รีเซต

โควิดพุ่งไม่หยุด สธ.คาดผู้ป่วยโคม่าสูงสุดต้น พ.ค.นี้ แนะสูงวัยฉีดวัคซีนป้องกันก่อนสงกรานต์

โควิดพุ่งไม่หยุด สธ.คาดผู้ป่วยโคม่าสูงสุดต้น พ.ค.นี้ แนะสูงวัยฉีดวัคซีนป้องกันก่อนสงกรานต์
มติชน
4 มีนาคม 2565 ( 14:50 )
51

เมื่อวันที่ 4 มีนาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงรายงานสถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทย ว่า สำหรับการเฝ้าระวังตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง วันที่ 3 มีนาคม 2565 พบว่า ขณะนี้เป็นการแพร่ระบาดของเชื้อโอมิครอนเกือบทั้งหมด และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และแพร่ระบาดในประเทศอื่นๆ ด้วย สำหรับจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันเฉลี่ย 14 วัน อยู่ที่ 21,966 ราย วันนี้วันเดียวที่เป็นผู้ป่วยยืนยัน RT-PCR 23,834 ราย

 

 

นพ.โสภณ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ด้วยตัวเลขที่กำลังเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีผู้ป่วยอาการรุนแรงเพิ่มขึ้น ทั้งนี้สำหรับเชื้อโอมิครอน ก่อให้เกิดความรุนแรงของโรคน้อยกว่าเชื้อเดลต้าแน่นอน แต่ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อที่มากขึ้น จึงทำให้จำนวนผู้ที่ต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาล (รพ.) ด้วยอาการที่รุนแรง เช่น ปอดอักเสบ เป็นต้น เพิ่มขึ้นตาม

 

 

“โดยในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีตัวเลขผู้ป่วยปอดอักเสบค่อนข้างสูง ประมาณ 1.5 เท่า แต่ถ้าที่เป็นผู้ป่วยที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจก็เพิ่มขึ้น 2 เท่า จากเดิมที่อยู่ใน รพ. 184 ราย เมื่อวันที่ 3 มีนาคม เพิ่มขึ้นเป็น 337 ราย เช่นเดียวกับผู้เสียชีวิต ที่ขยับเพิ่มขึ้น แต่อัตราการป่วยหนักและเสียชีวิตนั้นจะยังน้อยกว่าเชื้อเดลต้า ทั้งนี้ ยังมีผู้สูงอายุ-กลุ่มเสี่ยงที่ยังไม่ได้รับวัคซีนอีกจำนวนหนึ่ง ทำให้สถานการณ์ของผู้เสียชีวิตยังเพิ่มอยู่” นพ.โสภณ กล่าว

 

 

รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับการติดเชื้อในกลุ่มที่มีสัดส่วนสูงมากในขณะนี้ คือ วัยทำงาน ช่วงอายุ 20-29 ปี คิดเป็นอัตราป่วยต่อ 100,000 ประชากร ประมาณ 1,370 ราย รองลงมาคือ ช่วงอายุ 30-39 ปี แต่กลุ่มที่มาแรงคือ ช่วงอายุ 10-19 ปี และ 0-9 ปี ซึ่งเป็นเด็กวัยเรียน แต่การติดเชื้อมากในกลุ่มเหล่านี้ไม่ได้ส่งผลให้ป่วยหนักและเสียชีวิต โดยการดูจากอัตราป่วยตาย พบว่า เมื่อเกิดการระบาด ทำให้ผู้สูงอายุติดเชื้อเพิ่มขึ้น ขณะนี้ ผู้สูงอายุเองมีอัตราการติดเชื้อน้อยกว่าคนหนุ่มสาว แต่มีอัตราการตายสูงกว่า โดยกลุ่มอายุ 70 ปีขึ้นไป หากติดเชื้อมีโอกาสเสียชีวิตร้อยละ 3 ถ้าอายุ 60-69 ปี มีโอกาสเสียชีวิตร้อยละ 0.62 ส่วนอายุ 50-59 ปี มีโอกาสเสียชีวิตร้อยละ 0.21 ซึ่งกลุ่มนี้ก็จะเริ่มมีโรคประจำตัวแล้ว

 

นพ.โสภณ กล่าวว่า สำหรับรายงานผู้เสียชีวิตรายวันในวันนี้ พบว่า เป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 43 ราย คิดเป็นร้อยละ 80 และอายุน้อยกว่า 60 ปี แต่มีโรคเรื้อรังอีก 8 ราย คิดเป็นร้อยละ 15 รวมเป็นร้อยละ 95 ที่เหลือเป็นคนอายุน้อยกว่า 60 ปี และไม่มีโรคเรื้อรัง ทั้งนี้ ผู้เสียชีวิตกว่าครึ่งไม่ได้รับวัคซีน หรือได้รับไม่ครบ และได้รับครบ 2 เข็ม แต่มีระยะเวลาเกิน 3 เดือน เมื่อวิเคราะห์ถึงข้อมูลละเอียดขึ้น พบว่าผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ในช่วงวันที่ 1 มกราคม – วันที่ 28 กุมภาพันธ์ เสียชีวิตแล้วกว่า 928 ราย ไม่มีประวัติการรับวัคซีน จำนวน 557 ราย คิดเป็นร้อยละ 60 รับวัคซีน 1 เข็ม จำนวน 77 ราย คิดเป็นร้อยละ 8 รับวัคซีน 2 เข็ม จำนวน 271 ราย คิดเป็นร้อยละ 29 และรับวัคซีน 3 เข็มขึ้นไป จำนวน 23 ราย คิดเป็นร้อยละ 2

 

“เราเทียบข้อมูลของผู้สูงอายุคนที่ได้รับวัคซีนและไม่ได้รับวัคซีน พบว่า มีผู้สูงอายุที่ยังไม่ได้รับวัคซีนประมาณ 2.17 ล้านราย ในจำนวนนี้เสียชีวิตแล้ว 557 ราย คิดเป็นอัตราเสียชีวิตต่อล้านคนเท่ากับ 257 ราย ผู้สูงอายุที่ได้รับวัคซีน 1 เข็ม มีประมาณเกือบ 600,000 ราย เสียชีวิตไป 77 ราย คิดเป็นอัตรา 133 รายต่อล้านคน ผู้สูงอายุที่ได้รับวัคซีน 2 เข็ม มีประมาณ 6.25 ล้านราย เสียชีวิตไป 271 ราย คิดเป็นอัตรา 43 รายต่อล้านคน ซึ่งเป็นอัตราเสียชีวิตที่ลดลง 6 เท่า แต่ถ้า ผู้สูงอายุที่ได้รับวัคซีน 3 เข็ม ในขณะนี้มีประมาณเกือบ 3.70 ราย เสียชีวิตไป 23 ราย คิดเป็นอัตรา 6 รายต่อล้านคน เป็นอัตราเสียชีวิตที่ลดลง 41 เท่า” นพ.โสภณ กล่าวและว่า หากได้รับเข็ม 2 ครบแล้วเกิน 3 เดือน ให้ไปฉีดบูสเตอร์ โดส หรือวัคซีนเข็มที่ 3 เพื่อลดอัตราการเสียชีวิต

 

นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า สำหรับสัดส่วนการรับวัคซีนในผู้สูงอายุ มีความครอบคลุมร้อยละ 83 ซึ่งไทยเป็นประเทศที่ฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้มาก แต่ก็ยังเหลืออีกร้อยละ 17 และในจำนวนนี้ที่ฉีดวัคซีนไปแล้ว 10,544,307 ราย มีอยู่จำนวนหนึ่งที่ได้รับเข็มที่ 2 ครบแล้ว จำนวน 9,988,895 ราย และได้รับเข็มกระตุ้นไปแล้ว 3,909,295 ราย ซึ่งยังมีคนที่รอฉีดเข็มกระตุ้นอีกประมาณ 6 ล้านราย

 

“ดังนั้น หากจะช่วยกันดูแลผู้ใหญ่ในบ้าน การให้ความรู้ สร้างความเข้าใจและพาผู้สูงอายุมารับวัคซีนก่อนช่วงสงกรานต์จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ซึ่งโดยปกติผู้สูงอายุที่อยู่ต่างจังหวัด จะมีลูกหลานไปเยี่ยมช่วงสงกรานต์ เมื่อปีที่แล้ว มีหลายครอบครัวที่ต้องสูญเสียผู้สูงอายุจากการที่ลูกหลานไปเยี่ยม พร้อมกับนำเชื้อโควิด-19 ไปด้วย เหตุการณ์แบบนี้ เราไม่อยากให้เกิดขึ้นในปีนี้ ผู้สูงอายุต้องได้รับวัคซีนก่อนสงกรานต์ ลูกหลานไปเยี่ยมได้อย่างสบายใจ และลูกหลานเองก็ต้องรับวัคซีนด้วย และตรวจดูว่าไม่มีอาการหรือพบเชื้อ” นพ.โสภณ กล่าว

 

นพ.โสภณ กล่าวย้ำอีกว่า สำหรับสถานการณ์ผู้ป่วยที่ใส่ท่อช่วยหายใจ ยังน่าเป็นห่วง เนื่องจากเส้นสถานการณ์จริงกำลังขยับสูงขึ้น ในฉากทัศน์มีโอกาสขึ้นไปเป็นฉากทัศน์ที่สูงสุดได้ ขอให้ช่วยปฏิบัติตามมาตรการ รวมทั้งฉีดวัคซีนป้องกันอาการรุนแรง คาดว่าจุดสูงสุดของการระบาดที่ทำให้เกิดผู้ป่วยอาการรุนแรงจะอยู่ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมนี้

 

“ยกตัวอย่างกรณีสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ลำปาง ทำการสำรวจความต้องการวัคซีนเข็มที่ 3 จำนวน 86,798 ราย พบว่า ต้องการฉีดวัคซีน 45,542 ราย ไม่ต้องการฉีด 29,418 ราย เนื่องจาก กังวลผลข้างเคียงร้อยละ 21.1 และคิดว่าฉีด 2 เข็ม ก็เพียงพอแล้ว ร้อยละ 14.3 และลังเลอีกร้อยละ 5.8 ดังนั้น จะต้องเร่งสร้างความเข้าใจ และให้ไปรับวัคซีนเข็มที่ 3 ให้มากขึ้น ผู้สูงอายุจะปลอดภัย ลูกหลานร่วมใจ พาไปรับวัคซีน” นพ.โสภณ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ยอดผู้ติดเชื้อจะยังสูงขึ้นตามที่คาดการณ์หรือไม่และในช่วงสงกรานต์ จะมีแนวโน้มเป็นอย่างไร นพ.โสภณ กล่าวว่า ถ้าเราดูจากตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ พบว่า อยู่ในระดับความเสี่ยงที่จะพบผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง เส้นล่างสุด หรือเส้นเขียวจะไม่เป็นจริงแล้วในเวลานี้ หากดูจากการเพิ่มของผู้ติดเชื้อในไทย ซึ่งมีโอกาสเป็นเส้นของสีเหลืองและแดง ถ้าเป็นเส้นสีเหลืองจำนวนผู้ติดเชื้อจะเพิ่ม และน่าจะอยู่ประมาณ 50,000 กว่าราย ในช่วงหลังสงกรานต์ ประมาณวันที่ 19 เมษายน 2565

“และหากไม่สามารถคงมาตรการที่เข้มงวดได้ ก็อาจจะมีโอกาสที่จะมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 50,000 รายต่อวัน แต่เชื่อว่า ถ้าเราสามารถจัดการสถานการณ์ได้ดีกว่านี้ ก่อนถึงสงกรานต์เราจะเห็นจุดสูงสุดของการระบาดก่อนหน้านั้นได้ แต่ตอนนี้เป็นการคาดการณ์ที่ปกติทั่วไป” นพ.โสภณ กล่าว

เมื่อถามต่อว่า อัตราการติดเชื้อวัยไหนสูงสุด และการติดเชื้อในเด็กเป็นอย่างไร นพ.โสภณ กล่าวว่า จริงๆ ข้อมูลที่แจกแจงหากดูเป็นระลอก จะพบว่า ตัวที่เป็นร้อยละของการติดเชื้อในเด็กสูงขึ้น หากเปรียบเทียบกับระลอกก่อนหน้า ซึ่งเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด และเด็กในช่วง 0-2 ปี ติดเชื้อร้อยละ 2.4 วัย 3-4 ติดเชื้อร้อยละ 1.8 วัย 5-11 ติดเชื้อร้อยละ 7.6 และวัย 12-17 ติดเชื้อร้อยละ 6.6 ซึ่งสูงกว่าการระบาดในรอบที่แล้ว แต่กลุ่มอายุ 5-11 ปีนี้ สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนได้ ก็จะช่วยลดโอกาสการติดเชื้อและลดการแพร่เชื้อในครอบครัวได้

ต่อข้อถามอีกว่า เจอ แจก จบ ตาม รพ.มีการจำกัดการรักษา มีวิธีการรับมืออย่างไร นพ.โสภณ กล่าวว่า นโยบายนี้ทาง รพ.จะเปิดโอกาสให้ผู้ติดเชื้ออาการน้อยเข้าสู่การรักษาได้เร็วขึ้น ดังนั้น หัวใจสำคัญคือการกระจายกันไปรักษาใน รพ.ที่รับรักษาได้ เพื่อไม่ให้เกิดความแออัดเวลาไปรอ และมีโอกาสเสี่ยงแพร่เชื้อ หรือรับเชื้อเพิ่ม ซึ่งขณะนี้ได้มีการขยายไปยัง 14 จังหวัด โดยรอบ ประชาชนสามารถกระจายไปตรวจรักษารพ.ใกล้บ้านได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง