รีเซต

เตรียมปรับโครงสร้าง ค่าไฟใหม่ คาดใช้กลางปีนี้ ยันไฟบ้าน ไม่กระทบแน่

เตรียมปรับโครงสร้าง ค่าไฟใหม่ คาดใช้กลางปีนี้ ยันไฟบ้าน ไม่กระทบแน่
ข่าวสด
21 มีนาคม 2565 ( 15:52 )
86

เตรียมปรับโครงสร้าง ค่าไฟใหม่ เปิดให้แสดงความคิดเห็น คาดใช้กลางปีนี้ ยันไฟบ้าน ไม่กระทบแน่นอน สะเทือนภาคอุตสาหกรรม แจงค่าเอฟทีสูงทุกปี

 

วันที่ 21 มี.ค.2565 นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า ทางหน่วยงานเตรียมทำโครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่ทั้งระบบ อาจมีการปรับค่าไฟฟ้าฐาน จากปัจจุบันอยู่ที่ 3.76 บาทต่อหน่วย โดยเป็นการปรับประจำ 3-5 ปีต่อครั้งและค่าไฟฐานนี้ใช้มาตั้งแต่ปี 2558 คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนเม.ย.นี้ แล้วประกาศรับฟังความคิดเห็น ก่อนกำหนดใช้กลางปีนี้

 

ค่าไฟฟ้าฐานมีแนวโน้มสูงขึ้น จากการปรับหลายครั้ง ขยับต่อเนื่อง สะท้อนโครงสร้างพื้นฐานการผลิตไฟ แต่ยืนยันว่าผู้ใช้ไฟบ้านจะไม่ได้รับผลกระทบแน่นอน เพราะกลุ่มที่กระทบจะเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าภาคอุตสาหกรรม หรือมีมิเตอร์ไฟขนาดใหญ่ จะมีการเกลี่ยอัตราเรียกเก็บไฟฟ้าช่วงใช้ไฟเยอะใหม่ ให้สะท้อนการใช้งานได้จริง

 

สำหรับแนวโน้มค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือค่าเอฟที ในช่วงต่อไป คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างแน่นอน สะท้อนการใช้ต้นทุนก๊าซธรรมชาติมาผลิตไฟจากเริ่มต้นที่ 8% ในช่วงปี 2554-2564 ที่เพิ่มขึ้นเป็น 33% และปัจจุบันเพิ่มขึ้นมากกว่า 40% แล้ว ทำให้แนวโน้มค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

 

ส่วนมาตรการตรึงหรือลดค่าเอฟทีนั้น จำเป็นต้องจะมีคนเข้ามาแบกรับต้นทุนนี้ ขณะที่รัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานได้เปลี่ยนโครงสร้างการผลิตไฟฟ้าไปที่การรับซื้อจากโครงการพลังงานของ สปป.ลาว เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลดี เนื่องจากเป็นการผลิตไฟต้นทุนราคาคงที่

 

นอกจากนี้ กกพ. ยังมีการติดตามราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลอ็นจี) เนื่องจากปัจจุบันราคาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในตลาดจร (สปอต) ซึ่งอาจกระทบมายังราคาค่าไฟแน่นอน เนื่องจากต้องยอมรับว่าประเทศไทยเปิดการนำเข้าแอลเอ็นจีเสรีช้าเกินไป ปัจจุบันจึงมีสัญญาระยะยาวน้อย รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานในการกักเก็บ อาทิ คลังก็มีไม่เพียงพอ

 

ปัจจุบันจึงต้องใช้แหล่งสปอตเข้ามาช่วย หากเปิดเสรีตั้งแต่ปี 2562 เชื่อว่าปัจจุบันก็จะมีราคาก๊าซที่ลงตัว ขณะที่ปัจจุบันนั้นหลายเจ้าที่ได้สิทธิ์นำเข้าเสรี(ชิปเปอร์)ก็ยังกังวลต่อราคาอยู่

 

ล่าสุดบริษัท บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) จะเร่งนำเข้าแอลเอ็นจี เพราะ กกพ. ต้องการให้เอกชนทุกค่ายที่ได้รับสิทธิ์ฯ รีบนำเข้ามาโดยเร็ว แม้จะนำไปใช้กับโครงการของตัวเองก็ตาม แต่ก็เป็นการลดภาระของระบบที่ไม่ต้องใช้จากที่นำเข้าของส่วนกลาง ซึ่งเป็นที่ต้องการของอีกหลายเจ้า หากเอกชนสามารถนำเข้ามาเองได้ส่วนกลางก็ไม่จำเป็นต้องดูแล และอาจทำให้ราคาต้นทุนพลังงานจากส่วนกลางนั้นถูกลงด้วย ถือเป็นผลลัพธ์ทางอ้อม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง