ซีไอเอ็มบี มองจีดีพีไทยปีนี้ติดลบ 7.5% - แนะ ‘เอียงจีน อ่อนตามสหรัฐ’ รับมือ 10 ปีมังกรผงาดเบอร์ 1
ซีไอเอ็มบี มองจีดีพีไทยดีขึ้น ปีนี้ติดลบ 7.5% - แนะเดินกลยุทธ์ ‘เอียงจีน อ่อนตามสหรัฐ’ รับมือ 10 ปีมังกรผงาดเบอร์ 1 เศรษฐกิจ-การค้าโลก
ซีไอเอ็มบีชี้จีดีพีติดลบ 7.5% - นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า ประเมินแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจไทย หรือจีดีพี ปี 2563 จะติดลบ 7.5% โดยมีมุมมองดีขึ้นจากก่อนหน้านี้ที่ประเมินว่าจะติดลบ 8.9% หลังเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 หดตัวน้อยกว่าที่คาดไว้ โดยติดลบ 12.2% และ ไตรมาส 3 คาดว่าติดลบ 8% ส่วนไตรมาส 4 คาดจะติดลบ 0.5-1% โดยภาครัฐ ภาคเอกชน ต้องเร่งลงทุน โดยเฉพาะโครงการอีอีซี และโครงสร้างพื้นฐาน
แต่อย่างไรก็ดี สิ่งที่เป็นห่วง คือ ภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอาจไม่ต่อเนื่อง เพราะต่างประเทศมีการล็อกดาวน์ รอบใหม่ ทำให้การส่งออกที่เดิมคาดว่าจะฟื้นตัวดีขึ้น อาจกลับมาติดลบเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ การบริโภคในประเทศอาจฟื้นตัวได้ไม่ดีเท่าไตรมาส 3 และปัจจัยสุดท้าย คือ การเมืองในประเทศมีผลต่อความเชื่อมั่นการลงทุนของภาคเอกชนและการบริโภคภายในประเทศ แต่อย่างไรก็ดี มองว่าเป็นปัจจัยชั่วคราว โดยจะเห็นการฟื้นตัวเศรษฐกิจได้อีกครั้งในไตรมาส 1 ปี 2564 ส่งผลให้ทั้งปีหน้าทั้งปี จีดีพีจะขยายตัวได้ 2.8%
ขณะเดียวกันมองว่ากว่าที่เศรษฐกิจไทยกลับมาเติบโตได้อีกครั้งอาจต้องใช้เวลาอีก 3 ปี เนื่องจากขณะนี้การท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัว จากการเผชิญการแพร่ระบาดโควิด-19 เชื่อว่าหากมีวัคซีน และ ควบคุมโควิด-19 ได้ จะทำให้นักท่องเที่ยวกลับเข้ามาในประเทศได้ ซึ่งประเมินกลางปี 2564 จะมีนักท่องเที่ยวเข้าประเทศราว 6 ล้านคน
ขณะที่สถานการณ์การเลือกตั้งในสหรัฐ ในระยะสั้นมองว่ายังมีความไม่แน่นอนสูง ไม่ว่า โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งพรรครีพับลิกัน หรือ โจ ไบเดน แห่งพรรคเดโมแครต จะขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี จากนี้ถึงต้นปีหน้า ประเมินว่าค่าเงินดอลลาร์จะอ่อนค่าลง และมีผลต่อค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น และหากไบเดน ชนะเลือกตั้ง จะดำเนินนโยบายเก็บภาษีบริษัทในอเมริกา และมีนโบายก่อหนี้ค่อนข้างมาก โอกาสที่เงินดอลลาร์จะอ่อนค่ารุนแรงและมีโอกาสที่ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐจะหลุดไปที่ 29 บาทได้ แต่ หากทรัมป์ กลับมาชนะเลือกตั้งอีกครั้ง และเดินนโยบายอเมริกาต้องมาก่อน มองว่าค่าเงินบาทจะอยู่บริเวณ 30 บาทกว่า
นายอมรเทพ กล่าวด้วยว่า ไม่ว่าผู้นำสหรัฐ คนต่อไปจะเป็นใคร สหรัฐจะกลายเป็นมหาอำนาจเบอร์ 2 และจีนจะขึ้นเป็นผู้นำเศรษฐกิจและการค้าโลกแทนสหรัฐ ภายใน 10 ปี ซึ่งมีนัยต่อการวางยุทธศาสตร์สหรัฐ และเศรษฐกิจโลก การวางตัวของไทย โดยต้องเปิดรับทั้งคู่ และอยู่ร่วมกับสหรัฐและจีนให้ได้ ไม่ควรเลือกข้าง เพราะวันนี้ไทยต้องค้าขายกับจีน แม้จีนยังเป็นมหาอำนาจเบอร์ 2 แต่เรื่องการค้าจีนเป็นเบอร์ 1 ของโลก ไทยจึงต้องเพิ่มการเป็นห่วงโซ่อุปทานการผลิตกับจีนให้มากขึ้น เปิดรับการย้ายฐานจากจีนให้เข้ามาบ้านเราให้มากขึ้น เพื่อหาทางส่งออกไปสหรัฐ และส่งออกไปประเทศอื่น ยุทธศาสตร์ของประเทศไทยเช่นนี้ เรียกว่า ‘เอียงจีน อ่อนตามสหรัฐ’ คือ เปิดรับทั้งสองด้าน เดินหน้าความร่วมมือของประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศกับภาคีอีก 6 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ หรือ RCEP และร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP กับสหรัฐ