รีเซต

“หินดวงจันทร์เทียม” จุดเริ่มต้นของฝุ่นดิน ที่จะพาไทยบินไปอวกาศ

“หินดวงจันทร์เทียม” จุดเริ่มต้นของฝุ่นดิน ที่จะพาไทยบินไปอวกาศ
TNN ช่อง16
3 มกราคม 2565 ( 18:13 )
138
“หินดวงจันทร์เทียม” จุดเริ่มต้นของฝุ่นดิน ที่จะพาไทยบินไปอวกาศ

หากใครติดตามข่าวสารเทคโนโลยีอวกาศ คงจะได้เห็นข่าว NASA กำลังเตรียมภารกิจ Artemis ส่งมนุษย์กลับไปดวงจันทร์อีกครั้งในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งคาดว่าครั้งนี้คงไม่ได้ไปแค่เยี่ยมเยือนสั้น ๆ แต่อาจจะเป็นการไปศึกษาหาลู่ทางเพื่อให้มนุษย์สามารถตั้งถิ่นฐานอยู่บนดวงจันทร์ในระยะยาวได้


ภาพจาก NASA

 

ดังนั้นเพื่อให้มนุษย์พร้อมที่จะกลับไปดวงจันทร์ได้จริง ๆ ที่ผ่านมาเราจึงต้องเรียนรู้เกี่ยวกับดวงจันทร์ให้ได้มากที่สุด และหนึ่งในนั้นก็คือการเก็บตัวอย่างทรัพยากรบนดวงจันทร์กลับมาศึกษา ซึ่งก็คือ “หินและฝุ่นดิน” เพื่อที่จะได้วางแผนพัฒนาอุปกรณ์ที่ใช้ หรือแม้กระทั่งเพิ่มโอกาสอยู่รอดบนดวงจันทร์ให้ได้ 


อย่างไรก็ตาม การเก็บตัวอย่างหินและฝุ่นดินบนดวงจันทร์กลับมาปริมาณมาก ๆ ในแต่ละครั้ง ก็ยังต้องเผชิญกับอุปสรรคและข้อจำกัดบางอย่าง รวมถึงปริมาณของตัวอย่างที่เก็บมานั้น ก็ไม่เพียงพอ ต่อความต้องการในการศึกษา จึงทำให้นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก ต่างพยายามที่จะเลียนแบบหินและฝุ่นดินบนดวงจันทร์ขึ้นมา จนกลายเป็น “หินดวงจันทร์เทียม” หรือ “หินดวงจันทร์จำลอง”


ดังนั้น “หินดวงจันทร์จำลอง” หรือ “หินดวงจันทร์เทียม” จึงเป็นหินที่สร้างขึ้นจากวัสดุที่มีอยู่ในโลก โดยกำหนดคุณสมบัติทั้งทางกายภาพและเคมีให้คล้ายคลึงกับหินดวงจันทร์จริง ๆ มากที่สุด โดยอ้างอิงจากข้อมูลของตัวอย่างหินดวงจันทร์ที่ถูกเก็บมาจากภารกิจจริง ๆ เช่น อพอลโล 11 เป็นต้น

และ ณ วันนี้ ก็เป็นที่น่าภูมิใจที่ประเทศไทยของเรา มีทีมที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาหินดวงจันทร์เทียมนี้เหมือนในต่างประเทศแล้วเช่นกัน โดยเป็นผลงานของทีม SpaceZab แต่กว่าจะได้เป็นหินดวงจันทร์เทียม ทางทีมพัฒนาจะต้องเริ่มตั้งแต่กระบวนการศึกษา ว่าหินแบบไหนถึงจะใกล้เคียงหินดวงจันทร์มากที่สุด ซึ่งก็ได้คำตอบว่าต้องเป็น “หินบะซอลต์” ซึ่งส่วนใหญ่พบที่บริเวณภาคอีสานและภาคตะวันออกของไทย

โดยก่อนหน้านี้ ทีมพัฒนาเลือกลงพื้นที่จังหวัดตราด และ จังหวัดจันทบุรี เพื่อทำการเก็บหินตัวอย่างที่ดีที่สุด เหมาะสมที่สุด สำหรับนำมาพัฒนาต่อ โดยหลังจากลงพื้นที่เก็บหินที่ต้องการได้แล้ว ก็ต้องนำมาผ่านกระบวนการทุบและบด ให้หินมีลักษณะเป็นฝุ่นผงละเอียดคล้ายคลึงกับหินดวงจันทร์ และยิ่งเม็ดฝุ่นมีความละเอียดมากเท่าไร ก็ยิ่งเอาไปประยุกต์ใช้งานต่อได้ง่ายมากขึ้นเท่านั้น


ถัดจากขั้นตอนนี้ ก็จะนำหินที่ได้ไปผ่านกระบวนการต่าง ๆ รวมถึงใช้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนในการส่องตรวจสอบคุณภาพขนาดของหิน เนื้อ และสภาพภายใน และจะต้องผ่านกระบวนการทางเคมี รวมถึงการตรวจสอบในขั้นสุดท้าย เพื่อให้แน่ใจว่าได้หินดวงจันทร์เทียมที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงหินบนดวงจันทร์จริง ๆ มากที่สุด ซึ่งก็เรียกได้ว่าเนียนจริง คุณภาพดีจริง จนได้รับการยอมรับ เเละบันทึกอยู่ในฐานข้อมูลวิจัย Planetary Simulant Database อีกด้วย

โดยดร.วเรศ จันทร์เจริญ อาจารย์ประจำวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวว่า การวิจัยและการสร้างหินดวงจันทร์เทียม ไม่ได้เกิดมาเพื่อความสวยงาม หรือเป็นของที่ระลึกอย่างเดียวเท่านั้น แต่จะเป็นการเปิดประตูให้กับอีกหลากหลายอุตสาหกรรม หากได้รับการนำไปต่อยอดอย่างจริงจัง ซึ่งก็มีตัวอย่างให้เห็นแล้วทั้งในด้านวิชาการและด้านเศรษฐกิจ


ดังนั้นหินดวงจันทร์จึงไม่ใช่แค่เรื่องของเทคโนโลยีบนดวงจันทร์หรืออวกาศเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของมนุษย์บนโลก ที่สามารถนำเอาไปต่อยอดได้อีกมาก ตั้งแต่เอาไปใช้ผสมกับวัสดุอื่น ๆ ให้มีความแข็งแกร่งมากขึ้น, เอาไปใช้ประกอบการจำลองสภาพบนดวงจันทร์จริง ๆ เพื่อพัฒนาอุปกรณ์ในการปฏิบัติภารกิจบนดวงจันทร์ หรือแม้กระทั่งภาคการเกษตรก็สามารถศึกษาเรื่องการปลูกพืชได้ การศึกษาและพัฒนาหินดวงจันทร์เทียมจึงเกิดประโยชน์ในหลากหลายแขนง ไม่ว่าจะเป็นด้านวิชาการ วิทยาศาสตร์ หรือวิศวกรรมศาสตร์ และศาสตร์อื่น ๆ อีกมากเลยทีเดียว


สุดท้ายแล้ว ความมุ่งหวังในการพัฒนาหินดวงจันทร์เทียม คือการสร้างพื้นฐานของนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ไม่จำกัดแค่บนอวกาศหรือดวงจันทร์ ไม่แน่ว่าจุดเริ่มต้นที่เราจำลองหิน สักวัน อาจจะนำเราไปสู่การค้นพบที่ยิ่งใหญ่ ที่อาจจะพาไทยก้าวเข้าไปยืนในตลาดเทคโนโลยีอวกาศ และเทคโนโลยีแห่งอนาคตก็เป็นได้


ขอบคุณข้อมูลจาก

facebook.com/spacezab, facebook.com/spacezab (2) ,spacezab.com/tls/, simulantdb.comfacebook.com/spacezab (3)

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง