รีเซต

เปิดข้อมูลเปรียบเทียบปริมาณน้ำปี 2554 กับ 2564

เปิดข้อมูลเปรียบเทียบปริมาณน้ำปี 2554 กับ 2564
TNN ช่อง16
28 กันยายน 2564 ( 11:43 )
216
เปิดข้อมูลเปรียบเทียบปริมาณน้ำปี 2554 กับ 2564

วันนี้( 28 ก.ย.64) หลังจากหลายจังหวัดเกิดน้ำท่วมหนัก บางจังหวัดน้ำท่วมสูงในรอบหลายปี แล้วจะทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่เหมือนปี 2554 หรือไม่ โดยเฉพาะเมืองหลวงของประเทศ กรุงเทพมหานคร 

วันนี้ทีมข่าวมีข้อมูลเปรียบเทียบปริมาณน้ำระหว่างปี 54 กับ ปี 64 รวมถึงปัจจัยที่จะทำให้เกิดน้ำท่วม

จากข้อมูลปริมาณน้ำในปี 2554 นำมาเทียบเคียงปริมาณน้ำ 4 เขื่อนหลักในปัจจุบันจากข้อมูลวันที่ 27 กันยายน 2564 โดยปริมาณน้ำ

-เขื่อนภูมิพลปัจจุบันมีปริมาณน้ำ 6,098 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 45 ของความจุ เมื่อเทียบกับปี 2554 เวลาเดียวกันนี้อยู่ที่ 12,288 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 91 ของความจุ 

-เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำ 4,068 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 45 ของความจุ และเมื่อเทียบกับปี 2554 เวลาเดียวกันนี้อยู่ที่ 9,379 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 99 ของความจุ

-เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำ 705 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 73 ของความจุ และเมื่อเทียบกับปี 2554 เวลาเดียวกันนี้อยู่ที่ 1,050 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 134 ของความจุ 

-เขื่อนเจ้าพระยา ขณะนี้ มีการระบายน้ำ 2,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่วนในปี 2554 เวลาเดียวกันนี้ มีการระบายน้ำมากถึง 3,685 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที นั่นแปลว่าการระบายน้ำของปี 2554  กับ ปี 2564 ยังต่างกันมาก ขณะเดียวกันปริมาณน้ำในเขื่อนหลักก็ยังสามารถรองรับน้ำได้อีก

ภาพจากนักข่าว จ.ชัยนาท

 

นอกจากนี้ ทีมข่าวยังได้รวบรวมข้อมูลจำนวนของพายุที่เข้าไทย เปรียบเทียบให้เห็นระหว่างปี 2554 กับปี 2564 จะเห็นว่า ปี 2554 มีพายุเข้ามา 5 ลูก ซึ่งส่วนใหญ่พายุจะเข้ามาในช่วงกันยายนและตุลาคมจึงทำให้มีน้ำมากจึงเกิดน้ำหลากไปตามทุ่งและเกิดน้ำท่วมใหญ่

ทั้งนี้ มีข้อมูลจาก รองศาสตราจารย์ด็อกเตอร์ เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต ที่วิเคราะห์สถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคกลาง โดยระบุว่า มวลน้ำที่น่าห่วงขณะนี้ คือน้ำจากจังหวัดสุโขทัย คาดว่าอีก 3 วันจะไหลผ่านจังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งจุดเปราะบางคือจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพราะมีน้ำท่วมใน 4 อำเภอริมแม่น้ำเจ้าพระยา หากมวลน้ำก้อนนี้ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา คาดว่าจะถึงอยุธยาประมาณวันที่ 2-3 ตุลาคม และระดับน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่านพระนครศรีอยุธยาจะเพิ่มระดับขึ้นอีก 1 เมตร โดยมวลน้ำที่ไหลผ่านพระนครศรีอยุธยา จะเป็นตัวชี้วัดปริมาณน้ำที่จะไหลเข้าสู่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และหากประตูระบายน้ำบางไทร ระบายน้ำเกิน 3,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะไม่มีผลกระทบต่อปทุมธานีและกรุงเทพฯ ซึ่งเทียบกับน้ำท่วมปี 2554 น้ำไหลผ่านสถานีนี้อยู่ที่ 3,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

นอกจากนี้ การตรวจสอบแบบจำลองสภาพอากาศ คาดการณ์ว่าจะมีพายุอีก 2 ลูก ในช่วงกลางเดือนตุลาคม ซึ่งตอนนี้กำลังประเมินลุ่มน้ำเจ้าพระยาว่า ถ้าพายุเข้ามา 2 ลูก น้ำจะท่วมกรุงเทพฯหรือไม่ และโอกาสที่เกิดตามแบบจำลองที่คาดการณ์ในระยะยาวเชื่อถือได้เพียงครึ่งเดียว และเราจะรู้สถานการณ์ล่วงหน้าได้แค่5 -7 วัน ถึงตอนนั้นก็จะเชื่อแบบจำลองได้

ด้าย นายศักดิ์ชัย บุญมา รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า มวลน้ำเหนือ ส่วนใหญ่ จะไม่เข้ามาในกรุงเทพฯ 100% เพราะกรมชลประทานจะบริหารจัดการส่วนหนึ่งออกไปทาง จ.ฉะเชิงเทรา จ.ปราจีนบุรี และอีกส่วนออกไปทาง จ.พระนครศรีอยุธยา ลงแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ที่ต้องระวังคือตามแนวแม่น้ำเจ้าพระยาเพราะประตูด้านเหนือที่คลองหกวาเป็นจุดที่น้ำ จะเข้ามาทางกรุงเทพฯ จุดนั้น มีประตูระบายน้ำ ทั้งหมดเตรียมกระสอบทรายไว้ หากกรณีที่กรมชลประทานเอาน้ำไม่อยู่จำเป็นต้องปล่อยเข้ามาในกรุงเทพ ก็จะมีแนวกระสอบทรายกั้นไว้ ส่วนแม่น้ำเจ้าพระยา จะมีการทำเขื่อนตามแนวแม่น้ำไว้เช่นกัน 


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง