รีเซต

‘ประมง’ เร่งประชาสัมพันธ์ออกใบอนุญาต-หลักเกณฑ์การทำประมงพาณิชย์ รอบปี’65-66

‘ประมง’ เร่งประชาสัมพันธ์ออกใบอนุญาต-หลักเกณฑ์การทำประมงพาณิชย์ รอบปี’65-66
มติชน
1 กุมภาพันธ์ 2565 ( 14:58 )
108

ข่าววันนี้ นายถาวร ทันใจ รองอธิบดีกรมประมง ในฐานะโฆษกกรมประมง เปิดเผยว่า เนื่องจากรอบปีการประมง 2563-64 กำลังจะใกล้สิ้นสุดลงในวันที่ 31 มีนาคม 2565 ดังนั้น กรมจึงได้มีการเปิดให้ยื่นขอรับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ สำหรับปีการประมงรอบใหม่ (2565-66) ตั้งแต่วันที่ 4-28 กุมภาพันธ์ 2565  โดยในการออกใบอนุญาตนั้น ได้มีการออกประกาศกรมประมง เรื่อง แนวทางในการออกใบอนุญาต และหลักเกณฑ์การจัดสรรใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ สำหรับปีการประมง 2565-2566 พ.ศ.2565 ลงวันที่ 14 มกราคม 2565 เพื่อความชัดเจนในการดำเนินการ   

 

นายถาวร กล่าวอีกว่า โดยมีการกำหนดพื้นที่ทำการประมง ออกเป็น 2 พื้นที่ คือ พื้นที่ฝั่งอ่าวไทย และทะเลอันดามัน และกำหนดเครื่องมือทำการประมงตามประสิทธิภาพการจับสัตว์น้ำ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มเครื่องมือทำการประมงที่มีประสิทธิภาพสูง จำนวน 8 เครื่องมือ ได้แก่ อวนลากคู่ อวนลากแผ่นตะเฆ่ อวนลากคานถ่าง อวนล้อมจับ อวนล้อมจับปลากะตัก อวนครอบปลากะตัก อวนช้อน/ยกปลากะตัก และเรือประกอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (เรือปั่นไฟ) และกลุ่มเครื่องมือทำการประมงที่มีประสิทธิภาพต่ำ จำนวน 15 เครื่องมือ ได้แก่ อวนครอบหมึก อวนช้อนปลาจะละเม็ด อวนติดตา อวนรุนเคย คราดหอยลาย คราดหอยแครง คราดหอยอื่น ลอบปลา ลอบปู ลอบหมึก ลอบหมึกสาย เบ็ดราว แผงยกปูจักจั่น เบ็ดมือ และเครื่องมืออื่น

 

นายถาวร กล่าวว่า สำหรับหลักเกณฑ์ในการจัดสรรใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ มีดังนี้ 1.เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพต่ำ สามารถขอได้ไม่เกิน 3 เครื่องมือ (ไม่รวมเบ็ดมือ) ให้ทำประมงได้ครั้งละ 1 เครื่องมือ (ไม่รวมเบ็ดมือ) และ 2.เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถขอได้ไม่เกิน 2 เครื่องมือ (ไม่รวมเบ็ดมือ) ให้ขอเครื่องมือประสิทธิภาพสูง 1 เครื่องมือ และเครื่องมือประสิทธิภาพต่ำ 1 เครื่องมือ โดยเครื่องมือประสิทธิภาพต่ำที่สามารถขอร่วมกับเครื่องมือประสิทธิภาพสูงได้ มีจำนวน 8 เครื่องมือเท่านั้น ประกอบด้วย อวนครอบหมึก แผงยกปูจักจั่น ลอบปู ลอบปลา ลอบหมึก เบ็ดราว อวนติดตา และอวนช้อนปลาจะละเม็ด และทำการประมงได้ ครั้งละ 1 เครื่องมือ (ไม่รวมเบ็ดมือ) 

 

สำหรับเกณฑ์ในการพิจารณาจัดสรรใบอนุญาต พิจารณาจัดสรรตามลำดับ ดังนี้

 

เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพต่ำ

1.ผู้ที่ขอเปลี่ยนเครื่องมือทำการประมงที่มีประสิทธิภาพสูงไปยังเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพต่ำ

 

2.ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพต่ำ ในปีการประมง 2563-2564 ที่ใบอนุญาตยังมีผลใช้บังคับ 

 

3.เรือประมงที่จดทะเบียนเรือไทยขนาดตั้งแต่ 10 ตันกรอสขึ้นไปที่มีประเภทการใช้เรือเป็นทำการประมง หรือทำการประมง (ปั่นไฟ) ที่ไม่มีใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ ณ วันที่ยื่นคำขอ

 

เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูง

1.ผู้ที่เปลี่ยนเครื่องมือทำการประมงที่มีประสิทธิภาพสูงไปยังเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูงชนิดอื่นซึ่งมีประสิทธิภาพต่ำกว่า ในกลุ่มสัตว์น้ำเดียวกัน และพื้นที่เดียวกัน

 

2.ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์เครื่องมือประสิทธิภาพสูงในปีการประมง 2563-2564 ที่ใบอนุญาตยังมีผลใช้บังคับ    

 

3.ผู้ที่เคยได้รับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ แต่ไม่มีใบอนุญาต/ใบอนุญาตสิ้นผล ในรอบปีการประมง 2563-2564 เนื่องจากถูกดำเนินคดีต่อมาภายหลังคดีถึงที่สุดโดยศาลมิได้มีคำพิพากษาอย่างใดอย่างหนึ่ง ตามมาตรา 39 (1) โดยขอใช้เครื่องมือทำการประมงเดิมและเรือประมงลำเดิม      

 

4.ผู้ที่เคยได้รับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ และเป็นผู้ได้รับคำสั่งมาตรการทางปกครอง ต่อมาภายหลังคำสั่งดังกล่าวสิ้นผลลงโดยการเพิกถอนคำสั่งแล้ว เนื่องจากมีข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไปและปรากฏว่าผู้นั้นมิได้กระทำความผิด โดยขอใช้เครื่องมือทำการประมงเดิมและเรือประมงลำเดิม   

   

5.ผู้ที่เคยได้รับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ ซึ่งเป็นผู้ที่ศาลพิพากษาหรือถูกคำสั่งมาตรการทางปกครอง ที่มีผลทำให้เป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 39 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ต่อมาภายหลังคำสั่งดังกล่าวสิ้นผลลงตามระยะเวลาที่กำหนด ณ วันที่ยื่นคำขอรับใบอนุญาต โดยขอใช้เครื่องมือทำการประมงเดิมและเรือประมงลำเดิม

6.ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ ในปีการประมง 2563 – 2564 และประสงค์เปลี่ยนพื้นที่การทำการประมง โดยการเปลี่ยนพื้นที่การทำการประมงจะต้องไม่มีผลกระทบต่อปริมาณสัตว์น้ำสูงสุดที่สามารถทำการประมงได้อย่างยั่งยืนในพื้นที่ที่ผู้ขออนุญาตประสงค์จะไปทำการประมง กรณีไม่ได้รับอนุญาตในพื้นที่ที่ประสงค์จะไปทำการประมง ให้ผู้ขอรับอนุญาตได้รับการจัดสรรใบอนุญาตตามสิทธิเดิมที่เคยได้รับในรอบปีการประมง 2563 – 2564        

 

7.ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์เดิม ในรอบปีการประมง 2563-2564 ที่มีการแจ้งเรือจม อับปาง หรือไฟไหม้และเจ้าท่าเพิกถอนทะเบียนเรือ และถูกเพิกถอนใบอนุญาตทำการประมง โดยเรือที่นำมาแทนต้องมีขนาดตันกรอสไม่เกินร้อยละ 10 ของเรือลำเดิมและต้องผ่านการพิจารณาของคณะทำงานพิจารณากลั่นกรองเรือที่แจ้งจม อับปาง หรือไฟไหม้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะทำงานฯ กำหนด โดยในการอนุญาตให้มีการนำเรือมาแทนต้องไม่กระทบต่อปริมาณสัตว์น้ำสูงสุดที่จะอนุญาตให้ทำการประมงได้อย่างยั่งยืน

 

8.ผู้ที่ใช้เรือประมงที่มีขนาดต่ำกว่า 10 ตันกรอส ที่ใช้เครื่องมืออวนล้อมจับปลากะตักอยู่เดิม ในบริเวณพื้นที่เกาะยาว จังหวัดพังงา ก่อนประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดให้การใช้เรือประมงทุกขนาดประกอบเครื่องมือทำการประมงบางประเภทเป็นประมงพาณิชย์ พ.ศ. 2560 ลงวันที่ 15 ธันวาคม 2560 มีผลใช้บังคับ และไม่สามารถขอรับใบอนุญาตได้ตามหลักเกณฑ์การจัดสรรใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ รอบปีการประมง 2561 – 2562 โดยได้รับการรับรองจากคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดพังงาว่าเป็นผู้ที่ใช้เรือประมงดังกล่าวใช้ทำการประมงอวนล้อมจับปลากะตักก่อนออกประกาศดังกล่าวจริง

 

9.ผู้ที่ใช้เครื่องมือเรือประกอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (เรือปั่นไฟ) อยู่เดิม ในบริเวณพื้นที่จังหวัดปัตตานี ก่อนประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดให้การใช้เรือประมงทุกขนาดประกอบเครื่องมือทำการประมงบางประเภทเป็นประมงพาณิชย์ พ.ศ. 2560 ลงวันที่ 15 ธันวาคม 2560 มีผลใช้บังคับ และไม่สามารถขอรับใบอนุญาตได้ตามหลักเกณฑ์การจัดสรรใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ รอบปีการประมง 2561 – 2562 โดยได้รับการรับรองจากคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดปัตตานีว่าเป็นผู้ที่ใช้เรือประมงดังกล่าวทำการประมงเรือประกอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (เรือปั่นไฟ) จริง     

   

“การดำเนินการต่างๆ ในการกำหนดหลักเกณฑ์การจัดสรรการออกใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ กรมประมงมีการดำเนินการอย่างมีส่วนร่วมกับพี่น้องชาวประมง เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรที่ยั่งยืน ตามนโยบาย นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองบริหารจัดการทรัพยากรและกำหนดมาตรการ กรมประมง หรือสอบถามผ่านช่องทางออนไลนืได้ที่ คลินิกประสานงานการขอรับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์” นายถาวร กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง