รู้ก่อนเมา! เปิด "กฎหมายเมาแล้วขับ 2566" เมาแค่ไหน ถ้าขับ โดนปรับกี่บาท?
ตั้งแต่ภาครัฐ ได้มีการ “เปิดประเทศ” และผ่อนคลายมาตรการป้องกันโรคโควิดมากขึ้นในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะอนุญาตให้ร้านอาหาร เริ่มเปิดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ ส่งผลให้หลายคนเริ่มออกมาปาร์ตี้สังสรรค์ จนบางครั้งอาจลืมไปว่า เมาแล้วขับ มีโทษปรับและติดคุก ซึ่งเทศกาลปีใหม่ 2566 เป็นอีกวันหยุดยาวที่หลายคนเตรียมตัวสังสรรค์กัน ดังนั้นจึงควรรู้ข้อกฎหมายเมาแล้วขับไว้ด้วย
ทางกรมการขนส่งทางบก จึงได้รวบรวม "กฎหมายเมาแล้วขับ” มีโทษอย่างไร และต้องปรับเป็นเงินเท่าไหร่บ้าง มาฝาก แต่แนวทางที่ดีที่สุดคือต้อง “ดื่มไม่ขับ” เพื่อการขับขี่ที่ปลอดภัยต่อตนเอง และเพื่อนร่วมทางบนท้องถนน
เช็ค "กฎหมายเมาแล้วขับ" มีอะไรบ้าง
กฎหมายเมาแล้วขับ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับ 5,000 - 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมทั้งพักใช้ใบอนุญาตขับรถไม่ต่ำกว่า 6 เดือน สำหรับผู้ที่มี
ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ สำหรับผู้ขับขี่มีอายุน้อยกว่า 20 ปีบริบูรณ์ หรือ ผู้ขับขี่ที่มีใบอนุญาตขับรถชั่วคราว (ใบอนุญาตแบบ 2 ปี) ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 21 พ.ศ. 2550 ออกความในพ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 ถือเป็น “ผู้เมาสุรา”
ปริมาณเแอลกอฮอล์ในเลือด 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับ 5,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และถูกพักใช้ใบอนุญาตขับรถไม่น้อยกว่า 6 เดือน
บทลงโทษ "เมาแล้วขับ" ตามกฎหมาย
เมาแล้วขับ หรือ การปฏิเสธเป่า มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับ 10,000 - 20,000 บาท ระงับใบอนุญาตขับรถไม่น้อยกว่า 6 เดือน และศาลสามารถสั่งพักใบอนุญาตขับรถ หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับรถ และสามารถยึดรถไว้ไม่เกิน 7 วัน
เมาแล้วขับจนทำให้ผู้อื่น “บาดเจ็บ”
- จำคุกตั้งแต่ 1-5 ปี ปรับ 20,000-100,000 บาท และถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับรถไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับรถ
เมาแล้วขับจนทำให้ผู้อื่น “บาดเจ็บสาหัส”
- จำคุก 2-6 ปี ปรับ 40,000-120,000 บาท ระงับใบอนุญาตขับรถไม่น้อยกว่า 2 ปี
เมาแล้วขับจนทำให้ผู้อื่น “ถึงแก่ความตาย”
- จำคุก 3-10 ปี ปรับตั้งแต่ 60,000-200,000 บาท และเพิกถอนใบอนุญาตขับรถทันที
เมาแล้วขับ ประกันรถยนต์จ่ายไหม
แบ่งออกเป็น 2 แนวทางเนื่องจาก ประกันรถยนต์มีทั้ง พ.ร.บ.รถยนต์ หรือ ประกันรถยนต์ภาคสมัครใจ (ประกันชั้น 1, ประกันชั้น 2+ และประกันชั้น 3+) แต่ละประเภทมีเงื่อนไขในการคุ้มครองที่แตกต่างกัน
กรณีที่ 1 พ.ร.บ.รถยนต์ คือคุ้มครองผู้เอาประกันรถยนต์และคู่กรณี โดยไม่พิสูจน์ความถูกหรือผิด ซึ่งจ่ายเป็นค่าสินไหมทดแทนสำหรับค่ารักษาพยาบาลเพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที แต่ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นกับรถยนต์ของผู้เอาประกัน พ.ร.บ.รถยนต์ จะไม่คุ้มครอง
กรณีที่ 2 ถ้าแอลกอฮอล์ในเลือดไม่เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ประกันรถยนต์จะคุ้มครองทั้งผู้เอาประกันและฝ่ายเสียหาย แต่ถ้าแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ประกันรถยนต์จะไม่คุ้มครองผู้เอาประกัน แม้จะซื้อประกันรถยนต์ชั้น 1 ที่มีเบี้ยสูงสุดก็ตาม
แม้บางคนคิดอาจว่า มีเงินจ่ายค่าปรับตามกฎหมายในกรณีที่เมาแล้วขับ แต่อุบัติเหตุที่เกิดขึ้น ไม่คุ้มค่ากับการจ่ายเงินเลยสักนิด และร้ายแรงที่สุดอาจทำให้ผู้อื่นพิการหรือเสียชีวิตได้ ทางที่ดีที่สุดคือ ดื่มไม่ขับ ช่วยลดอุบัติเหตุและความปลอดภัยบนท้องถนน
ข้อมูลจาก สำนักสวัสดิภาพการขนส่งทางบก กรมการขนส่งทางบก , Tidlor