รีเซต

ทูตพม่าชูสามนิ้ว กลางที่ประชุมยูเอ็น วอนโลกช่วยคืนอำนาจให้ประชาชน

ทูตพม่าชูสามนิ้ว กลางที่ประชุมยูเอ็น วอนโลกช่วยคืนอำนาจให้ประชาชน
ข่าวสด
27 กุมภาพันธ์ 2564 ( 05:02 )
89

ทูตพม่าชูสามนิ้ว กลางที่ประชุมยูเอ็น วอนโลกช่วยคืนอำนาจให้ประชาชน

ทูตพม่าชูสามนิ้ว - เมื่อ 27 ก.พ. รอยเตอร์ รายงานว่า นาย จอ โม ตุน (Kyaw Moe Tun) เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรเมียนมา ประจำสหประชาชาติ หรือยูเอ็น ชูสามนิ้ว ปิดท้ายถ้อยแถลงที่กล่าวในนามรัฐบาลพลเรือน บนเวทีการประชุมสหประชาชาติ ขอร้องให้ยูเอ็นพยายามทุกทางที่จะต่อต้านกองทัพเมียนมา เพื่อเมียนมาจะได้ฟื้นฟูประชาธิปไตย

ทูตจอ โม ตุน กล่าวต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ หรือ ยูเอ็นจีเอ สมาชิก 193 ประเทศเพื่อรายงานสรุปสถานการณ์ในเมียนมา เมื่อวันศุกร์ที่ 26 ก.พ. ตามเวลานิวยอร์ก หลังจากนายอันโตนิโอ กูแตร์เรส เลขาธิการยูเอ็น และน.ส.คริสทีน ชราเนอร์ บูร์เกเนอร์ ทูตพิเศษด้านเมียนมาของยูเอ็น กล่าวเตือนว่า ไม่ควรมีประเทศใดรับรอง ว่าคณะรัฐประหารเมียนมาเป็นตัวแทนประเทศที่ถูกต้องตามกฎหมาย

ช่วงเวลาเดียวกัน ผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐประหารถูกทำร้ายและถูกจับกุมที่นครย่างกุ้ง / A wounded anti-coup demonstrator is seen after being detained by the police during a protest against the military coup in Yangon, Myanmar February 26, 2021. REUTERS/Stringer

เอกอัครราชทูตเมียนมาประจำสหประชาชาติ กล่าวประณามการทำรัฐประหารของกองทัพเมียนมา และเรียกร้องให้ประชาคมโลกสนับสนุนรัฐบาลเมียนมาที่ได้รับเลือกตั้งมาตามระบอบประชาธิปไตย

“เราต้องการการปฏิบัติที่หนักแน่นที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้จากประชาคมโลกเพื่อยุติการรัฐประหารครั้งนี้โดยทันที เพื่อหยุดการกดขี่ประชาชนที่บริสุทธิ์ เพื่อให้อำนาจรัฐกลับสู่มือของประชาชน และเพื่อฟื้นฟูประชาธิปไตย" ทูตจอ โม ตุน กล่าว ท่ามกลางเสียงปรบมือจากชาติสมาชิกตะวันตกและชาติอิสลาม

ทูตพม่าและเลขาธิการยูเอ็น / UN

การกล่าวถ้อยแถลงครั้งนี้แทบไม่เกิดขึ้นสำหรับทูตที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับฝ่ายมีอำนาจในประเทศ ขณะที่ทูต จอ โม ตุน กล่าวแถลงการณ์อย่างสะเทือนอารมณ์ในนามของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง และเป็นตัวแทยรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมาย ก่อนจะชูสามนิ้วจังหวะที่จบถ้อยแถลง

ทูต จอ โม ตุน ชูสามนิ้วกลางห้องประชุมยูเอ็น / Myanmar's ambassador to the United Nations Kyaw Moe Tun holds up three fingers at the end of his speech in New York

ขณะที่ น.ส. ชราเนอร์ บูร์เกเนอร์ ทูตพิเศษด้านเมียนมา กล่าวเสริมว่า ทุกฝ่ายต้องช่วยกันส่งสัญญาณที่ชัดเจนถึงการสนับสนุนประชาธิปไตย พร้อมเรียกร้องให้เหล่าประเทศที่ "ทรงอิทธิพล" ผลักดันให้ทหารเปิดทางให้มีการประเมินสถานการณ์อย่างเป็นอิสระ

"น่าเสียใจอย่างยิ่งที่รัฐบาลทหารพม่าขอให้ดิฉันเลื่อนการเยือนเมียนมา อีกทั้งกองทัพยังเดินหน้าจับกุมประชาชนจำนวนมาก และบีบบังคับประชาชนให้การยืนยันความผิดของรัฐบาลพลเรือน นี่เป็นการกระทำที่โหดร้ายและไร้มนุษยธรรม" ทูตหญิงกล่าว

Riot police walk in the middle of a street during a protest against the military coup in Yangon, Myanmar February 26, 2021. REUTERS/Stringer

เมียนมาเข้าสู่ภาวะชะงักชันนับตั้งแต่กองทัพยึดอำนาจ เมื่อวันที่ 1 ก.พ. จากรัฐบาลพลเรือนที่นำโดย นางออง ซาน ซู จี ผู้นำพรรคเอ็นแอลดี อ้างว่าการเลือกตั้งเมื่อเดือนพ.ย. 2563 ทุจริตอย่างมโหฬาร

ด้าน ลินดา โธมัส-กรีนฟิลด์ ทูตสหรัฐประจำยูเอ็น กล่าวว่า สหรัฐจะดำเนินการร่วมมือกับพันธมิตรและหุ้นส่วนที่ใกล้ชิด แสดงให้รัฐบาลทหารพม่าเห็นว่าจะต้องเผชิญกับผลกรรมที่ก่อไว้

Police stand in the middle of a street during a protest against the military coup in Yangon, Myanmar February 26, 2021. REUTERS/Stringer

“เราเรียกร้องให้ทุกประเทศใช้ช่องทางต่างๆ เพื่อบอกกับทหารว่า การใช้ความรุนแรงต่อประชาชนนั้นเป็นเรื่องที่ทนไม่ได้ เราต้องร่วมกันแสดงให้ประชาชนเมียนมาเห็นว่าโลกกำลังจับตาอยู่ เราได้ยินพวกเขา และเราเคียงข้างพวกเขา” ทูตสหรัฐกล่าว

ส่วน จาง จุน ทูตจีนประจำยูเอ็น กล่าวว่า ประชาคมโลกต้องเคารพอธิปไตยของเมียนมา และหลีกเลี่ยงการสร้างความตึงเครียด สิ่งที่จีนทำอยู่คือสื่อสารกับทุกฝ่ายเพื่อลดความตึงเครียดและให้สถานการณ์กลับไปเป็นปกติ โดยทูตรัสเซียกล่าวเสริมว่า ชาติต่างๆ ไม่ควรเข้าแทรกแซงกิจการภายในของเมียนมา

/////

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : พม่านัดหยุดงานทั่วประเทศ เจ้าหน้าที่รัฐร่วมด้วย พรึบต้านกองทัพยึด

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง