การประชุมครั้งสำคัญ Virtual Leaders Summit 2021 สร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่อโลกที่ยั่งยืนไปด้วยกัน
โลกทุกวันนี้ต้องเผชิญกับปัญหารอบด้าน ทั้งเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่รวดเร็ว รวมทั้งปัญหาโรคระบาดที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่งผลกระทบไปทั่วทุกพื้นที่ หลากปัญหาที่ต้องการความร่วมมือจากทุกฝ่ายในการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ทรงพลัง ถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการลงมือเปลี่ยนแปลงโลกของเราให้ดีขึ้นกว่าเดิม
A New Era of Action…Start Now
สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (Global Compact Network Thailand: GCNT) เครือข่ายท้องถิ่น (Local Network) ของโครงการสำคัญระดับโลกขององค์การสหประชาชาติ เตรียมจัดฟอรั่มใหญ่ระดับโลก “Virtual Leaders Summit 2021” ระดมทัพสุดยอดผู้นำจากทั่วโลก รับมือกับความท้าทายของวิกฤตโควิด-19 และความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รวดเร็ว ทั้งผู้กำหนดนโยบาย ภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาควิชาการและภาคประชาสังคม กว่า 1,000 คน อาทิ อันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ ฮาลีมะฮ์ ยากอบ ประธานาธิบดีสิงคโปร์ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีไทย ไนเจล ท้อปปิ้ง High-Level Climate Champions for Climate Action COP26 เจมส์ ควินซีย์ ซีอีโอ โคคา-โคลา จูลี่ สวีท ซีอีโอ เอคเซนเซอร์ พร้อมด้วยนักธุรกิจจากประเทศไทย นายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ศุภชัย เจียรวนนท์ ได้รับเกียรติในการร่วมเสวนาบนเวทีระดับโลก และซีอีโอองค์กรชั้นนำ ซึ่งเป็นสมาชิกของสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กฯ บมจ.เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ บมจ.ไทยวา องค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ร่วมระดมความคิด ผนึกกำลังปรับเป้าหมายทางธุรกิจ เพื่อจัดการกับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มาบรรจบการระบาดของโควิด-19 ความไม่เท่าเทียมกันทางสังคม เศรษฐกิจที่เลวร้ายลง และการคอร์รัปชั่นที่ไม่ถูกตรวจสอบ รวมทั้งเสนอแผนงานเพื่อการฟื้นตัวอย่างยั่งยืน พร้อมเปิดประชุมทางไกลสร้างเครือข่าย Online Networking ตลอด 26 ชั่วโมง ในวันที่ 15-16 มิถุนายนนี้
ความน่าสนใจของเวทีประเทศไทยในงาน Virtual Leaders Summit 2021 คือ การนำเสนอประเด็นที่สอดคล้องกับความเคลื่อนไหวในระดับโลกที่ยกให้การรับมือกับมหันตภัยโลกร้อน เป็นเรื่องสำคัญต่อจากวิกฤตโควิด-19 และสอดคล้องกับการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน 17 ข้อ ที่อันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติเรียกร้องให้ทุกภาคส่วน “เร่งเครื่อง” โดยเรียก 10 ปีต่อจากนี้ว่า ทศวรรษแห่งการลงมือทำ (Decade of Action) แต่ในขณะที่โลกกำลังเดินหน้าเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ข้อได้แล้วเป็นบางข้อ ก็ยังคงมีบางข้อที่ใช้เวลานานหรืออาจแย่ลงกว่าเดิม นั่นคือ การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (SDGs ข้อ 13 Climate Change) และเรายังต้องเผชิญกับการระบาดของโควิด-19 ที่คร่าชีวิตผู้คนมากมาย ทำลายชีวิตความเป็นอยู่ ทำให้ห่วงโซ่อุปทานต้องหยุดชะงัก ตอกย้ำความเหลื่อมล้ำ และแทบจะทำให้สิ่งที่ทำเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนสูญหายไป
การชักชวนให้ภาคเอกชนมาต่อสู้กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ จึงเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่สำคัญที่สุดของ UN Global Compact ซึ่งมีแผนยุทธศาสตร์ใน 3 ปี ข้างหน้าที่จะยกระดับแผนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับวิกฤตภูมิอากาศ โดยสนับสนุนให้บริษัทต่างๆ ตั้งเป้าหมายที่จริงจังและวัดผลได้ ที่สำคัญ คือ การสร้างความรู้ความเข้าใจว่าภาคธุรกิจไม่จำเป็นต้องเลือกระหว่างการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กับการมีสถานะทางการเงินและกำไรที่มั่นคง เพราะในทางกลับกันการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลให้ผู้คน สังคม ธุรกิจและเศรษฐกิจมีความเจริญงอกงามยิ่งขึ้น นอกจากนี้ UN Global Compact ยังส่งเสริมให้ภาครัฐและภาคเอกชนสนับสนุนซึ่งกันและกันด้วย เวทีประเทศไทยที่มีทั้งตัวแทนของภาครัฐและภาคเอกชนในครั้งนี้ จึงตอบโจทย์การรับมือกับสภาพการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่กำลังมีความเคลื่อนไหวคึกคักทั่วโลก เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนเป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2050
สำหรับ สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ในปีนี้ได้ร่วมจัดเวทีเสวนาในนามประเทศไทย ในหัวข้อ การต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ: ยกระดับแนวทางธุรกิจเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก “Accelerate Climate Action: Raising Business Pathway to Decarbonization” โดยได้รับเกียรติจากผู้บุกเบิกนวัตกรรมธุรกิจที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต คุณแดน ปฐมวาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะตัวแทนของภาคเอกชนไทย และ คุณเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างนวัตกรรมขับเคลื่อนเรื่องนี้ในประเทศไทย โดยคุณยูกิ ยาสุย Asia Pacific Region Co-ordination Manager, United Nations Environment Program Finance Initiative (UNEP FI) เป็นผู้ดำเนินรายการ
เครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทยขอเชิญชวนทุกคนร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กที่รวมผู้นำระดับโลกกว่า 1,000 คน จากภาคธุรกิจ สหประชาชาติและประชาสังคมทั่วโลกเพื่อระดมความคิดรับมือกับความท้าทายของวิกฤตโควิด-19 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รวดเร็ว ความไม่เท่าเทียมกันทางสังคม เศรษฐกิจที่เลวร้ายลง และการคอร์รัปชั่นที่ไม่ถูกตรวจสอบ พร้อมผนึกกำลัง ปรับเป้าหมายทางธุรกิจ และลงมือสร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่อโลกที่ยั่งยืนไปด้วยกัน
กำหนดการ (ตามเวลาประเทศไทย)
วันที่ 15 มิ.ย. 64
เวลา 18.50 น. พิธีเปิดการประชุมสุดยอดผู้นำสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็ก
เวลา 22.00 – 22.50 น. คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ตัวแทนภาคธุรกิจไทยบนเวทีโลก ในฐานะประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และนายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ในหัวข้อ Light the Way to Glasgow and Net Zero: Credible Climate Action for a 1.5°C World
วันที่ 16 มิ.ย. 64
เวลา 9.00 – 9.50 น. สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย เป็นเจ้าภาพจัดงาน ในหัวข้อ A New Era of Action. Accelerate Climate Action: Raising Business Pathway to Decarbonization พบตัวแทนสมาชิกเครือข่ายฯ จาก 2 องค์กรชั้นนำของประเทศไทย ได้แก่
- คุณแดน ปฐมวาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน)
- คุณเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)
เวลา 12.00 – 13.00 น. คุณโฮ เรน ฮวา ตัวแทนภาคธุรกิจไทยบนเวทีโลก ในฐานะประฐานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยวา จำกัด (มหาชน) ในหัวข้อ SDG Ambition: Mobilizing Ambitious Corporate Actions Towards the Global Goals
ถึงเวลาแล้วที่เราต้องร่วมมือกันเพื่อโลกที่ดีกว่าเดิม ร่วมสัมมนาออนไลน์พร้อมกัน วันที่ 15-16 มิ.ย.64 ดูรายละเอียดและลงทะเบียนได้แล้ววันนี้ทาง https://globalcompact-th.com/UNGCLeadersSummit2021
เกี่ยวกับ GCNT*
สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ( Global Compact Network Thailand: GCNT) ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2559 โดยสมาชิกผู้ก่อตั้งในไทย 15 บริษัท ปัจจุบันมีสมาชิก 70 บริษัท โดย GCNT ถือเป็นหนึ่งในเครือข่ายท้องถิ่น (Local Network) ของโครงการสำคัญในระดับโลกขององค์การสหประชาชาติ UN Global Compact เครือข่ายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งรณรงค์ให้บริษัททั่วโลกวางกลยุทธ์และยึดหลักการทำงานที่สร้างเศรษฐกิจยั่งยืนครอบคลุมการดำเนินงานใน 4 ด้าน ได้แก่ สิทธิมนุษยชน มาตรฐานแรงงานสิ่งแวดล้อม การต่อต้านทุจริต ตลอดจนดำเนินกิจกรรมที่ช่วยผลักดันเป้าหมายของสังคมในวงกว้าง ภายใต้หลักสากล 10 ประการของ UN Global Compact เพื่อบรรลุเป้าหมายของสหประชาชาติ อาทิ เป้าหมายสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) รวมไปถึงข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Paris Agreement)
*ข้อมูลจาก thaipublica.org