สคร.ชงผู้แทน”ธปท.-ก.ล.ต.”ร่วมบอร์ดบริหารหลักทรัพย์ของรัฐ

สคร.ชงผู้แทน”ธปท.-ก.ล.ต.”ร่วมบอร์ดบริหารหลักทรัพย์ของรัฐเสนอคลังพิจารณา หวังเร่งตัดขายหลักทรัพย์นอกตลาดที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ เพื่อนำรายได้ไปบริหารต่อ ล่าสุดมีหลักทรัพย์ในพอร์ต 137 แห่ง มูลค่ากว่า 3 หมื่นล้าน
#ทันหุ้น นายธิบดี วัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.)เปิดเผยว่า ขณะนี้ สคร.ได้เตรียมสรุปรายชื่อบุคคลที่จะเข้ามานั่งเป็นคณะกรรมการบริหารหลักทรัพย์ของรัฐเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณาอนุมัติการแต่งตั้งแล้ว โดยรายชื่อบุคคลจะมาจากผู้แทนส่วนงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) เป็นต้น
ทั้งนี้ การแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารหลักทรัพย์ของรัฐดังกล่าว เป็นไปตามนโยบายของนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อให้การบริหารหลักทรัพย์ของรัฐเกิดประโยชน์สูงสุด
เขากล่าวว่า การบริหารจัดการหลักทรัพย์ของรัฐในปัจจุบันนั้น จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ หลักทรัพย์ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ และ หลักทรัพย์ที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์ โดยในส่วนของหลักทรัพย์ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์นั้น จะมีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงการคลังเป็นผู้บริหาร แต่ในส่วนของหลักทรัพย์ที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์นั้น ทางสคร.จะเป็นผู้บริหารจัดการ
อย่างไรก็ดี ในส่วนหลักทรัพย์ที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์นั้น หากจะบริหารจัดการในลักษณะการขายออกไปในราคาที่ต่ำกว่าทุนนั้น จะเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะถือว่า ขายในราคาขาดทุน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะไม่เห็นด้วย ทำให้การตัดขายหลักทรัพย์ในราคาต่ำกว่าทุนไม่สามารถทำได้
ทั้งนี้ หลักทรัพย์ที่อยู่นอกตลาดส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดได้มาโดยนิติเหตุ โดยทยอยเพิ่มขึ้นตามคำตัดสินของศาล ปัจจุบันหลักทรัพย์ที่อยู่นอกตลาดมีอยู่จำนวน 137 แห่ง ในระยะ 2 ปีนี้ เพิ่มขึ้นมา 7 แห่ง มีมูลค่าประมาณ 3 หมื่นล้านบาท
“หลักทรัพย์ที่อยู่นอกตลาดดังกล่าวนั้น บางแห่งไม่ได้มีมูลค่าเพิ่ม ในทางกลับกัน ได้สร้างภาระให้กับรัฐ เช่น บางแห่งจะต้องเสียค่าดูแลรักษา รวมถึง ค่าส่วนกลาง ยกตัวอย่าง หลักทรัพย์ที่ได้มาจากการยึดทรัพย์ ซึ่งเป็นธุรกิจอาบอบนวด ปัจจุบันธุรกิจดังกล่าวอยู่ในช่วงขาลง ทำให้เราไม่สามารถขายออกไปในราคาทุนเดิมได้ เป็นต้น”
เขากล่าวด้วยว่า คณะกรรมการบริหารหลักทรัพย์ของรัฐจะเข้ามาทำหน้าที่กลั่นกรอง ประเมินและบริหารหลักทรัพย์ โดยนำหลักเศรษฐศาสตร์เข้ามาร่วมบริหาร เช่น หลักทรัพย์ใดที่เห็นว่า ควรตัดขายออกไป เพื่อนำรายได้ที่ได้จากการขายหลักทรัพย์ไปบริหารจัดการให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น แม้จะมีราคาที่ต่ำกว่าทุน ก็สามารถดำเนินการได้ เป็นต้น
“วิธีคิดในปัจจุบันที่บอกว่า ถ้าเราขายแล้วขาดทุน ก็ไม่ควรขายออกไป แต่หลักทรัพย์บางแห่งเราประเมินแล้วว่า ไม่มีโอกาสที่มูลค่าจะเพิ่ม ถ้าเราปล่อยไป มูลค่าก็จะลดลงไปอีก แต่ถ้าเราตัดขายออกไป และนำรายได้ที่ได้ มาบริหารจัดการต่อ เราก็จะมีรายได้ที่มาทดแทนหรือได้มากกว่าส่วนที่ขายขาดทุนหรือค่าเสียโอกาส”