เปิดเงื่อนไข "ลดภาษีน้ำมันดีเซล" 3 บาทต่อลิตร เริ่ม 18 ก.พ. - 20 พ.ค.65
ราชกิจจานุเบกษา ประกาศลดภาษีน้ำมันดีเซล 3 บาทต่อลิตร เริ่ม 18 ก.พ. ถึง 20 พ.ค.2565 เพื่อลดภาระและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน พร้อมตรึงราคาดีเซลถึง 31 พ.ค. จากเดิม 31 มี.ค. ดีเซลขายปลีกน่าจะลดลง 2 บาท โดยตรึงราคาที่ 30 บาท เพื่อลดภาระภาคประชาชน
คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล และน้ำมันอื่นๆที่คล้ายกัน จะทำให้โครงสร้างราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล ปรับลดประมาณ 3บาท/ลิตร ตั้งแต่วันที่กฎกระทรวงมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 20 พ.ค. 2565 แม้คาดว่าจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ราว 17,100 ล้านบาท แต่จะเป็นการช่วยเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ ทั้งในอุตสาหกรรมการผลิต การเกษตร การท่องเที่ยว - บริการ และการขนส่ง
ลดภาษีน้ำมันดีเซล" 3 บาท / ลิตร มีอะไรบ้าง
- น้ำมันดีเซลที่มีปริมาณกำมะถัน เกินร้อยละ 0.005 โดยน้ำหนัก อัตราภาษีเดิม 6.440 บาท อัตราภาษีใหม่ 3.440 บาท
- น้ำมันดีเซลที่มีปริมาณกำมะถันไม่เกินร้อยละ 0.005 โดยน้ำหนัก อัตราภาษีเดิม 6.440 บาท อัตราภาษีใหม่ 3.440
- น้ำมันดีเซลที่มีไบโอดีเซลประเภทเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมันผสม ไม่เกินร้อยละ 4 อัตราภาษีเดิม 6.440 บาท อัตราภาษีใหม่ 3.440 บาท
- น้ำมันดีเซลที่มีไบโอดีเซลประเภทเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมันผสม เกินร้อยละ 4 แต่ไม่เกินร้อยละ 7 อัตราภาษีเดิม 5.990 บาท อัตราภาษีใหม่ 3.200 บาท
- น้ำมันดีเซลที่มีไบโอดีเซลประเภทเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมันผสมเกินร้อยละ 7 แต่ไม่เกินร้อยละ 9 อัตราภาษีเดิม 5.930 บาท อัตราภาษีใหม่ 3.170 บาท
อ่านประกาศ : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/.../2565/A/011/T_0001.PDF
ตรึงราคาดีเซล 30 บาท / ลิตร
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานว่า ที่ประชุมได้พิจารณาวางแนวทางบริหารราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลภายหลังจากมติคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ลดการเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลไปจนถึงเดือนพฤษภาคม 2565 มีผลทำให้ภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล จากเดิมจัดเก็บ 5.99 บาท/ลิตร ปรับเป็น 3.20 บาท/ลิตร หรือลดลง 2.79 บาท/ลิตร โดย กบน. มีมติลดภาระค่าน้ำมันดีเซลให้กับประชาชนทันที 2 บาท/ลิตร ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลจะลดลงมาจาก 29.94 บาท/ลิตร เหลือ 27.94 บาท/ลิตร และอีกส่วนหนึ่งจะนำมาเสริมสภาพคล่องให้กับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อให้สามารถดูแลราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร ได้ต่อเนื่องนานยิ่งขึ้น เพราะสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิดเนื่องจากอยู่ในช่วงขาขึ้นยาวนาน
ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้จากการเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง หรือมีการชดเชยจากกองทุนน้ำมันเพิ่มขึ้นตามสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกด้วย ซึ่งรัฐบาลยังคงนโยบายตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ไม่เกิน 30 บาท/ลิตร
ภาษีน้ำมัน คืออะไร
ภาษีน้ำมัน เป็นภาษีสรรพสามิตชนิดหนึ่งที่จัดเก็บจากน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันโดยกรมสรรพสามิต เนื่องจากเป็นสินค้าที่ก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เป็นไปตามหลักผู้ก่อมลภาวะเป็นผู้จ่าย โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527
เติมน้ำมัน 1 ลิตรต้องจ่ายค่าอะไรบ้าง
การเติมน้ำมัน 1 ลิตร จะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเติม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ราคาน้ำมันแพงขึ้น โดยมีค่าใช้จ่ายต่อการเติมน้ำมัน 1 ครั้ง ดังนี้
- ราคาหน้าโรงกลั่น คือ ราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ยังไม่ได้รวมภาษี กองทุน และค่าการตลาด
- ภาษี เป็นส่วนที่รัฐบาลเรียกเก็บเพิ่มเติมจากราคาน้ำมัน เพื่อนำไปเป็นรายได้ในการพัฒนาประเทศ ประกอบด้วย ภาษีสรรพสามิต, ภาษีมหาดไทย (ภาษีเทศบาล) และภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)
- ภาษีสรรพสามิต คือภาษีที่จัดเก็บสินค้าที่มีผลกระทบต่อสังคม ซึ่งสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการจำกัดการใช้ของสินค้าเหล่านั้น นอกจากนี้ยังเป็นการจัดหารายได้ให้แก่ภาครัฐ ซึ่งเงินส่วนหนึ่งอาจนำมาใช้ประโยชน์เพื่อสังคม ซึ่งน้ำมันแต่ละชนิดจะมีอัตราเรียกเก็บที่แตกต่างกันไป
- ภาษีมหาดไทย (ภาษีเทศบาล) เรียกเก็บเพื่อเป็นเงินอุดหนุนและดูแลในพื้นที่ที่มีโรงกลั่นตั้งอยู่
- ภาษีมูลค่าเพิ่ม คิดเพิ่มจากราคาขายส่งและขายปลีก เช่นเดียวกับสินค้าอื่น ๆ ทั่วไป ซึ่งปัจจุบันเก็บอยู่ที่ 7%
- เงินกองทุนที่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน 2 กองทุน
- เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อเป็นเงินสำรองไว้ใช้ในยามที่ราคาน้ำมันมีความผันผวน คือเมื่อราคาน้ำมันตลาดโลกสูงเกินไป ก็จะใช้เงินส่วนนี้เข้ามาพยุงราคาขายปลีกในประเทศไว้นั่นเอง ซึ่งน้ำมันแต่ละชนิดจะมีอัตราเรียกเก็บที่แตกต่างกัน
- เงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อนำไปส่งเสริมด้านพลังงานทดแทนในประเทศ โดยน้ำมันทุกชนิดโดนเก็บเท่ากันในอัตรา 0.10 บาท/ลิตร
- ค่าการตลาด คือ ส่วนที่ผู้ค้าน้ำมันเก็บเพื่อนำไปใช้จ่ายในส่วนของการให้บริการผู้ใช้ ซึ่งผู้ประกอบการสามารถกำหนดเองได้อย่างเสรี แต่ต้องอยู่ภายใต้กลไกตลาดควบคุม เป็นผลตอบแทนของการลงทุนก่อสร้างคลังน้ำมัน ระบบขนส่ง การก่อสร้างสถานีบริการ การส่งเสริมการขาย และค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจทุกอย่าง รวมถึงค่าใช้จ่ายบุคลากร ค่าการตลาดจึงไม่ใช่กำไรของผู้ประกอบการ แต่เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจซึ่งรวมถึงกำไรด้วย
ส่วนของภาษีและเงินที่เก็บเข้ากองทุนเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้น้ำมันที่ขายในประเทศไทย มีราคาแตกต่างจากน้ำมันของประเทศเพื่อนบ้าน หรือราคาน้ำมันแพงกว่า เนื่องจากแต่ละประเทศมีนโยบายเรื่องภาษีและการจัดการน้ำมันต่างกัน
ขณะที่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว. กลาโหม ชี้แจงถึงกณีที่ราคาน้ำมันมีราคาเพิ่มสูงขึ้นว่า น้ำมันเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เป็นต้นทุนหลักของการเดินทางและอุตสาหกรรมทั่วโลก ราคาน้ำมันมีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากในปี 64 ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นกว่า 60% จากราคา 47.9 ดอลล่าร์ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นเป็น 77.4 ดอลล่าร์ต่อบาร์เรล ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ เช่น ประเทศอังกฤษ ประชาชนต้องจ่ายค่าน้ำมันแพงขึ้น 30% ประเทศสหรัฐอเมริกา ประชาชนต้องจ่ายแพงขึ้นกว่า 40% ในขณะที่คนไทยจ่ายค่าน้ำมันดีเซลสูงขึ้นเพียง 20% ซึ่งถือว่าต่ำกว่าหลายประเทศ
ข้อมูล กระทรวงพลังงาน , thaigov , ราชกิจจา
--------------------
เกาะติดสถานการณ์โควิด-19 ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก
ทุกประเด็นร้อนข่าวสาร สาระ ทันเหตุการณ์ พูดคุยกันได้ 24 ชม.
คลิกเลย >>> TrueID Community <<<