทำให้จำนวนคนติดเชื้อมีอาการรุนแรงน้อยลง โดยเฉพาะคนวัยทำงานที่ควรมาฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการนำไปติดคนในครอบครัว ที่ส่วนใหญ่เป็นคนสูงอายุ สถานการณ์ตอนนี้เหมือนสงครามที่เราต่อสู้กับข้าศึกที่มองไม่เห็น การฉีดวัคซีนเป็นการติดอาวุธป้องกันตัวเราเอง ป้องกันคนในครอบครัว เพื่อนร่วมงาน ประเทศชาติ

เมื่อถามถึงเชื้อกลายพันธุ์ ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ตอนนี้ก็เฝ้าระวังจับตากันอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะการเฝ้าระวังว่าจะเกิดสายพันธุ์ใหม่ในประเทศไทยหรือไม่ เนื่องจากการติดเชื้อจากคนหนึ่งไปยังคนหนึ่งนั้นตามรรมชาติไวรัสจะมีการพัฒนาตัวเองอยู่ตลอด ซึ่งในประเทศที่มีการระบาดมากๆ หลักหมื่นรายต่อวัน เป็นวงกว้าง และเป็นเวลานาน ก็มีโอกาสที่จะเกิดสายพันธุ์ใหม่ๆ ขึ้น แล้วยิ่งมีคนติดเชื้อมากก็ยิ่งทำให้อัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งเราไม่อยากจะเห็นสายพันธุ์ไทย (variant) ซึ่งตัวเลขผู้ติดเชื้อในไทยตอนนี้ยังไม่ถึงขั้นนั้น แต่เราต้องช่วยกันฉุดไม่ให้ตัวเลขมากขึ้น ไม่ให้มีการระบาดนาน ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันโรค

 

 

“การกลายพันธุ์เกิดขึ้นได้ โควิดเมื่อกลายพันธุ์แล้วมีโอกาสที่จะแพร่เชื้อได้เร็ว แข็งแรงมากขึ้น ป้องกันตัวเองได้ดีมากขึ้น ซึ่งไวรัสจะแตกต่างจากสัตว์ทั่วไป คือ เมื่อกลายพันธุ์แล้วจะดุขึ้น แต่จบเร็ว เพราะอยู่ในอากาศไม่ได้ แบ่งตัวเองไม่ได้ จึงต้องอาศัยการเข้าถึงตัวคน และเมื่อเข้าสู่ร่างกายคนแล้วก็ทำให้เสียชีวิตได้มากขึ้น ไวรัสเองก็จะตายเช่นกัน” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

 

 

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวต่อว่า สำหรับกรณีที่มีการระบาดเป็นกลุ่มก้อนพ่อค้าพลอยที่จันทบุรี ตอนนี้มีการตรวจสอบและยืนยันเป็นที่เรียบร้อยแล้วว่า ไม่ใช่สายพันธุ์อินเดียอย่างที่กังวลกัน คลัสเตอร์นี้ไม่น่าห่วง เนื่องจากมีข้อมูล มีชื่อ มีแหล่งที่อยู่ชัดเจน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่า สธ.ต้องมีมาตรการจัดการที่รวดเร็ว และสิ่งที่เรากังวลและมีการพูดคุยกันอยู่ตลอด คือ การเข้ามาของเชื้อกลายพันธุ์ตามแนวชายแดน เพราะเห็นว่าช่วงเวลาเพียง 4 เดือน มีรายงานคนลักลอบข้ามแดนผิดกฎหมายมากถึง 15,000 คน จึงต้องเข้มงวดตามแนวชายแดนไทยที่ติดกับพม่า มาเลเซีย และกัมพูชา ส่วนฝั่งลาวไม่ค่อยน่ากังวลเท่าไรนัก

 

 

"เส้นทางที่เชื้อไวรัสจากอินเดียจะสามารถเข้ามาในไทยได้ จะผ่านปากีสถาน พม่า และใช้เวลาเพียงไม่นาน หรือประมาณ 1 สัปดาห์ก็สามารถเดินทางมาถึงไทยได้ เพราะฉะนั้น ตามแนวชายแดนจะต้องมีการเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น" ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง