รีเซต

เทือกเขาอันนัม เกราะคุ้มครองไทย รอดพ้น "พายุโนรู"

เทือกเขาอันนัม เกราะคุ้มครองไทย รอดพ้น "พายุโนรู"
TNN ช่อง16
29 กันยายน 2565 ( 17:35 )
124

"ดร.ธรณ์" เผย "พายุโนรู" สลายตัวเร็ว ทำให้ประเทศไทยไม่เดือดร้อนมากกว่านี้ พบพายุหมดแรงบน “อันนัม” เทือกเขาที่เป็นเสมือนเกราะคุ้มครองไทย

วันนี้ (29 ก.ย.65) ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวเกี่ยวกับ "พายุโนรู" ที่พัดเข้าไทยอยู่ในขณะนี้ โดยระบุว่า "พายุหมุนเกิดในทะเล ตายในเทือกเขา" 

นี่คือประโยคสั้นๆ แต่ผมคิดว่าอธิบายถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในไทยดีสุด พายุโนรูที่รุนแรงตอนขึ้นฝั่ง อ่อนแรงลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ประเทศไทยไม่เดือดร้อนมากไปกว่านี้ 

แล้วโนรูตายที่ไหน ? คำตอบ คือ พายุหมดแรงบน “อันนัม” เทือกเขาที่เป็นเสมือนเกราะคุ้มครองไทย

"อันนัม" ไม่ได้อยู่ในเมืองไทยด้วยซ้ำ เทือกเขาอยู่ในเวียดนาม ในลาว และมีส่วนปลายอยู่ในเขมร แต่เทือกเขายาว 1,100 กิโลเมตร สูงถึง 2,800 เมตร คือปราการธรรมชาติที่ปกป้องประเทศไทยมาหลายครั้งครา อันนัมทอดยาวขนานชายฝั่งเวียดนาม แบ่งเขตชายฝั่งออกจากลุ่มน้ำแม่โขงที่อยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดิน

ทุกครั้งที่มีไต้ฝุ่นหรือพายุใหญ่เข้ามาทางเวียดนาม อันนัมหยุดแรงลมไว้ ทำให้พายุที่เกรี้ยวกราดลดความแรงลมเหลือเพียงดีเปรสชั่น แม้ฝนจะตกอยู่ แต่แรงลมเบาลงมาก ความชื้นในอากาศส่วนหนึ่งถูกกักเก็บไว้ 

"อันนัม" ยังเป็นแหล่งรวมความหลากหลายทางชีวภาพ ป่าดิบชื้นเรื่อยจนถึงป่าดิบเขาที่สำคัญในอินโดจีน เป็นถิ่นที่อยู่ของ “เสาลา” แอนทีโลปหายากที่สุดชนิดหนึ่งของโลก พบเฉพาะแถวอันนัมตอนเหนือ ในลาวและเวียดนาม

"อันนัม" ยังป้อนน้ำให้ลำโขง ทำให้ผู้คนในลาวและเขมรมีความสุข และนั่นคือเรื่องที่อยากเล่าให้เพื่อนธรณ์ฟัง ถึงปราการแห่งอินโดจีน เทือกเขาที่มีความหมายมากมายต่อไทย และจะยิ่งทวีความสำคัญ เมื่อโลกร้อนขึ้น เมื่อสภาพอากาศสุดขั้วแรงขึ้น อันนัมยังคงตั้งตระหง่าน และคนไทยโชคดีเหลือเกินที่เราตั้งถิ่นฐานอยู่เบื้องหลังอันนัม




รู้จัก "เทืองเขาอันนัม" สูงตระหง่าน 2,800 เมตร กั้นเวียดนามกับลาว


สำหรับ "เทือกเขาอันนัม" เป็นเทือกเขาในภูมิภาคอินโดจีน มีความยาวประมาณ 1,100 กิโลเมตร เป็นชายแดนตลอดแนวทิศตะวันตกของประเทศเวียดนามต่อกับลาวและทางตอนเหนือของกัมพูชา มีชื่อเรียกในภาษาเวียดนามว่า "สายเจื่องเซิน" และ "สายภูหลวง" ในภาษาลาว

เทือกเขาอันนัมประกอบด้วยภูเขาและยอดเขาเป็นจำนวนมาก โดยยอดเขาที่สูงที่สุด คือ ภูเบี้ย ที่ความสูง 2,819 เมตร และยังเป็นถิ่นที่อยู่ของชนพื้นเมืองต่าง ๆ รวมทั้งเป็นแหล่งกำเนิดของแม่น้ำหลายสาย

ทางด้านชีววิทยา เทือกเขาอันนัมเป็นที่อยู่ของสัตว์ป่าและพรรณไม้ชนิดต่าง ๆ ซึ่งหลายชนิดเป็นการค้นพบใหม่หรือไม่ได้มีศึกษาทางสัตววิทยามาก่อนจำนวนมาก อาทิ ซาวลา, เก้งยักษ์, เก้งเจื่องเซิน, หมูป่าอินโดจีน เป็นต้น โดยตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา มีการค้นพบผีเสื้อ 2 ชนิด, งู 1 ชนิด, กล้วยไม้ 5 ชนิด และพืชชนิดอื่น ๆ อีก 3 ชนิด โดยเฉพาะกล้วยไม้ที่พบนี้ไม่มีสีเขียวหรือไม่มีคลอโรฟิลล์สังเคราะห์ด้วยแสงแต่ดำรงชีพด้วยการกินอินทรีย์สารที่เน่าเปื่อยเป็นอาหารคล้ายพวกฟังไจแทน

โดยทางกองทุนสัตว์ป่าโลก เชื่อว่า เป็นเพราะป่าดิบชื้นแถบนี้ไม่เคยถูกรบกวนจากมนุษย์มาเป็นเวลานานหลายพันปีแล้ว และเชื่อว่ายังมีอีกหลายชนิดที่ยังไม่ได้ถูกค้นพบ.


ภาพจาก Google Earth


ข่าวที่เกี่ยวข้อง