เปิดใจที่แรก‘นักศึกษาไทยในซูดาน’ผู้ไม่มีสิทธิวีไอพี
เปิดใจ นักศึกษาไทยในซูดาน เดินทางกลับประเทศไม่มีสิทธิพิเศษ ทุกคนอยากกลับบ้าน เผยไม่ทราบว่ามีครอบครัวคณะทูตร่วมเดินทางในเที่ยวบินเดียวกัน แต่เห็นเด็กวัย 9 ขวบคล้ายไม่สบาย ไอ อาเจียน บนเครื่องบิน วอนประชาชนเข้าใจนักศึกษาไทยในซูดานไม่ได้ก่อปัญหา ยินดีปฏิบัติตามกฎทุกขั้นตอนเพื่อให้ได้กลับบ้าน แต่ตอนนี้เพื่อนๆเริ่มติดเชื้อกันแล้ว ด้านนักวิชาการมองการยกเลิกเอกสิทธิ์นักการทูตเป็นเรื่องง่ายไม่กระทบความสัมพันธ์ แต่หากจัดการไม่ดีสะเทือนใจประชาชนที่ร่วมมือกันมาเป็นอย่างดี
เที่ยวบินพิเศษจาก คาร์ทูม - กรุงเทพฯ ในวันที่ 10 กรกฎาคมที่ผ่านมา นำนักศึกษาไทยในซูดานเดินทางกลับมาถึงประเทศไทยเป็นเที่ยวบินที่ 2 เที่ยวบินแรกเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2563 ล่าสุด ในวันนี้ (17 กรกฎาคม 2563) ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด19) หรือศบค. แถลงสถานการณ์ผู้ป่วยโควิด-19 ประจำวันว่า พบผู้ป่วยรายใหม่ 3 ราย อยู่ในสถานกักกันที่รัฐจัดให้ ไม่มีผู้ป่วยในประเทศ รวมผู้ป่วยสะสม 3,239 ราย ในจำนวนนี้อยู่ในกลุ่มที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ 302 ราย ยังรักษาอยู่ 85 ราย รักษาหาย 3,095 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตรายใหม่ คงที่ 58 ราย
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงว่า ผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ เดินทางมาจากซูดาน 3 ราย เข้าพักใน State Quarantine ที่ จ.ชลบุรี เป็นหญิงไทย อายุ 22 ปี 23 ปี และ 28 ปี เดินทางถึงไทยวันที่ 10 ก.ค. ซึ่งเป็นเที่ยวบินเดียวกับลูกสาวอุปทูตซูดาน
- นักศึกษาไทยในซูดานมีกี่คนและไปเรียนอะไรกันบ้าง
นายวาริซ พงศ์เพ็ญชัย นักศึกษามหาวิทยาลัยนานาชาติแอฟริกา คณะกฎหมายอิสลามและกฎหมายสากล ชั้นปีที่ 2 ขณะนี้ยังพำนักอยู่ที่ซูดานเนื่องจากยังไม่มีเที่ยวบินกลับประเทศไทย เล่าว่า นักศึกษาไทยที่มาเล่าเรียนกันในประเทศซูดาน ปัจจุบันมีอยู่ 726 คนรวมทั้งชายและหญิง นักศึกษาที่เดินทางกลับไปแล้วประมาณ 420 คน แต่หากรวมคนไทยที่มาทำงานในซูดานด้วย รวมทั้งหมด 2 เที่ยวบินก็มีจำนวนทั้งสิ้น 446 คน
บรรยากาศการสำเร็จการศึกษาของนักศึกษาไทยในซูดาน
ส่วนการมาเรียนที่ซูดาน เนื่องจากทางซูดานมีมหาวิทยาลัยที่เป็นช่องทางในการสานต่อและต่อยอดให้นักศึกษาไทยในการศึกษาวิชาภาคศาสนาและสามัญ วัตถุประสงค์หลักของนักศึกษาทุกคนที่มาเรียน คือ เพื่อเก็บเกี่ยวความรู้ทั้งในภาควิชาศาสนาและสามัญ หวังที่จะกลับไปพัฒนาประเทศชาติบ้านเมืองให้ก้าวหน้า โดยเฉพาะในภาคศาสนา หากนักศึกษาจบไปแล้ว และมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องหลักการศาสนาอิสลาม ก็จะนำไปเผยแผ่ และขัดเกลาพัฒนาฟื้นฟูด้านจิตวิญญาณให้แก่ประชาชนคนมุสลิมในไทย และนำไปสู่การปฏิบัติตัวที่ดี เป็นประชากรที่ดีให้ประเทศไทยได้ต่อไป
สภาพความเป็นอยู่ในซูดาน
สำหรับสภาพความเป็นอยู่ สภาพสังคมและวัฒนธรรมในซูดานมีความแตกต่างและหลากหลายในหลากหลายด้าน ทั้งด้านอาหารการกิน ด้านการดำรงชีวิต ด้านการปฏิสัมพันธ์ ด้านสังคมและการเมือง โดยส่วนมากประชาชนที่นี่ในเมืองหลวงเน้นประกอบอาชีพเป็นพ่อค้า หลากหลายชนิดสินค้า ทั้งผลหมากรากไม้ เนื้อสัตว์ ธัญพืช (สารพัดชนิดถั่ว) และเป็นเจ้าของร้านค้าต่าง ๆ เมื่อเกิดสถานการณ์ระบาดของโควิด19 นักศึกษาไทย ทุกคนต่างมุ่งหวังที่จะเดินทางกลับประเทศไทย เพราะทุกคนมั่นใจระบบการแพทย์และสาธารณสุขไทย มีความพร้อมสูงมาก หากยังอยู่ที่นี่ต่อไป อาจยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในเรื่องการระบาดและการรักษาหากติดเชื้อ
- การเตรียมตัวก่อนเดินทาง
นายวาริซ ในฐานะคณะกรรมการสมาคมนักศึกษาไทยในซูดาน เล่าว่า ได้สื่อสารถึงการเตรียมความพร้อมก่อนการเดินทางอย่างเข้มงวด ย้ำและเตือนให้ทุกคนปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดทุกขั้นตอน ตั้งแต่การลงทะเบียนก่อนเดินทาง การรักษาสุขภาพก่อนเดินทาง การไปตรวจ fit to fly โดยนักศึกษามหาวิทยาลัยนานาชาติแอฟริกานานาชาติ (IUA) ตรวจที่โรงพยาบาบาลของมหาวิทยาลัย(มุตเตาศ็อฟ) ส่วนนักศึกษาอื่นตรวจสุขภาพที่ ตรวจที่ El Thuraya Center for Medicail Analysis ซึ่งนักศึกษาทุกคนร่วมมือกันเป็นอย่างดีจนถึงวันเดินทาง ก็ยังย้ำอีกว่า เมื่อมาถึงเมืองไทยทุกคนจะต้องให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อให้ขั้นตอนทุกอย่างผ่านไปได้ด้วยดี
- เมื่อมาถึงประเทศไทย
ตัวแทนนักศึกษาไทยในซูดานรายนี้ เล่าว่า เท่าที่ทราบจากผู้เดินทางเที่ยวบินที่สอง ไม่มีใครทราบว่าบนเที่ยวบินพิเศษนี้จะมีคณะของเจ้าหน้าที่ทูตซูดานและครอบครัวเดินทางร่วมมาด้วย ทราบภายหลังว่ามีจำนวน 4 ท่านเดินทางมาพร้อมกัน
“จากการบอกเล่าของเพื่อนนักศึกษาที่เดินทางในเที่ยวบินพิเศษลำนี้ บอกว่ามีเด็กรายหนึ่งมีอาการคล้ายไม่สบายตั้งแต่บนเครื่องบิน มีอาการไอ และอาเจียน รวมถึงร้องไห้เหมือนไม่สบาย แต่เมื่อมาถึงสนามบินที่ประเทศไทย ไม่มีใครรู้ว่าเจ้าหน้าที่มีการปฏิบัติต่อเด็กและครอบครัวกลุ่มนั้นอย่างไร เพราะนักศึกษาทุกคน ปฏิบัติตามขั้นตอนทุกอย่างที่กำหนด ไม่มีสิทธิวีไอพีใดๆ”
ภาพบรรยากาศการเดินทาง เที่ยวบินจากคาร์ทูม ถึง กรุงเทพฯ ในวันที่ 10 ก.ค.2563
- ผลกระทบเมื่อเดินทางมาเที่ยวบินเดียวกัน
ตอนนี้นักศึกษาหลายคน รู้สึกไม่สบายใจ ไม่เพียงแต่เรื่องที่ต้องรอลุ้นผลตรวจที่จะออกมาว่าติดเชื้อหรือไม่ อย่างล่าสุดก็พบว่ามี 3 รายที่ติดเชื้อ ยังรู้สึกไม่สบายใจที่คนไทยหรือสื่อบางส่วนมีการเสนอข่าวในทำนองว่าเป็นเที่ยวบินจากซูดานที่ก่อให้เกิดปัญหา อยากบอกว่า นักศึกษาทุกคนอยากให้ประชาชนคนไทยได้เข้าใจว่านักศึกษาไม่ได้มีสิทธิพเศษใดๆ ทุกคนก็ไม่ทราบรายละเอียดว่ามีคณะทูตร่วมเดินทาง
“ทุกคนอยากกลับไปหาครอบครัว อยากอยู่ในความปลอดภัยทางด้านสาธารณสุขและการแพทย์ ซึ่งเป็นที่รู้กันว่า บ้านเมืองเรานั้นมีศักยภาพเรื่องการรักษาอย่างดี เลยอยากกลับไปอยู่ที่ไทยมากกว่าครับ” ตัวแทนนักศึกษา ระบุ
- มุมมองต่อเอกสิทธิ์ทางการทูต
กรณีการที่มีเจ้าหน้าที่ทางการทูตเดินทางเข้ามาในประเทศไทยในช่วงสถานการณ์โควิด19 ระบาดอยู่ทั่วโลก และต่อมาพบว่ามีการเดินทางออกนอกสนามบินก่อนทราบผล และยังกักตัวในคอนโด ที่ไม่ใช่พื้นที่ในสถานทูตดูแล จึงกลายเป็นประเด็นที่สังคมตั้งคำถาม ถึง “สิทธิพิเศษ” หรือ “เอกสิทธิ์ทางการทูต” ที่เป็นประเพณีปฏิบัติกันมา
จากข่าวล่าสุด นายเชิดเกียรติ อัตถากร อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงต่างประเทศ ได้ชี้แจงว่า จะมีการหารือโน้มน้าวพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ทูตทุกแห่งให้เข้าใจถึงความจำเป็นในการออกระเบียบยกเลิกเอกสิทธิ์ทางการทูตต่อการเดินทางเข้าประเทศไทยในช่วงโควิด19 เพื่อเสนอ ศบค.ประกาศระงับการให้เอกสิทธิ์ในการเดินทางเข้าประเทศ และยืนยันว่านักการทูตไม่ใช่วีไอพี
เรื่องนี้ รศ.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) ให้สัมภาษณ์กับ trueID NEWS ว่า เรื่องของเอกสิทธิ์ทางทูตเป็นไปตามสนธิสัญญาหรือข้อตกลงระหว่างประเทศที่คู่ประเทศทั้งสองจะทำความตกลงร่วมกัน ไม่ได้เป็นข้อกฏหมายระหว่างประเทศที่มีผลบังคับจนไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ ทั้งนี้ หากสองประเทศทำความเข้าใจกันก็สามารถระงับหรือยกเลิกเอกสิทธิ์ทางการทูตเหล่านั้นไปได้ โดยเฉพาะในสถานการณ์วิกฤติประเทศนั้นๆสามารถใช้อำนาจอธิปไตยในการตัดสินใจในการดำเนินการได้ทันทีเพื่อรักษาความมั่นคงและประโยชน์ของประเทศได้ทันที
รศ.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มสธ.
อย่างไรก็ดี กรณีดังกล่าวอาจไม่ได้ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมากเท่ากับผลกระทบทางการเมืองภายในประเทศ โดยเฉพาะผลกระทบต่อความรู้สึกของประชาชน เนื่องจากต้องยอมรับว่าประเทศไทยประสบความสำเร็จในการต่อสู้กับโควิด19 มาจาก 3 ปัจจัย สำคัญ คือ
- กลไกรัฐที่เข้มแข็งเป็นระบบ ตั้งแต่รัฐบาล ศบค. เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ทหาร ตำรวจ ที่มีบทบาทในการควบคุมดูแลการปฏิบัติตามคำสั่งและประกาศต่างๆ
- ความเข้มแข็งของระบบสาธารณสุข และระบบความพร้อมทางการแพทย์
- ความร่วมมือ ร่วมใจ ของประชาชนในการปฏิบัติตามคำแนะนำจากภาครัฐในการควบคุมโรคโควิด19
ดังนั้น การที่ทุกภาคส่วนร่วมมือกันมมาเป็นอย่างดี แล้วพบว่ามีปัญหาเกิดขึ้นจากการมี “สิทธิพิเศษ” จึงอาจกระทบต่อความรู้สึกของประชาชน ซึ่งหากพบว่ามีหากจะต้องขอความร่วมมืออย่างเข้มแข็งอีกครั้งเพื่อต่อสู้กับการระบาดใหม่ จึงอาจเป็นเรื่องที่ทำให้เกิดคำถามหรือการตั้งข้อสังเกตจากประชาชนขึ้นมาได้อีกครั้ง.
ภาพประกอบจาก FB: สมาคมนักศึกษาไทย ณ ซูดาน