10 จุดสัมผัสเสี่ยงโควิด-19 เมื่อนักเรียนไปโรงเรียน
วันนี้ (31 พ.ค.65) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระบุว่า จากผลการสำรวจการเฝ้าระวังพฤติกรรมสุขบัญญัติต้อนรับเปิดเทอม ในกลุ่มวัยเรียนและยุวอาสาสมัครสาธารณสุข ระหว่างวันที่ 4 – 22 พฤษภาคม 2565 โดย กองสุขศึกษา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ผ่านระบบออนไลน์ (Google Form)
ได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายเครือข่ายเฝ้าระวังพฤติกรรมสุขภาพระดับพื้นที่ โดยกลุ่มวัยเรียน และยุวอาสาสมัครสาธารณสุข อายุระหว่าง 14-15 ปี เป็นเพศหญิง ร้อยละ 57.3 เพศชาย ร้อยละ 41.7 ตอบแบบสอบถาม จำนวน 44,589 ราย พบว่า มีพฤติกรรมที่มีโอกาสสัมผัสจุดเสี่ยงในโรงเรียน ดังนี้
1. โต๊ะ เก้าอี้ ในห้องเรียน และนอกห้องเรียน ร้อยละ 89.1
2. ห้องน้ำที่โรงเรียน ร้อยละ 84.88
3. โต๊ะอาหาร เก้าอี้ ภาชนะ เช่น แก้วน้ำ จาน ชาม ช้อนส้อมในโรงอาหาร ร้อยละ 77.1
4. ราวบันได ร้อยละ 76.62
5. ลูกบิด กลอนประตู ที่จับประตู ร้อยละ 75.57
6. สวิตซ์ไฟ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าในโรงเรียน เช่น พัดลม รีโมทแอร์ เป็นต้น ร้อยละ 67.18
7. ที่กดน้ำดื่ม ก๊อกน้ำใช้ ร้อยละ 60.51
8. รถโดยสารประจำทาง รถรับส่งนักเรียน ร้อยละ 58.13
9. อุปกรณ์กีฬาที่เล่นหลายคน เช่น ลูกบาสเกตบอล ลูกวอลเล่ย์บอล ลูกเปตอง ร้อยละ 57.86
10. เครื่องเล่นในสนามเด็กเล่นของโรงเรียน ร้อยละ 37.68
ดังนั้น เพื่อสร้างพฤติกรรมสุขบัญญัติให้เกิดขึ้นในโรงเรียน ภายใต้สถานการณ์การระบาดโรคโควิด 19 ที่ยังคง มีอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะในช่วงการเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติในชีวิตประจำวัน เช่น การเปิดเทอมของกลุ่มวัยเรียน นั้น
โรงเรียนจึงต้องเคร่งครัดกับมาตรการ 6 หลัก 6 เสริม 7 เข้ม ตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด 19 ของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งสถานศึกษาที่มีการเปิดการเรียนภายในโรงเรียน หรือ on-site จะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
เช่น การคัดกรองตรวจวัดอุณหภูมิทุกครั้งก่อนเข้าเรียนโดยเฉพาะการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ และเว้นระยะห่าง หรือ แอลกอฮอล์เจลไว้สำหรับล้างมือภายในโรงเรียน เป็นต้น.
ข้อมูลจาก กองสุขศึกษา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข
ภาพจาก TNN ONLINE