รีเซต

จีนปรับเงื่อนไขดึงแรงงานพรสวรรค์ต่างชาติเข้าประเทศ โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

จีนปรับเงื่อนไขดึงแรงงานพรสวรรค์ต่างชาติเข้าประเทศ โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร
TNN ช่อง16
8 มีนาคม 2564 ( 06:48 )
265
จีนปรับเงื่อนไขดึงแรงงานพรสวรรค์ต่างชาติเข้าประเทศ โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

จีนพยายามขยายเศรษฐกิจและยกระดับภาคการผลิตสู่อุตสาหกรรมแห่งโลกอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อสนองตอบต่อนโยบาย Made in China 2025 และการสร้างนวัตกรรม กอปรกับการขยับสู่สังคมผู้สูงอายุในอนาคต ทำให้จีนต้องเผชิญกับความท้าทายครั้งสำคัญซึ่งได้แก่ การพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับความต้องการของภาคการผลิต ...


ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลจีนแหวกวงล้อมของเงื่อนไขและข้อจำกัดดังกล่าวด้วยการแสวงหาโอกาสจากความพุ่งพล่านของระบบเศรษฐกิจเสรีของโลก โดยภายใต้บริบทดังกล่าว จีนยึดหลักคิดที่ว่าปัจจัยการผลิตของโลกคือปัจจัยการผลิตของตน


ในทางปฏิบัติ จีนได้กำหนดนโยบายและมาตรการเรื่องการจ้างงานชาวต่างชาติให้เปิดกว้างมากขึ้น เพื่อเป็นท่อขนาดใหญ่ที่เปิดให้บุคลากรต่างชาติตามที่ภาคการผลิตต้องการ หลั่งไหลเข้าประเทศได้โดยสะดวก จนล่าสุดได้นำเอาระบบแต้มมาเป็นตัวกำหนดประเภทของวีซ่าที่จะออกให้แก่แรงงานเหล่านั้น 


โดยจีนจัดแบ่งแรงงานต่างชาติเหล่านี้ออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ กลุ่ม A สำหรับพรสวรรค์ชั้นยอด กลุ่ม B พรสวรรค์รายสาขาอาชีพ และกลุ่ม C แรงงานฝีมือต่ำ 


รัฐบาลจีนมีมุมมองว่า การว่าจ้างแรงงานที่มีคุณภาพสูงมีความสำคัญอย่างมากต่อความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจจีน จึงกำหนดเกณฑ์การให้คะแนนในแต่ละปัจจัยตามคุณสมบัติพิเศษที่กำหนดขึ้น อาทิ ระดับรายได้ที่คาดว่าจะได้รับในจีน 

ประสบการณ์ทำงานและความชำนาญเฉพาะด้าน ความสามารถด้านภาษาจีน และระดับการศึกษา 


หลังจากนั้น ผมก็เห็นหลายเมืองในจีนเริ่มเอาประกาศฉบับใหม่ไปกำหนดใช้ในพื้นที่ของตนเอง หนึ่งในเมืองนำร่องก็ได้แก่ นครเซี่ยงไฮ้



โดยเมื่อวันที่ 1 มีนาคม ที่ผ่านมา สำนักงานบริหารผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศแห่งนครเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Administration of Foreign Experts Affairs) ได้ออกกฎระเบียบที่กำหนดให้ผู้ประกอบการระดับโลก นักวิทยาศาสตร์ชั้นแนวหน้า นักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่างชาติ และผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ เกษตรศาสตร์ และยา อยู่ในข่ายได้รับสิทธิ์ในกลุ่ม A 


คนกลุ่ม A สามารถยื่นขอวีซ่าประเภท R ซึ่งเป็นวีซ่าการจ้างแรงงานพรสวรรค์ต่างชาติระดับไฮเอนด์และเป็นที่ต้องการสูง ซึ่งสามารถเข้า-ออกได้หลายครั้งแต่พำนักในจีนได้คราวละไม่เกิน 180 วัน รวมทั้งยังได้รับสิทธิ์พิเศษ อาทิ ขั้นตอนการยื่นขอรับการพิจารณาที่สะดวก การยกเว้นการประกันสุขภาพแก่คนที่มีอายุมากกว่า 65 ปี และการยื่นขอวีซ่าแก่สมาชิกครอบครัวได้อีกด้วย


ขณะเดียวกัน นักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก็สามารถยื่นขออนุญาตทำงานแบบไม่เต็มเวลาได้ แต่ทั้งนี้ งานดังกล่าวควรจะเกี่ยวข้องกับงานแบบเต็มเวลา


ในกรณีของชาวต่างชาติที่ลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมในจีน ก็ยังสามารถได้รับการผ่อนคลายเงื่อนไขด้านปัจจัยอายุ วุฒิการศึกษา และประสบการณ์ ในการยื่นเรื่องขอใบอนุญาตทำงาน


นอกจากนี้ เซี่ยงไฮ้ยังต้องการแรงงานฝีมือระดับสูงที่ได้รับประกาศนียบัตรด้านวิชาชีพระหว่างประเทศอีกเป็นจำนวนมาก ดังนั้น เพื่อดึงดูดบุคลากรเหล่านี้ รัฐบาลเซี่ยงไฮ้จึงได้ขยายเพดานอายุไปจนถึง 70 ปี และได้รับใบอนุญาตทำงานคราวละอย่างน้อย 2 ปี


ทั้งนี้ หากผู้ยื่นเรื่องขอใบอนุญาตทำงานต้องการถูกจัดชั้นอยู่ในกลุ่ม A และ B ก็ต้องได้รับคะแนนการประเมินที่ 85 และ 60 คะแนน ตามลำดับ 


ในกรณีที่ชาวต่างชาติต้องการเข้าไปทำงานในจีน แต่คุณสมบัติไม่เข้าข่ายหลักเกณฑ์เงื่อนไขดังกล่าว และประสงค์จะพำนักอยู่ในจีนรวมกันมากกว่า 6 เดือนต่อปี ก็สามารถยื่นขอวีซ่าประเภท Z เพื่อประกอบการยื่นขอใบอนุญาตทำงานประเภททั่วไปดังเช่นที่ผ่านมาได้ 


แต่หากท่านผู้อ่านต้องการเข้า-ออกจีนในระยะสั้นแบบหลายครั้งเพื่อทำการค้าหรือธุรกิจอื่น และจะพำนักในจีนรวมกันน้อยกว่า 6 เดือนต่อปี ก็อาจเลี่ยงไปยื่นขอวีซ่าประเภท M ซึ่งสะดวกกว่ามากแทนได้ เพราะไม่ต้องขอใบอนุญาตทำงานแต่อย่างใด


ย้อนกลับไปในเดือนเมษายน 2017 เซี่ยงไฮ้ได้เริ่มนำร่องระบบการขอใบอนุญาตทำงานของชาวต่างชาติเป็นเมืองแรกของจีน ในขณะนั้น นักธุรกิจและนักศึกษาต่างชาติก็นึกดีใจที่จะได้มีโอกาสทำงานในจีนได้สะดวกมากขึ้น เพราะถือเป็นเรื่องยากมากที่ชาวต่างชาติจะได้รับการอนุญาตทำงานในจีน ยกเว้นเป็นการว่าจ้างของกิจการต่างชาติรายใหญ่ที่ได้รับการจัดสรรโควต้าการจ้างงานในจีน



แต่เวลาผ่านไป เมื่อกิจการจีนเติบโตและต้องการแข่งขันในระดับระหว่างประเทศ ชาวต่างชาติบางส่วนก็เริ่มรู้สึกว่าจีนต้องการดึงเอาทรัพยากรมนุษย์ของชาติอื่นมาเป็นของตน โดยพยายามจูงใจชาวต่างชาติที่จบการศึกษาในจีนและมีประสบการณ์และความสามารถที่ดีให้อยู่ทำงานในจีนด้วยข้อเสนอที่จูงใจสารพัด แถมแต่ละเมืองก็แข่งกันออกมาตรการมาเย้ายวนใจอีกด้วย


ผู้ประกอบการบางรายเคยพูดคุยกันในเรื่องนี้ ผมก็ได้แต่อธิบายความให้เห็นถึงข้อดีของนโยบายและมาตรการดังกล่าว โดยสะท้อนถึงโอกาสในการสั่งสมประสบการณ์ทำงานที่ดี และรับผลตอบแทนที่เหมาะสมจากกิจการของจีน รวมทั้งได้ติดตามพัฒนาการอันรวดเร็วของจีนที่หาซื้อไม่ได้ 


นอกจากนี้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ธุรกิจจีนได้พัฒนาความสามารถในการแข่งขันและกลายเป็นผู้เล่นหลักในตลาดโลก ไม่ใช่เป็นผู้ตามดังเช่นในอดีตอีกต่อไป 


และบ่อยครั้งที่พบว่า ภาคธุรกิจในไทยในอดีตก็ยังประกอบธุรกิจกับจีนค่อนข้างจำกัด จึงไม่เห็นคุณค่าของใบปริญญา ความรู้เรื่องภาษาและวัฒนธรรมจีน รวมทั้งประสบการณ์ในจีน ทำให้ผู้ที่จบการศึกษาจากจีนและต้องการกลับไปทำงานที่ไทย ไม่มีตลาดแรงงานที่เหมาะสมรองรับ ทั้งในด้านตำแหน่ง ผลตอบแทน และเส้นทางอาชีพ



หรือหากต้องการเริ่มต้นประกอบธุรกิจที่ไทย กิจการที่ฝันไว้อาจไม่มีแรงสนับสนุนส่งเสริมที่เหมาะสมจากภาครัฐ และเต็มไปด้วยข้อจำกัดอื่น อาทิ โมเดลธุรกิจนั้นมาเร็วเกินไป (ในบางสาขาธุรกิจ จีนล้ำหน้ากว่าไทยไปหลายช่วง) ระบบนิเวศยังต้องใช้เวลาในการพัฒนาอีกระยะหนึ่ง ตลาดอาจยังไม่พร้อมยอมรับสินค้าและบริการเหล่านั้น หรือขนาดตลาดของไทยที่เล็กในเชิงเปรียบเทียบกับของจีน ทำให้ไม่สามารถขยายธุรกิจและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันสู่ระดับโลกได้


แต่ท่านผู้อ่านอย่าเข้าใจผิดและคิดว่าผมเชียร์ให้คนไทยไม่กลับไทย การอยู่ทำงานในจีนก็เพื่อใช้เวลาระยะสั้นในการฝึกปรือวิทยายุทธ์ทางธุรกิจ ได้เรียนรู้วิธีคิด และพฤติกรรมของจีนได้ลึกซึ่งยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ภาคธุรกิจของไทยในระยะยาว เหมือนกับที่เราเห็นคนไทยไปเรียนต่อและอยู่ทำงานในสหรัฐฯ และประเทศพัฒนาแล้วอื่นในยุคก่อนหน้านี้ 


บุคลากรที่เคยลุยไปเป็นโรบินฮู้ดเหล่านั้นกลับมาพร้อมกับความรู้ มุมมอง และประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ยิ่งต่อการพัฒนาประเทศแทบทั้งสิ้น และเมื่อมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกกำลังเปลี่ยน การเรียนรู้จากจีนที่เศรษฐกิจกำลังปรับโครงสร้างโดยจะหันไปพึ่งพาตลาดภายในประเทศในระดับที่สูงขึ้น ภายใต้นโยบาย “เศรษฐกิจวงจรคู่” และมีแนวโน้มจะก้าวขึ้นเป็นหมายเลขหนึ่งของโลกในราวสิ้นทศวรรษนี้ ก็มีนัยสำคัญต่อการปรับตัวของผู้ประกอบการและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของบ้านเราในอนาคตเช่นกัน


นอกจากนี้ วิกฤติโควิด-19 ก็ยังเป็นอีกสาเหตุสำคัญหนึ่งที่ทำให้ระบบการขอรับใบอนุญาตทำงานในจีนต้องได้รับการปรับปรุงอีกครั้ง



ในเดือนกุมภาพันธ์ 2020 ซึ่งเป็นช่วงที่จีนกำลังเผชิญวิกฤติโควิด-19 รัฐบาลเซี่ยงไฮ้ โดยคณะกรรมการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ก็ขยายบริการการยื่นขอรับใบอนุญาตทำงานแบบออนไลน์แก่ชาวต่างชาติในกลุ่ม A เพื่อหลีกเลี่ยงการรวมกลุ่มของผู้คน และกระตุ้นให้คนเหล่านี้อยู่ทำงานในจีนต่อไป 


และเมื่อต้นเดือนมีนาคม 2021 รัฐบาลเซี่ยงไฮ้ก็ได้ประกาศขยายบริการออนไลน์ดังกล่าวให้ครอบคลุมถึงผู้ที่อยู่ในกลุ่ม B และกลุ่ม C และเปิดโอกาสให้นายจ้างสามารถช่วยกรอกเอกสารการขออนุญาตแทนลูกจ้างก่อนวันที่อายุใบอนุญาตทำงานจะสิ้นสุดลง จากเดิมที่ต้องยื่น 30 วันล่วงหน้า ซึ่งช่วยให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องจำนวนมากได้รับความสะดวกยิ่งขึ้น 


ทั้งนี้ นับแต่เริ่มมาตรการดังกล่าว รัฐบาลเซี่ยงไฮ้ได้ออกใบอนุญาตใหม่และต่อใบอนุญาตเดิมจำนวนเกือบ 10,000 ราย 


แม้กระทั่งขั้นตอนและกระบวนการพิจารณาใบอนุญาตทำงานของชาวต่างชาติก็กระชับขึ้น โดยลดเวลาจาก 10 วันทำการเหลือเพียง 3 วันทำการ ทั้งนี้ ระเบียบใหม่ยังอนุญาตในหลักการให้แรงงานต่างด้าวได้รับอนุญาตให้พำนักอยู่ในจีนได้อีก 2 เดือนนับแต่ใบอนุญาตทำงานหมดอายุ เพื่อความสะดวกในการเดินทางออกจากจีนในช่วงที่โลกยังเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19


การดำเนินงานในลักษณะดังกล่าวสะท้อนว่า หากจีนได้รับประโยชน์จากสิ่งใด รัฐบาลจะพยายามปรับปรุงหลักเกณฑ์เงื่อนไขและขั้นตอนในเชิงรุกเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง ไทยเราอาจนำแนวคิดมาปรับใช้กับการปรับปรุงเงื่อนไขและหลักเกณฑ์การอนุญาตและกำกับดูแลแรงงานต่างด้าว หรือแม้กระทั่งการยกระดับการรับเอาบุคลากรที่มีพรสวรรค์เข้ามาทำงานในบ้านเราในอนาคต


ปัจจุบันมีชาวต่างชาติทำงานในเซี่ยงไฮ้อยู่ราว 215,000 คน คิดเป็น 23.7% ของจำนวนทั้งหมด ซึ่งสูงที่สุดของบรรดาเมืองต่างๆ ในจีน แถมเซี่ยงไฮ้ยังครองตำแหน่งแชมป์เมืองยอดนิยมของชาวต่างชาติเป็นปีที่ 8 ติดต่อกัน



นับแต่เริ่มระบบการออกใบอนุญาตแก่ชาวต่างชาติในปี 2017 จนถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2021 เซี่ยงไฮ้ได้อนุมัติใบอนุญาตทำงานแก่ชาวต่างชาติไปมากกว่า 270,000 ใบ โดยในจำนวนนี้ กว่า 18.5% ออกให้แก่คนในกลุ่ม A ซึ่งถือว่ามากที่สุดในจีน 

การอำนวยความสะดวกดังกล่าวยังขยายต่อไปยังส่วนอื่นที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานบริหารการกำกับควบคุมตลาด (Administration of Market Supervision) แห่งเซี่ยงไฮ้ ได้ยกเว้นการรับรองเอกสาร (Notarization) และการรับรองความถูกต้องของเอกสารประกอบการยื่นขอใบอนุญาตทำงานที่สถานทูต/สถานกงสุลของจีนในต่างประเทศ โดยอนุญาตให้ใช้ซีลอิเล็กทรอนิกส์


นอกจากนี้ การเปิดบัญชีธนาคารของธุรกิจต่างชาติที่เข้าไปลงทุนในจีนก็ได้รับความสะดวกเช่นกัน โดยธนาคารพาณิชย์ในเซี่ยงไฮ้หลายแห่งเริ่มยอมรับการยืนยันตัวตนผ่านวิดิโอคอนเฟอร์เร็นซ์ หรือการสัมภาษณ์ออนไลน์ทดแทนการเดินทางมาด้วยตนเอง เพื่อลดการพบปะซึ่งหน้า


ด้วยนโยบายและมาตรการดึงทรัพยากรมนุษย์จากต่างประเทศเพื่อป้อนภาคการผลิตแห่งโลกอนาคตในเชิงรุกของจีนดังกล่าว จึงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมเซี่ยงไฮ้ได้ก้าวขึ้นเป็นเมืองแห่งนวัตกรรมในปัจจุบัน ขณะที่จีนก็กำลังพุ่งทะยานขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งของโลกในสิ้นทศวรรษนี้ ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง