รีเซต

คลอดบุตรประกันสังคม ได้รับสิทธิอะไรบ้าง

คลอดบุตรประกันสังคม ได้รับสิทธิอะไรบ้าง
TNN ช่อง16
9 พฤศจิกายน 2564 ( 14:06 )
802
คลอดบุตรประกันสังคม ได้รับสิทธิอะไรบ้าง

ผู้ประกันตนที่ตั้งครรภ์และเป็นสมาชิกของ สำนักงานประกันสังคม จะได้รับสิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกันตนควรได้รับ ซึ่งจะได้สิทธิทั้งการฝากท้อง คลอดบุตร วันนี้ TNN ขอนำข้อมูลสิทธิประโยชน์กรณีคลอดบุตรมาให้ทุกคนได้ทราบกัน


สิทธิประโยชน์ที่จะได้รับมีอะไรบ้าง
1. สิทธิประโยชน์ค่าตรวจและรับฝากครรภ์
2. สิทธิประโยชน์กรณีคลอดบุตร
3. สิทธิประโยชน์กรณีสงเคราะห์บุตร


ที่มาภาพ : สำนักงานประกันสังคม


สิทธิประโยชน์ค่าตรวจและรับฝากครรภ์
- ครั้งที่ 1 อายุครรภ์น้อยกว่า 12 สัปดาห์ จ่ายตามราคาที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 500 บาท
- ครั้งที่ 2 อายุครรภ์ระหว่าง 12-20 สัปดาห์ จ่ายตามราคาที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 300 บาท
- ครั้งที่ 3 อายุครรภ์ 20-28 สัปดาห์ จ่ายตามราคาที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 200 บาท
หมายเหตุ : ผู้ที่ได้รับสิทธิจะต้องเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และ 39 ส่วนผู้ประกันตนมาตรา 40 จะไม่ได้รับสิทธินี้


สิทธิประโยชน์กรณีคลอดบุตร
- ได้รับค่าบริการทางแพทย์แบบเหมาจ่าย 13,000 บาทต่อครั้งโดยไม่จำกัดจำนวนครั้ง และไม่ได้คำนึงถึงจำนวนเด็กที่เกิด

- ถ้าฝ่ายคุณแม่เป็นผู้ยื่นเรื่องขอเงินคลอดบุตร จะได้รับสิทธิเพิ่มมาจากฝ่ายพ่อคือเงินค่าหยุดงานเนื่องจากการคลอดบุตร โดยจะได้รับ 50 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้างเฉลี่ย (ฐานเงินเดือนสูงสุดคือ 15,000 บาท) เป็นเวลา 90 วัน โดยสิทธิเงินคลอดบุตรสามารถรับได้ 2 ครั้งเท่านั้น
- ผู้ที่จะได้รับสิทธิประกันสังคมคลอดบุตรจะต้องเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และ 39 ที่จ่ายเงินสมทบมาแล้วนานกว่า 5 เดือน และภายใน 15 เดือนก่อนเดือนคลอดบุตร 


เอกสารเบิกประกันสังคมค่าตรวจครรภ์และรับฝากครรภ์ มีอะไรบ้าง

- ใบเสร็จรับเงินและใบรับรองแพทย์จากโรงพยาบาลที่ฝากครรภ์


เอกสารเบิกประกันสังคมกรณีคลอดบุตร มีอะไรบ้าง

- แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน สปส. 2-01 ที่กรอกข้อมูลครบถ้วน พร้อมลงชื่อผู้ยื่นคำขอ
- สำเนาสูติบัตรบุตร 1 ชุด (โดยถ้าคลอดลูกมากกว่า 1 คน แนบสำเนาสูติบัตรมาให้ครบถ้วน)
- หากคุณพ่อเป็นฝ่ายยื่นคำขอประกันสังคมค่าคลอดให้แนบทะเบียนสมรสมาด้วย ถ้าไม่ได้จดทะเบียนสมรสให้ใช้หนังสือรับรองกรณีผู้ประกันตนไม่มีทะเบียนสมรสแนบมาแทน
- สำเนาหน้าแรกของสมุดบัญชีเงินฝากแบบออมทรัพย์ที่มีชื่อและเลขบัญชีของผู้ยื่นคำขอ โดยมีธนาคารดังนี้ ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ธนาคารธนชาต, ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารไทยพาณิชย์, ธนาคารทหารไทย, ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และ ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย


นอกจากสิทธิประโยชน์เรื่องคลอดบุตรแล้ว ผู้ประกันตนยังได้รับสิทธิประโยชน์กรณีสงเคราะห์บุตร โดยจะได้รับสิทธิดังนี้


ที่มาภาพ : สำนักงานประกันสังคม


สิทธิประโยชน์กรณีสงเคราะห์บุตร ได้รับสิทธิอะไรบ้าง
- จะได้รับค่าสงเคราะห์บุตรแบบเหมาจ่ายเดือนละ 600 บาตรต่อเด็กหนึ่งคน โดยจะได้รับสิทธิตั้งแต่แรกเกิดจนอายุครบ 6 ปีบริบูรณ์ ซึ่งสามารถยื่นขอสิทธิได้ครั้งละไม่เกิน 3 คน หากครอบครัวไหนมีลูกแฝดสามจะได้ค่าสงเคราะห์บุตรเท่ากับ 1,800 บาทต่อเดือน
- ผู้ที่จะได้รับสิทธิประกันสังคมค่าคลอด จะต้องเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และมาตรา 39 ที่จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่ต่ำกว่า 12 เดือน และภายใน 36 เดือนก่อนที่มีสิทธิได้รับผลประโยชน์นี้ 


นอกจากนี้ ยังสามารถใช้ได้กับผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ที่เลือกจ่ายเงินแบบทางเลือกที่ 3 โดยจ่าย 300 บาทต่อเดือน (รัฐบาลสมทบให้อีกเดือนละ 150 บาท) ซึ่งจะได้รับเงินสงเคราะห์บุตรเดือนละ 200 บาทครั้งละไม่เกิน 2 คน มีผลตั้งแต่แรกเกิดจนอายุครบ 6 ปีบริบูรณ์ 


เอกสารเบิกประกันสังคมกรณีสงเคราะห์บุตร มีอะไรบ้าง

แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน สปส. 2-01 ที่กรอกข้อมูลครบถ้วนพร้อมลงชื่อผู้ยื่นคำขอ
- ถ้าเคยยื่นใช้สิทธิแล้วต้องการใช้สิทธิสำหรับลูกคนเดิม ต้องใช้หนังสือ ขอใช้สิทธิบุตรคนเดิมกรณีกลับเข้าเป็นผู้ประกันตน 1 ฉบับ
- ถ้าฝ่ายคุณแม่เป็นผู้ขอยื่นใช้สิทธิ ประกันสังคมคลอดบุตร ใช้สำเนาสูติบัตรของลูก 1 ชุด ถ้าเป็นแฝดแนบของลูกแฝดมาด้วย
- ถ้าฝ่ายคุณพ่อยื่นใช้สิทธิ ต้องใช้สำเนาทะเบียนสมรสหรือสำเนาทะเบียนหย่าที่มีบันทึกแนบท้ายของผู้ประกันตน หรือสำเนาทะเบียนรับรองบุตร หรือสำเนาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย จำนวน 1 ชุด และสำเนาสูติบัตรของลูก (ถ้าเป็นแฝดแนบของลูกแฝดมาด้วย) 1 ชุด
- ถ้ามีการเปลี่ยนชื่อ แนบสำเนาเอกสารใบเปลี่ยนชื่อ ชื่อสกุลมาด้วย จำนวน 1 ชุด
- ถ้าผู้ขอยื่นใช้สิทธิเป็นชาวต่างชาติ ใช้สำเนาบัตรประกันสังคมและสำเนาหนังสือเดือนทาง (passport) หรือสำเนาหนังสือเดินทางชั่วคราวหรือเอกสารรับรองบุคคลที่ทางราชการออกให้ 1 ชุด
- สำเนาหน้าแรกของสมุดบัญชีเงินฝากแบบออมทรัพย์ ที่มีชื่อและเลขบัญชีของผู้ยื่นคำขอ โดยมีธนาคารดังนี้ ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ธนาคารธนชาต, ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารไทยพาณิชย์, ธนาคารทหารไทย, ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และ ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย
- สำเนาเอกสารทุกชนิด ที่ใช้ในการยื่นคำขอเงินสงเคราะห์บุตร ต้องลงชื่อรับรองสำเนาถูกต้อง และนำเอกสารฉบับจริงมาด้วย เผื่อเจ้าหน้าที่ขอตรวจสอบ
- หากเอกสารสำคัญเป็นภาษาต่างประเทศ จะต้องแปลเป็นภาษาไทยและลงชื่อรับรองความถูกต้องด้วย สถานที่ยื่นเรื่อง

อย่างไรก็ตาม หากยื่นเรื่องแล้วผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนไม่เห็นด้วยกับการสั่งจ่ายประโยชน์ทดแทน สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง


ทั้งนี้ นอกจากผู้ประกันตนที่เป็นสมาชิกของสำนักงานประกันสังคมจะได้รับเงินกรณีคลอดบุตรแล้ว เมื่อถึงวัยเกษียณผู้ประกันตนยังได้รับสิทธิอีกเช่นกัน >> เกษียณอายุประกันสังคม ได้รับสิทธิอะไรบ้าง



ที่มาข้อมูล : สำนักงานประกันสังคม

ที่มาภาพ : AFP

ข่าวที่เกี่ยวข้อง