รีเซต

พิธีจุดคบเพลิงในโอลิมปิกปารีส 2024 เพื่อย้อนรำลึก ถึงการทดสอบบอลลูนไฮโดรเจนปี 1783

พิธีจุดคบเพลิงในโอลิมปิกปารีส 2024 เพื่อย้อนรำลึก ถึงการทดสอบบอลลูนไฮโดรเจนปี 1783
TNN ช่อง16
27 กรกฎาคม 2567 ( 16:52 )
55
พิธีจุดคบเพลิงในโอลิมปิกปารีส 2024 เพื่อย้อนรำลึก ถึงการทดสอบบอลลูนไฮโดรเจนปี 1783

วันที่ 26 กรกฎาคมที่ผ่านมาโอลิมปิก 2024 “ปารีสเกมส์” ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เริ่มต้นอย่างเป็นทางการ โดยมีพิธีเปิดที่สวยงามและเต็มไปด้วยเรื่องราวเกี่ยวกับวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของประเทศฝรั่งเศส ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่เป็นศูนย์รวมของผลงานศิลปะที่สำคัญของโลก และในส่วนของพิธีจุดคบเพลิงของโอลิมปิกในครั้งก็เซอร์ไพรส์มากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ พร้อมแฝงไว้ด้วยข้อมูลประวัติศาสตร์ที่สำคัญ


เริ่มจากผู้วิ่งคบเพลิงประกอบด้วยนักกีฬาคนสำคัญที่เป็นตัวแทนของชัยชนะของนักกีฬาจากประเทศฝรั่งเศส และนักกีฬาทั่วโลก และผู้ถือคบเพลิงคนสุดท้าย 2 คน ประกอบด้วยมารี-โฌเซ เปเรก นักวิ่งหญิง เจ้าของ 3 เหรียญทองโอลิมปิก และ เท็ดดี ริเนอร์ นักกีฬายูโด เจ้าของ 3 เหรียญทองโอลิมปิก แชมป์โลก 11 สมัย ชาวฝรั่งเศสร่วมจุดคบเพลิงเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ 2024


ไฮไลท์ของการจุดคบเพลิงในโอลิมปิกเกมส์ครั้งนี้ เจ้าภาพฝรั่งเศสได้ใช้การจุดคบเพลิงนอกสนามแข่งขัน โดยใช้พื้นที่บริเวณสวนสาธารณะกลางกรุงปารีสปล่อยบอลลูนขนาดใหญ่ขึ้นสู่ท้องฟ้า สำหรับบอลลูนที่ถูกใช้เป็นกระถางคบเพลิงถูกออกแบบโดยนักออกแบบมาติเยอ เลอฮานเนอร์ (Mathieu Lehanneur) มีลักษณะเป็นวงแหวนเส้นผ่านศูนย์กลาง 7 เมตร บอลลูนความสูง 30 เมตร กว้าง 22 เมตร


นอกจากบอลลูนลูกนี้จะถูกใช้เป็นกระถางคบเพลิงสัญญาณการเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ 2024 อย่างเป็นทางการ ยังเป็นการระลึกถึงการทดสอบปล่อยบอลลูนไฮโดรเจนพร้อมผู้โดยสารที่เป็นมนุษย์ขึ้นสู่ท้องฟ้าครั้งแรกของโลกของนักประดิษฐ์ชาวฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1783


ฌาคส์ ชาร์ลส์ (Jacques Charles) นับเป็นนักประดิษฐ์และนักวิทยาศาสตร์ คนสำคัญของประเทศฝรั่งเศส และเป็นผู้พัฒนาบอลลูนแก๊สไฮโดรเจนลำแรกของโลก การทดสอบมีขึ้นในวันที่ 27 สิงหาคม ค.ศ. 1783 การทดสอบครั้งแรกนั้นคาดว่าเกิดขึ้นบริเวณที่ใกล้กับหอไอเฟล สัญลักษณ์ของกรุงปารีสในปัจจุบัน


การออกแบบบอลลูนแก๊สไฮโดรเจนลูกแรกของโลกมีลักษณะเป็นทรงกลมขนาด 35 ลูกบาศก์เมตรทำด้วยผ้าไหมเคลือบยาง รองรับน้ำหนักได้ประมาณ 9 กิโลกรัม ทำให้การทดสอบครั้งแรกไม่มีมนุษย์อยู่บนบอลลูน สำหรับแก๊สไฮโดรเจนที่อยู่ภายในบอลลูนเกิดขึ้นจากปฏิกิริยาเคมีของกรดซัลฟิวริก กระบวนการเติมไฮโดรเจนใส่บอลลูนต้องใช้ท่อที่ผลิตจากตะกั๋วและเป็นไปได้ด้วยความยากลำบาก หลังจากบอลลูนไฮโดรเจนลูกแรกของโลกลอยขึ้นสู่ท้องฟ้าประมาณ 45 นาที และตกลงสู่พื้นดินห่างออกไปประมาณ 21 กิโลเมตร


การทดสอบบอลลูนไฮโดรเจนที่มีลูกเรือที่เป็นมนุษย์อยู่ภายในเกิดขึ้นในวันที่ 1 ธันวาคม ค.ศ. 1783 บริเวณสวนตุยเลอรี กรุงปารีส ท่ามกลางผู้ชมกว่า 400,000 คน เข้าร่วมเป็นสักขีพยาน โดยในวันนั้นมีบุคคลสำคัญ คือ เบนจามิน แฟรงคลิน ในฐานะผู้แทนจากฑูตของประเทศสหรัฐอเมริกาเข้าร่วมชมและบันทึกนาทีประวัติศาสตร์


ลูกเรือที่เดินทางขึ้นพร้อมกับบอลลูนประกอบด้วยฌาคส์ ชาร์ลส์ และนิโกลาส-หลุยส์ โรเบิร์ต ได้เดินทางขึ้นไปพร้อมกับบอลลูนที่มีขนาดใหญ่มากถึง 380 ลูกบาศก์เมตร บอลลูนมีลักษณะห้องโดยสารคล้ายกับตะกร้าขนาดใหญ่พร้อมกับถุงทรายไว้ด้านข้าง เพื่อควบคุมระดับความสูงของบอลลูน โดยทั้ง 2 คน ควบคุมบอลลูนขึ้นสู่ท้องฟ้าไปได้ที่ระดับความสูง 550 เมตร ใช้เวลาในการบินลอยบนท้องฟ้าทั้งหมด 2 ชั่วโมง 5 นาที เป็นระยะทางกว่า 36 กิโลเมตร โดยการทดสอบมีเจ้าหน้าที่และผู้สังเกตการณ์ควบม้าไล่ตามบอลลูนไปตลอดเส้นทาง


การทดสอบบอลลูนแก๊สไฮโดรเจนลูกแรกของโลกของฌาคส์ ชาร์ลส์ (Jacques Charles) นับเป็นความกล้าหาญและก้าวกระโดดด้านวิทยาการครั้งสำคัญของมนุษย์ ในปัจจุบันเทคโนโลยีบอลลูนมีความสำคัญในหลายด้าน เช่น การเดินทางขนส่ง การสื่อสาร การสำรวจสภาพอากาศ และในงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ อาจกล่าวได้ว่าโอลิมปิกปารีส 2024 ประเทศฝรั่งเศสได้แสดงศักยภาพทั้งด้านวัฒนธรรมที่สวยงาม ความก้าวหน้าด้านวิทยาการ และประวัติศาสตร์ของประเทศ ได้อย่างตราตรึงใจผู้คนทั่วโลก


ที่มาของข้อมูล nbcolympics.com, Wikipedia.org

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง