รีเซต

ย้อนดูกลยุทธ์ทำลายยาเสพติด จากยุค ‘ทักษิณ’ สู่ ‘เศรษฐา’ ยาแรงหรือยาเบา แบบไหนได้ผล

ย้อนดูกลยุทธ์ทำลายยาเสพติด จากยุค ‘ทักษิณ’ สู่ ‘เศรษฐา’ ยาแรงหรือยาเบา แบบไหนได้ผล
TNN ช่อง16
8 พฤษภาคม 2567 ( 09:50 )
30
ย้อนดูกลยุทธ์ทำลายยาเสพติด จากยุค ‘ทักษิณ’ สู่ ‘เศรษฐา’ ยาแรงหรือยาเบา แบบไหนได้ผล

---ยาเสพติดปัญหาที่แก้ไม่ตกของไทย---


ไทยเป็นหนึ่งประเทศที่ประกาศทำสงครามกับยาเสพติดในช่วงสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี 2546 เจ้าหน้าที่ดำเนินการจับกุม ยึดทรัพย์ หรือแม้กระทั่งวิสามัญฆาตกรรมผู้ค้า-ผู้ผลิต จำนวนมาก แต่ปัญหายาเสพติดก็ยังคงมีอยู่ไม่ได้หายไปไหน และมีแนวโน้มผู้เสพเพิ่มขึ้น ด้านราคายาบ้าเองก็ถูกลงเรื่อย ๆ  


กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยตัวเลขจำนวนผู้ป่วยบำบัดยาเสพติดสะสมในปี 2566 รวม 195,604 คน ถือว่าสูงขึ้นมาก เมื่อเทียบกับปี 2565 ที่มีผู้ป่วยสะสมเข้ารับการบำบัดอยู่ที่ 120,915 คน ขณะที่ ในปี 2567 ตั้งแต่เดือนมกราคม-มีนาคม มีจำนวนผู้ป่วยสะสมแล้ว 46,566 คน 


ขณะเดียวกัน รายงานสถิติผู้ต้องราชทัณฑ์คดี พ.ร.บ. ยาเสพติดทั่วประเทศ ณ วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 พบว่า มีจำนวนผู้ตัองขังคดียาเสพติดทั้งหมด 210,851 คน คิดเป็น 73.46% ของผู้ต้องขังทั่วประเทศในคดีอื่น ๆ นับได้ว่า ผู้ต้องขังคดียาเสพติดมีมากเป็นอันดับ 1 ของประเทศ 


ตัวเลขต่าง ๆ เหล่านี้ สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มที่ตัวเลขของผู้เสพและค้ายาเสพติดจะยังคงสูงขึ้นเรื่อย ๆ เป็นปัญหาใหญ่ของรัฐบาลชุดปัจจุบันที่ต้องแก้ไข โดยเฉพาะเมื่อยาเสพติดหาซื้อง่ายกว่าในอดีต และมีราคาถูก 


---ย้อนดูการประกาศสงครามยาเสพติดยุคทักษิณ---


รายงาน “การทำสงครามกับยาเสพติด” เขียนโดย นุชรัตน์ กาญจนโรจน์ ระบุว่า

ไทยมีปัญหายาเสพติดมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ 


ผู้ปกครองประเทศทุกยุคทุกสมัยพยายามจัดการมาโดยตลอด แต่ปราบปรามอย่างไรก็ไม่หมดไป 


ปัจจัยหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ไทยตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ค้ายาเสพติดที่ใหญ่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้ยาเสพติดหลั่งไหลเข้าสู่ประเทศไม่ขาดสาย 


ด้วยเหตุนี้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำรัสแก่ข้าราชการ และพสกนิกร ในวันที่ 5 ธันวาคม 2545 ทรงแสดงความห่วงใยต่อปัญหายาเสพติดที่กำลังแพร่ระบาดอย่างรุนแรงในขณะนั้น 


ส่งผลให้ ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีสมัยนั้น ตัดสินใจประกาศทำสงครามยาเสพติด ในปี 2546 หวังปราบปรามยาเสพติดให้หมดไปจากแผ่นดินไทย 


“ผมมีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้เห็นการแสดงพลังของพี่น้องร่วมชาติทั้งหลายในวันนี้ เพื่อประกาศสงครามแตกหักกับยาเสพติด และผมขอประกาศเป็นแม่ทัพใหญ่ในสงครามครั้งนี้ นำท่านทั้งหลายผนึกกำลังต่อสู้ขั้นแตกหัก เพื่อเอาชนะยาเสพติดให้ได้” ทักษิณ ชินวัตร กล่าวคำประกาศสงครามยาเสพติด ในพิธีประกาศสงครามขั้นแตกหักเพื่อเอาชนะยาเสพติด เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2546


อย่างไรก็ตาม หลังประกาศทำสงครามกับยาเสพติด เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ว่า มีการใช้ความรุนแรงในการปราบปราม เช่น วิสามัญฆาตกรรมทันทีในที่เกิดเหตุ โดยไม่มีการไต่สวน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตหลายพันคน นอกจากนี้ บางกรณี ตำรวจก็ถูกกล่าวหาว่าใช้อำนาจโดยมิชอบด้วยการยัดข้อหา 


ปัญหาดังกล่าวรุนแรงถึงขั้นที่องค์กรระหว่างประเทศต้องออกแถลงการณ์ให้ไทยหยุดใช้มาตรการดังกล่าว


นอกจากนี้ ข้อมูลจากรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปี 2547 ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ กสม.ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2546 - 30 กันยายน 2547 มีผู้ร้องเรียนต่อ กสม. ทั้งหมด 299 คน ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการดำเนินนโยบายปราบปรามยาเสพติดของทักษิณ


---ถอดนโยบายปราบปรามยาเสพติดต่างประเทศ---


ปัญหายาเสพติดไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะแค่ในไทย หรือ ประเทศเพื่อนบ้านเท่านั้น แต่ยังคงเป็นปัญหาที่หลาย ๆ ประเทศทั่วโลกแก้ไม่ตก รายงาน “World Drug Report 2023” ของ UNODC ระบุว่า ในปี 2564 ทั่วโลกมีจำนวนผู้ใช้ยาเสพติดราว 296 ล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 23% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา 


หลายประเทศต่างออกมาตรการต่าง ๆ มากมาย หนึ่งในแนวทางที่หลายประเทศมักเลือกใช้ในการปราบปรามยาเสพติด นั่นคือ การบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดต่อผู้ค้า และผู้ผลิตขั้นเด็ดขาด จนบางวิธีการก็ถูกมองว่า “เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน” 

 

ยกตัวอย่างเช่น สหรัฐฯ ที่นับได้ว่า เป็นผู้นำในการประกาศสงครามยาเสพติดมาตั้งแต่สมัยยุคประธานาธิบดี ‘ริชาร์ด นิกสัน’ ที่มองว่า ยาเสพติดคือศัตรูอันดับ 1 ของสาธารณชน พร้อมกำหนดโทษสูงสุดคือ การประหารชีวิต 


นับตั้งแต่นั้นมา สหรัฐฯ จึงเข้มงวดในการปราบปรามยาเสพติดมากขึ้น มีการใช้งบประมาณมากกว่า 17,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อแก้ปัญหานี้ 


แต่เวลาผ่านมานานกว่า 50 ปี ปัญหายาเสพติดในประเทศกลับไม่ลดลง 


ต่อมา ในปี 2554 คณะกรรมการสากลว่าด้วยนโยบายยาเสพติด ออกรายงาน “สงครามต้านยาเสพติด” ชี้ให้เห็นว่า สงครามยาเสพติดทั่วโลกนั้นล้มเหลว พร้อมกับเสนอให้เปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินนโยบาย เน้นไปที่การผ่อนปรน หันมาใช้มาตรการทางการแพทย์ บนพื้นฐานสิทธิมนุษยชน 


แม้จะมีการเรียกร้องให้ยกเลิกสงครามยาเสพติด เพื่อดำเนินไปตามหลักมนุษยธรรม แต่สำหรับฟิลิปปินส์ ในยุครัฐบาลของประธานาธิบดีโรดรีโก ดูแตร์เต ได้ประกาศทำสงครามยาเสพติดขั้นเด็ดขาดในปี 2559 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจากการดำเนินนโยบายนี้ไปมากกว่า 6,000 คน 


การปราบปรามครั้งนี้ ทำให้ยาเสพติดในประเทศลดลง แต่ก็ต้องแลกมาด้วยการถูกวิพากษ์วิจารณ์จากการใช้ความรุนแรงเกินเหตุของเจ้าหน้าที่ และการตั้งศาลเตี้ย สังหารผู้ต้องสงสัยครอบครองยาเสพติด


ส่งผลให้ศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือ ICC สั่งสอบสวนคดีการปราบปรามยาเสพติดของดูแตร์เต ฐานก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ


เช่นเดียวกับ สิงคโปร์ที่ยังคงมีกฎหมายและการลงโทษขั้นเด็ดขาดด้วยการประหารชีวิตนักโทษที่มีความผิดเกี่ยวข้องกับคดียาเสพติด โดยปี 2566 ได้ทำการประหารชีวิตนักโทษในคดีนี้ไปแล้ว 5 ราย 


---‘เศรษฐา’ ลั่น ยาเสพติดต้องหมดไปในยุครัฐบาลนี้---


หนึ่งในนโยบายหลักที่รัฐบาล ‘เศรษฐา’ กำลังผลักดันอย่างเร่งด่วน นั่นคือ การแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ประกาศตั้งเป้าหลังเข้าดำรงตำแหน่งว่า ภายใน 1 ปี ยาบ้าต้องลดลง และยาเสพติดต้องหมดไปในรัฐบาลชุดนี้  


คำประกาศดังกล่าว ส่งผลให้หน่วยงานหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องออกมาตรการ และแก้ไขกฎหมาย เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหายาเสพติดที่ยังคงครอบงำประเทศอยู่ โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน ที่รัฐบาลหวังต้องการให้ห่างไกลจากสิ่งเหล่านี้ 


หนึ่งในแนวทางที่ถูกพูดถึงอย่างมากในการแก้ไขปัญหายาเสพติดในครั้งนี้ คือ การประกาศกฎกระทรวงสาธารณสุข ที่ระบุว่า การครอบครองยาบ้าไม่เกิน 5 เม็ด ให้สันนิษฐานว่าเป็นผู้เสพ ไม่ใช่ผู้ค้า ต้องนำไปบำบัดรักษาให้หาย และจะไม่ถูกรับโทษในฐานครอบครองยาเสพติด โดยการเข้ารับบำบัดต้องขึ้นอยู่กับความสมัครใจของผู้นั้น 


แต่ถ้าไม่สมัครใจรับการบำบัดจะถูกดำเนินคดีข้อหา “ครอบครองเพื่อเสพ” ตามมาตรา 164 และถ้าหากพิสูจน์ได้ว่ามีการครอบครองเพื่อขาย ไม่ว่าจะกี่เม็ด ต้องถูกดำเนินคดีและลงโทษตามกฎหมายฐานเป็นผู้ค้า 


การออกกฎดังกล่าวมีขึ้น เพื่อหวังสกัดกั้นผู้ค้ารายย่อย ที่แต่ก่อนต้องครอบครองถึง 15 เม็ด ถึงจะให้ถือว่าเป็นการครอบครองเพื่อจำหน่าย ซึ่งหลายครั้งในกรณีที่ครอบครองไม่เกิน 15 เม็ด ผู้ค้าอาจอ้างได้ว่า มีไว้เพื่อการเสพเท่านั้น จะทำให้ได้รับโทษน้อยกว่า 


ถึงกระนั้น การออกกฎดังกล่าว ก็ถูกตั้งคำถามมากมายจากสังคม ว่า การที่ครอบครองยาบ้า 5 เม็ด แล้วเข้ารับการบำบัด จะเป็นการเปิดช่องโหว่ให้ผู้ค้าหาวิธีการใหม่ ๆ ในการค้ายาเสพติด โดยที่ไม่ต้องรับโทษหรือไม่ หากครอบครองเพียงแค่ 5 เม็ดเท่านั้น 


ผลการสำรวจของศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" เผยผลสำรวจเมื่อวันที่ 7 เมษายนที่ผ่านมา ระบุว่า ประชาชน 67.4% ไม่เห็นด้วย ต่อประมวลกฎหมายยาเสพติดที่ยึดหลัก 'ผู้เสพ คือ ผู้ป่วย' และยังพบว่า 78.85% ไม่เห็นด้วยที่ผู้ครอบครองยาเสพติด 5 เม็ด ที่เข้ารับการบำบัด จะไม่ได้รับโทษจำคุก 


ขณะที่ นายกรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า ต้องขอลองดูก่อน เนื่องจากรัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องนี้และเป็นวาระแห่งชาติ ไม่ได้ทำแค่เรื่องประกาศ 5 เม็ด คือ ผู้ป่วยเท่านั้น แต่หากดูแล้วไม่เหมาะสมจะมีการแก้ไข ปรับปรุง และเปลี่ยนแปลง 


---เปลี่ยนจาก ‘ยาแรง’ เป็น ‘ยาเบา’ ให้โอกาสผู้เสพคืนสู่สังคม---


ปัจจุบัน มีหลายประเทศได้ปรับเปลี่ยนทิศทางนโยบายยาเสพติด โดยยึดแนวทางแก้ปัญหาทางการแพทย์นำทางร่วมไปกับการปฏฺิรูปด้านกฎหมาย เพื่อดำเนินไปบนพื้นฐานที่มีมนุษยธรรม จนเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากกว่าวิธีการเดิม


ไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่เลือกจะเปลี่ยนมาใช้แนวทางโดยยึดหลักทางการแพทย์มากขึ้น เพื่อเป็นการเปิดทางให้โอกาสคนได้กลับตัวกลับใจเข้าสู่สังคมได้ใหม่อีกครั้ง ซึ่งการรักษาผู้ป่วยยาเสพติดด้วยการบำบัดทางการแพทย์อย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ แต่ต้องอาศัยปัจจัยแวดล้อมอื่นร่วมด้วย เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยหันกลับไปพึ่งพายาเสพติด


ชุมชนล้อมรักษ์ หรือ CBTx เป็นระบบบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ร่วมกับการรักษาทางการแพทย์ในการบำบัดผู้ป่วยยาเสพติดระดับสีเขียว ซึ่งเป็นกลุ่มที่ใช้ยาเสพติดอย่างเดียวไม่มีอาการทางจิตเวชร่วมด้วย เป็นการช่วยเหลือให้ผู้ที่ใช้ยาเสพติดสามารถอยู่ร่วมกับสังคมได้อีกครั้ง โดยไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง 


ปัจจุบัน มีผู้เข้ารับการบำบัดนี้แล้วมากถึง 70,000 คน และรัฐบาลได้สั่งเร่งขยายชุมชนล้อมรักษ์แล้ว 200 อำเภอ ใน 31 จังหวัด ตั้งเป้าขยายให้ครอบคลุมทั่วประเทศ หวังช่วยให้ผู้ป่วยไม่กับสู่วังวนเดิม และเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่สดใสได้อีกครั้ง


แปล-เรียบเรียง: พรวษา ภักตร์ดวงจันทร์ 

ข้อมูลอ้างอิง: 

https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/76657

http://www.correct.go.th/rt103pdf/report_result.php?date=2024-05-01&report=drug

https://www.un-ilibrary.org/content/books/9789210028233/read

https://www.tnnthailand.com/news/tnnexclusive/157656/

https://www.tnnthailand.com/news/social/164236/

https://www.prd.go.th/th/content/category/detail/id/9/iid/259497

https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/78821

https://kpi-lib.com/elib/cgi-bin/opacexe.exe?op=mmvw&db=Main&skin=s&mmid=2276&bid=5934

https://lawforasean.krisdika.go.th/Content/View?Id=70&Type=1

http://lms.nhrc.or.th/ulib/document/Fulltext/F06731.pdf

https://apnews.com/article/philippines-icc-war-on-drugs-duterte-investigation-d636b2f9ef40e768008bc6ab74bbab3f

https://www.britannica.com/topic/war-on-drugs

https://www.npr.org/2021/06/17/1006495476/after-50-years-of-the-war-on-drugs-what-good-is-it-doing-for-us

https://dmh.go.th/news/view.asp?id=2265

http://www.pmnidat.go.th/thai/downloads/handbook/62/cbtx.pdf

https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/81287

ข่าวที่เกี่ยวข้อง