ศบค.มท. แจ้งด่วนถึงผู้ว่าฯ สั่งทุกจังหวัดปฏิบัติตามคำสั่งอย่างเคร่งครัด รายงานปัญหาทุกวัน
ศบค.มท. แจ้งด่วนถึงผู้ว่าฯ สั่งทุกจังหวัดปฏิบัติตามคำสั่งอย่างเคร่งครัด รายงานปัญหาทุกวัน
วันที่ 17 พ.ค. เพจเฟซบุ๊ก กระทรวงมหาดไทย PR ได้โพสต์คำสั่ง โทรสารในราชการกระทรวงมหาดไทย ด่วนที่สุด ที่มท. 0230/ว 2776 ลงวันที่ 16 พ.ค. จากปลัดกระทรวงมหาดไทย ถึง ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด
กดติดตามไลน์ ข่าวสด official account ได้ที่นี่
โดยเฟซบุ๊ก กระทรวงมหาดไทย PR ระบุว่า ศบค.มท. สั่งการทุกจังหวัดปฏิบัติตามข้อกำหนดฯ และคำสั่ง ศบค. โดยเคร่งครัด พร้อมให้รายงานผลการปฏิบัติงานปัญหา-ข้อแนะนำอย่างต่อเนื่อง
วันนี้ (17พ.ค.63) ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กระทรวงมหาดไทย (ศบค.มท.) เปิดเผยว่า ด้วย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้มีข้อกำหนดและคำสั่ง จำนวน 2 ฉบับ คือ
1. ข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 7) ลงวันที่ 15 พ.ค. 2563 ซึ่งมีสาระสำคัญ คือ 1) การห้ามบุคคลใดทั่วราชอาณาจักรออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 23.00 - 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น และให้ข้อยกเว้นตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 3) ลงวันที่ 10 เม.ย. 2563 ยังคงใช้บังคับต่อไป 2) ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผว.กทม.) หรือผู้ว่าราชการจังหวัด (ผวจ.) มีอำนาจพิจารณาผ่อนผันการใช้อาคารสถานที่ของโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา เฉพาะการให้ความช่วยเหลือเด็กกำพร้า เด็กยากไร้ หรือเด็กด้อยโอกาส หรือเพื่อกิจกรรมอันเป็นประโยชน์สาธารณะ โดยยังงดเว้นการใช้เพื่อการจัดการเรียนการสอน การสอบ หรือการฝึกอบรม 3)
การผ่อนคลายให้ดำเนินการหรือทำกิจกรรมบางอย่างได้ ภายใต้การดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด รวมทั้งการจัดระเบียบและระบบต่างๆ ให้สถานที่หรือการดำเนินกิจกรรมที่ ผว.กทม. และ ผวจ. เคยมีคำสั่งปิดสถานที่ไว้เป็นการชั่วคราว ตามข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 5) ลงวันที่ 1 พ.ค. 2563 สามารถเปิดดำเนินการหรือทำกิจกรรมบางอย่างเพิ่มเติมได้ทั่วราชอาณาจักรตามความสมัครใจและความพร้อม 4) ให้เจ้าของหรือผู้จัดการสถานที่ตาม 3) มีหน้าที่รับผิดชอบในการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค รวมทั้งจัดระเบียบตามคำแนะนำ เงื่อนไข และเงื่อนเวลาที่ ผว.กทม. ผวจ. หรือที่ทางราชการกำหนด ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่สามารถเข้าตรวจสอบ แนะนำ ตักเตือน ห้ามปราม หรือดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดตามกฎหมาย 5) ให้ ผว.กทม. และ ผวจ. อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 มีคำสั่งปิดสนามชนโค สนามกัดปลา หรือสนามการแข่งขันอื่นในลักษณะทำนองเดียวกันเพิ่มเติม รวมทั้งดำเนินการอื่นใดให้สอดคล้องกับข้อกำหนดนี้ และ
2. คำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ 3/2563 เรื่อง แนวปฏิบัติตามข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ. ศ. 2548 (ฉบับที่ 2) ให้หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินและพนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันโรคโดยเคร่งครัด
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับการสั่งการและประสานกับ ผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด รับทราบ ถือปฏิบัติ และออกคำสั่ง ตามข้อกำหนดฯ และคำสั่งฯ ทั้ง 2 ฉบับ โดยเคร่งครัด และไม่ต้องเพิ่มเติมกิจการ/กิจกรรมใด ๆ แต่อาจเสริมมาตรการในทางปฏิบัติได้ และให้สร้างการรับรู้ตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตามคำสั่งฯ แก่ผู้ประกอบการ พนักงาน ผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ ประชาชน และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องทุกระดับ
โดยหากผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาและมีความเห็นจะดำเนินการอื่นใดต่างไปจากข้อกำหนดฯ ให้รายงาน ศบค.มท. เพื่อจะได้รายงาน ศบค. เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ในการตรวจสอบ และให้ทุกส่วนงานของ ศบค. ได้รับทราบ ก่อนดำเนินการ เพื่อประสานการปฏิบัติไม่ให้เกิดความลักลั่นรวมทั้งไม่ให้เกิดความสับสนต่อประชาชน และผู้ปฏิบัติงานได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ทั้งนี้ ให้รายงานผลการปฏิบัติงาน ปัญหา/อุปสรรค และข้อแนะนำมายัง ศบค.มท. ต่อเนื่องเป็นประจำทุกวัน