รีเซต

รบ.ทุ่ม 2.4 แสนล้าน เยียวยาโควิด-ไฟเขียวคนละครึ่งเฟส 3-เราชนะ-ม.33 เรารักกัน-ลดค่าน้ำ-ค่าไฟ-กู้ฉุกเฉินปลอดดอกเบี้ย

รบ.ทุ่ม 2.4 แสนล้าน เยียวยาโควิด-ไฟเขียวคนละครึ่งเฟส 3-เราชนะ-ม.33 เรารักกัน-ลดค่าน้ำ-ค่าไฟ-กู้ฉุกเฉินปลอดดอกเบี้ย
มติชน
6 พฤษภาคม 2564 ( 08:59 )
140
รบ.ทุ่ม 2.4 แสนล้าน เยียวยาโควิด-ไฟเขียวคนละครึ่งเฟส 3-เราชนะ-ม.33 เรารักกัน-ลดค่าน้ำ-ค่าไฟ-กู้ฉุกเฉินปลอดดอกเบี้ย

เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ( ครม.) ว่า มีคำสั่งให้กระทรวงการคลัง และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์)พิจารณาออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยาพี่น้องประชาชนเพิ่มเติมโดยเร่งด่วน สรุปดังต่อไปนี้ ระยะที่ 1 มี 3 มาตรการหลัก ที่ดำเนินการได้ทันที ได้แก่ 1.มาตรการด้านการเงิน มี 2 มาตรการคือ 1.มาตรการสินเชื่อสู้ภัยโควิด วงเงิน 20,000 ล้านบาท โดยธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ให้สินเชื่อรายละ 10,000 บาท ด้วยหลักเกณฑ์ที่ผ่อนปรนกว่าสินเชื่อปกติ ดอกเบี้ย 0.35% ต่อเดือน เป็นเวลา 3 ปี ปลอดเงินต้นและดอกเบี้ยใน 6 เดือนแรก และ 2.มาตรการพักชำระหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ โดยขยายระยะเวลาพักชำระเงินต้นให้แก่ลูกหนี้จนถึงสิ้นปีนี้ เพื่อลดภาระและนำเงินที่จะต้องชำระหนี้ไปเสริมสภาพคล่อง

 

 

นายกฯกล่าวว่า 2.มาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่าย โดยจะลดค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้า และน้ำประปาของประชาชน และกิจการขนาดเล็กทั่วประเทศ ช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน


เพิ่มเงิน2พันเราชนะ-ม33ฯ

“3.มาตรการต่อเนื่องด้านการช่วยเหลือเยียวยาประชาชน 2 โครงการ วงเงินรวม 85,500 ล้านบาท ได้แก่ 1.เพิ่มวงเงินโครงการเราชนะ อีกสัปดาห์ละ 1,000 บาท เป็นเวลา 2 สัปดาห์ วงเงินรวมประมาณ 67,000 ล้านบาท 2.เพิ่มเงินช่วยเหลือผู้ประกันตนโครงการ ม33เรารักกัน อีกสัปดาห์ละ 1,000 บาท เป็นเวลา 2 สัปดาห์ วงเงินรวมประมาณ 18,500 ล้านบาท” นายกฯกล่าว

 

 

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ในระยะที่ 1 ครม.มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการมาตรการด้านการเงินทั้ง 2 เรื่อง และเห็นชอบให้ลดค่าใช้จ่ายน้ำประปา และไฟฟ้า ช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนแล้ว สำหรับโครงการเราชนะ และโครงการ ม33เรารักกัน หน่วยงานที่รับผิดชอบจะเร่งนำเสนอโครงการให้ ครม.พิจารณาในสัปดาห์หน้า

 


พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ระยะที่ 2 ช่วงเดือนกรกฎาคม-ธันวาคม ประกอบด้วย 2 มาตรการหลัก กรอบวงเงินประมาณ 140,000 ล้านบาท ได้แก่ 1.มาตรการลดภาระค่าครองชีพ มี 2 โครงการ ได้แก่ 1.เพิ่มกำลังซื้อให้ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3 โดยให้เงินเพิ่มเติมเดือนละ 200 บาท 6 เดือน ตั้งแต่กรกฎาคม-ธันวาคม ครอบคลุม 13.6 ล้านคน 2.เพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ โดยให้เงินเพิ่มเดือนละ 200 บาท 6 เดือน ตั้งแต่กรกฎาคม-ธันวาคม ครอบคลุม 2.5 ล้านคน

 

 

“2.มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชนกลุ่มที่มีรายได้ปานกลาง และรายได้สูง ประกอบด้วย 2 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการคนละครึ่งระยะที่ 3 และ 2.โครงการ ยิ่งใช้ยิ่งได้ เป็นโครงการใหม่ ภาครัฐจะสนับสนุนบัตรกำนัลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Voucher) ให้ผู้ที่ได้รับสิทธิ” นายกฯกล่าว

 

 

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า มาตรการในระยะที่ 2 ทั้ง 4 โครงการข้างต้นจะครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายกว่า 51 ล้านคน คาดว่าจะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจประมาณ 473,000 ล้านบาท มาตรการในระยะที่ 2 นี้ ครม.รับทราบในหลักการ โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบจะเร่งดำเนินการเพื่อขออนุมัติจาก ครม.ต่อไป

 

 

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ร่วมกันแถลงมาตรการช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบจากโควิด

 

 

นายอาคมกล่าวว่า มาตรการด้านการเงินคือ สินเชื่อสู้ภัยโควิด ธนาคารออมสิน และธ.ก.ส.ให้สินเชื่อกับผู้รับผลกระทบจากโควิดรายละ 1 หมื่นบาท โดยทั้งสองธนาคาร จะพิจารณาอนุมัติสินเชื่อจากลูกหนี้ที่มีผลกระทบมากไปหาน้อย เริ่มตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคม-31 ธันวาคม 2564 มาตรการพักชำระหนี้ ให้สถานบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ พิจารณาขยายการพักชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ส่วนโครงการเราชนะ ที่จะเพิ่มเงินคนละ 1,000 บาท 2 สัปดาห์ รวม 2,000 บาท จะนำเสนอ ครม.ในสัปดาห์หน้า

 

 

นายดนุชากล่าวว่า นอกจากนี้มีมาตรการลดค่าไฟฟ้า และค่าน้ำประปา ช่วงเดือนพฤษภาคม-เดือนมิถุนายน รวม 2 เดือน

 

 

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำหรับมาตรการคนละครึ่งระยะที่ 3 รัฐจะสมทบวันละไม่เกิน 150 บาท วงเงินไม่เกิน 3,000 บาทต่อคน ส่วนโครงการ ยิ่งใช้ยิ่งดี รัฐบาลจะสนับสนุน E-Voucher ให้กับประชาชนซื้อสินค้า และค่าอาหารเครื่องดื่มและค่าบริการกับผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม สูงสุดไม่เกิน 7,000 บาทต่อคน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง