รีเซต

ทำความรู้จัก “Lottocracy” การใช้ “หวย” วัดดวงเลือกตั้ง ที่ให้โอกาสทุกคนกุมอำนาจรัฐ

ทำความรู้จัก “Lottocracy” การใช้ “หวย” วัดดวงเลือกตั้ง ที่ให้โอกาสทุกคนกุมอำนาจรัฐ
TNN ช่อง16
11 มิถุนายน 2567 ( 17:24 )
26

หากพูดถึงหวย หรือล็อตเตอรีแล้ว ส่วนมากผู้คนจะคิดว่า เป็นเรื่องของการพนันและอบายมุข มอมเมา หลงงมงาย และเสียทรัพย์โดยใช่เหตุ


แต่ในอดีต มีการใช้หวยเพื่อคัดเลือกผู้แทนเข้าไปดำรงตำแหน่งในสภาของอาณาจักรแห่งหนึ่งมาแล้ว


เหตุใดหวยจึงเข้ามาข้องเกี่ยวกับการบริหารบ้านเมืองและการเมืองของประเทศ ติดตามได้ในบทความนี้


ผู้แทนแบบสุ่ม


โลกนี้เกินกว่าครึ่งใช้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยโดย “ระบบเลือกตั้ง (Psephocracy)” หรือก็คือ การได้มาของผู้แทนในสภา จากการที่ประชาชนออกไปใช้สิทธิกาบัตรเลือกตั้ง เพื่อเลือกผู้แทนที่ผ่านคุณสมบัติ หรืออาจจะมีคุณสมบัติมากกว่าเรา เข้าไปทำหน้าที่แทนเราทั้งในการบริหารหรือการตรวจสอบทุจริต


แต่ในสมัยก่อน ระบบการได้มาซึ่งผู้แทนไม่ได้จำกัดอยู่เพียงการลงคะแนนเลือกตั้ง เพราะมีอีกหลากหลายวิธีที่จะได้มาซึ่งผู้แทน ไม่ว่าจะเป็นการให้สิทธิคนรวยเข้าไปทำหน้าที่แบบไม่มีเงื่อนไข (Restrict Suffrage) การให้สิทธิลงคะแนนของคนรวยมากกว่าคนจน 2 เท่า (Plural Voting) [1 คน 2 เสียง] หรือการตอบคำถามวัดความรู้ให้ผ่านเกณฑ์ก่อนจึงจะได้สิทธิเป็นผู้แทน (Simulated Oracle)


แต่ระบบที่ได้รับความนิยมมากที่สุด นำมาใช้ปฏิบัติแบบจริงจังมากที่สุด นั่นคือ ระบบเลือกตั้งผ่านการซื้อหวย หรือ “Lottocracy” หรือ “Sortition” ที่หมายถึง การได้มาซึ่งผู้แทนผ่าน “ดวง” ล้วน ๆ 


ในสมัยกรีกโบราณ มีสิ่งที่เรียกว่า “Kleroterion” หรือแผ่นหินขนานใหญ่ มีช่องให้เสียบแผ่นหินแท่งที่เป็นชื่อของชาวเมืองหรือผู้ประสงค์ลงสมัครเล่นการเมือง จากนั้นจะมีการเสียบไว้ในแผ่นหินใหญ่ และจะใส่แผ่นหินแบนหลากสี โดยแต่ละสีจะแทนตำแหน่งสำคัญ ๆ ในสภาของกรุงเอเธนส์ ปล่อยลงมาตามลำดับของชื่อที่เสียบไว้ เพื่อให้ทราบว่าใครจะได้ตำแหน่งอะไร


การทำแบบนี้ คือการวัดดวงว่า สมาชิกในเอเธนส์ท่านใดจะ “เป็นที่รักของพระเจ้า” มากกว่ากัน หากเป็นที่รักมาก ก็จะได้ปกครองบ้านเมือง หากไม่เป็นที่รัก ก็เป็นได้เพียงประชาชนธรรมดา ๆ


สิ่งนี้ อริสโตเติล นักปรัชญาคำคมระดับตำนานของกรีก ยังได้ให้การยอมรับว่า “เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง” เพราะไม่มีการโกงการเลือกตั้ง หรือมีอภิสิทธิ์เรื่องเส้นสาย ทุกคนที่อยากใช้อำนาจรัฐ มีจุดเริ่มต้นเท่ากันคือวัดดวง


ตรงนี้ มีการพัฒนาต่อในดินแดนแถบอิตาลี โดยเฉพาะอาณาจักรเวนีส (Venezia) ที่ได้ใช้ระบบการเสี่ยงโชคโดยการจับสลากเพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้มีสิทธิเข้าไปเป็นสมาชิกของคณะลูกขุน ในฐานะอำนาจตุลาการ หรือก็คือ ที่เวนีสไม่ได้ใช้เพื่อเลือกผู้แทนไปบริหาร แต่ไปตรวจสอบ “ซินญอร์” หรือผู้ครองนครแทน


ส่วนที่ฟลอเรนส์ (Florenza) ได้พัฒนาต่อจากเวนีส โดยเปิดให้มีการวัดดวงในการเข้าไปเป็นทั้งคณะลูกขุนและสภาบริหารอาณาจักร นับว่าเป็นการใช้ดวงเพื่อคัดเลือกผู้แทนทั้ง 2 อำนาจ คือตุลาการและบริหารเลยทีเดียว


แต่ที่เห็นได้ชัดว่ามีการใช้หวยเพื่อให้เข้าไปใช้อำนาจรัฐ อยู่ที่ “เจนัว (Genoa)” เพราะทางอาณาจักรได้ทำการขายหวยให้แก่ประชาชนทั่วไป โดยเน้นที่ประชาชนยากไร้เข้ามาซื้อหวย เพื่อลุ้นว่าตนเองนั้นจะมีวาสนาได้เข้าไปใช้อำนาจรัฐหรือไม่ นับเป็นการที่รัฐบาลได้ “โชคสองชั้น” คือได้ทั้งเงินเข้าคลัง และได้ทั้งผู้แทนที่ไม่มีการแบ่งชนชั้น


แต่เมื่อเข้าสู่ยุครุ่งเรืองทางปัญญา แนวคิดเรื่อง Lottocracy ก็ได้หายไป และถูกแทนที่ด้วยระบบเลือกตั้งแบบใช้บัตรเลือกตั้ง 1 คน 1 เสียง เข้ามาแทนที่ ซึ่งค่อย ๆ กระจายการให้สิทธิการเลือกตั้ง (Enfranchisement) ไปทีละเผ่าพันธุ์ ทีละเพศสภาพ และทีละวุฒิการศึกษา ด้วยคิดว่าเป็นระบบที่เสถียรกว่าการมานั่งวัดดวงด้วยหวย


ดังนั้น หวยจึงเป็นเรื่องของการทำเพื่อโน้มน้าวให้ประชาชนเสียภาษีแบบกลาย ๆ ไม่ได้ไปบังคับขู่เข็ญ 


ภาพสะท้อนประชาธิปไตย

เมื่อมาถึงตรงนี้ จะเห็นได้ว่า Lottocracy นั้น เป็นระบบที่ได้รับการนำไปใช้ในโลกแห่งความเป็นจริงอย่างมาก แต่ก็มีคำถามว่า สิ่งนี้สะท้อนความเป็นประชาธิปไตยได้มากกว่าระบบการเลือกตั้งที่เราคุ้นชินอย่างไร


ในงานศึกษา Lottocracy or psephocracy? Democracy, elections, and random selection ได้ชี้ให้เห็นว่า ที่ Lottocracy สะท้อนความเป็นประชาธิปไตย นั่นเพราะ สิ่งนี้ทำให้ “คนเท่ากัน” อย่างแท้จริง สังเกตได้จากการวัดดวง เป็นสิ่งที่ไม่ว่าจะเกิดในตระกูลสูง ร่ำรวยเงินทอง มียศถาบรรดาศักดิ์ หรือต่ำติดดิน ยากจนยากไร้ ลำบากยากเข็ญ ย่อมมีเท่ากันทั้งสิ้น 


สอดคล้องกับในงานศึกษา Lottocracy Versus Democracy ที่เสนอว่า ระบบเลือกตั้งในปัจจุบันนั้น ไม่ได้สะท้อนเรื่อง “ความหลากหลาย” เพราะได้มีการกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำต่าง ๆ นานา ก่อนจะได้สิทธิการเลือกตั้ง ทั้งเรื่องอายุ การศึกษา หรือเผ่าพันธุ์ ซึ่งไม่ได้สะท้อนคนเท่ากันเลย กลับกัน การวัดดวงนั้นไม่สนใจเกณฑ์พวกนี้ สนเพียงแต่ว่า “ดวงดี” มากพอที่จะได้รับตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่


แต่ในงาน Selection by Lot and Democracy: New Trend, Ancient Model ก็ได้ชี้ให้เห็นว่า Lottocracy มีปัญหาเรื่อง “คุณสมบัติประจำตำแหน่ง” คือในตำแหน่งสำคัญ ๆ หากใช้การวัดดวง จะเป็นความลำบากในการบริหารประเทศได้ ซึ่งตรงนี้ ก็เท่ากับยอมรับแล้วว่า “คนไม่เท่ากัน”


แหล่งอ้างอิง


  • หนังสือ THE POLITICAL POTENTIAL OF SORTITION

  • หนังสือ Sortition: Theory and Practice

  • บทความ Lottocracy Versus Democracy

  • บทความ Sortition and its Principles: Evaluation of the Selection Processes of Citizens’ Assemblies

  • บทความ Selection by Lot and Democracy: New Trend, Ancient Model

ข่าวที่เกี่ยวข้อง