รีเซต

พบผู้ติดเชื้อทำสถิติรายวัน ทำให้เกิดความกังวลว่าอาเซียนจะเดินตามรอยเอเชียใต้หรือไม่

พบผู้ติดเชื้อทำสถิติรายวัน ทำให้เกิดความกังวลว่าอาเซียนจะเดินตามรอยเอเชียใต้หรือไม่
TNN World
27 พฤษภาคม 2564 ( 10:33 )
56

Editor’s Pick: สถานการณ์โควิด-19 ในแถบอาเซียนหลายประเทศพบการระบาดหนัก พบผู้ติดเชื้อทำสถิติรายวัน ทำให้เกิดความกังวลว่าอาเซียนจะเดินตามรอยเอเชียใต้หรือไม่


เว็บไซต์ The Straits Times มองสถานการณ์การระบาดโรคโควิด-19 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน ที่หลายประเทศรอดพ้นจากวิกฤตไวรัสระบาดมาได้เมื่อปีที่แล้ว ปรากฏว่าปีนี้สถานการณ์ในหลายประเทศหนักหนา เชื้อไวรัสแพร่ระบาดระลอกใหม่ทำให้ระบบสาธารณสุขและเศรษฐกิจทรุด 

 

 

 สถานการณ์ในไทย


The Straits Times ยกตัวอย่างประเทศไทยที่กำลังเผชิญไวรัสระบาดหนัก โดยตอนนี้ต้องควบคุมการระบาดในเรือนจำ ตลาด และที่พักคนงานก่อสร้าง รวมถึงพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่อายุน้อยที่สุด เป็นทารกวัยเพียง 2 เดือน ซึ่งสื่อรายงานว่าเมื่อช่วงเดือนมกราคมประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อสะสมในประเทศราว 7 พัน 300 คน ก่อนยอดติดเชื้อพุ่งเป็น 1 แสน 3 หมื่น 7 พันคน  

 

 

สถานการณ์ในมาเลเซีย


เช่นเดียวกับสถานการณ์ที่มาเลเซีย พบยอดติดเชื้อทำสถิติใหม่รายวัน อย่างล่าสุด เมื่อวาน (26 พฤษภาคม) ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันที่มาเลเซียอยู่ที่ 7,289 คน เพิ่มขึ้นจาก 6 พันคนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ส่วนผู้เสียชีวิตรายวันอยู่ที่  61 คน  รวมแล้วตัวเลขติดเชื้อสะสมในมาเลเซียพุ่งเกิน 525,000 คน 


อาจจะยังไม่เท่ากับตัวเลขที่อินเดียที่ยอดผู้ติดเชื้อทะลุ 27 ล้านคนไปแล้ว แต่เมื่อมาดูค่าเฉลี่ยผู้ติดเชื้อราย 7 วัน พบว่า มาเลเซียมีค่าเฉลี่ยคนติดโควิด 194 คน ต่อประชากร 1 ล้านคน ส่วนอินเดีย 178 คนต่อประชากร 1 ล้านคน ถือว่าติดเชื้อเยอะกว่าอินเดีย ณ เวลานี้ 


สื่อมองสถานการณ์ว่า มาเลเซียอาจเจอคนติดเชื้อรายวันทะลุ 8 พันคนในช่วงต้นเดือนมิถุนายน ซึ่งน่ากังวลเกี่ยวกับผู้ติดเชื้อที่เพิ่มจำนวนขึ้น เพราะทางกระทรวงสาธารณสุขเพิ่งออกมาเผิดเผยว่า 1 ใน 3 ของผู้ป่วยโควิดรายใหม่ จำเป็นต้องให้ออกซิเจน เพราะเจอฤทธิ์เชื้อกลายพันธุ์ทั้งอังกฤษ แอฟริกาใต้ และอินเดีย 

 

 

สถานการณ์ในฟิลิปปินส์


ส่วนที่ฟิลิปปินส์ ไวรัสกลายพันธุ์ส่งแรงเสริมให้การระบาดโควิด-19 ในประเทศรุนแรงมาตั้งแต่ธันวาคม ทำโรงพยาบาลล้นรับเคสผู้ป่วยใหม่ 15,000 คนต่อวัน พุ่ง 3 เท่ากว่าช่วงวิกฤตโควิดในปีที่แล้ว เตียงไม่มี ผู้ป่วยเสียชีวิตที่บ้าน หรือในโรงจอดรถในโรงพยาบาล

ทำให้รัฐบาลต้องจัดไม้แข็งคือการล็อกดาวน์เข้มในกรุงมะนิลาเมืองหลวง และ 4 จังหวัดใกล้เคียง ตั้งแต่ปลายมีนาคม ถึง ช่วงต้นเดือนเมษายน ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลงครึ่งหนึ่งจากช่วงพีคที่สุด รวมแล้วมีคนติดเชื้อ 1,193,976 คนเสียชีวิต 20,169 คน ประเด็นน่าวิตกคือ เชื้อกลายพันธุ์ที่หมุนวนในพื้นที่ ทำให้การระบาดแรงกว่าเดิม 2 เท่า  

 

 

ไวรัสกลายพันธุ์หลากสายพันธุ์เข้ามาในอาเซียน


ฟิลิปปินส์มีครบ 4 สายพันธุ์โควิดกลายพันธุ์  B.1.17 จากสหราชอาณาจักร, B.1.351 จากแอฟริกาใต้ P1 จากบราซิล และยังเจอเชื้อกลายพันธุ์คู่ B.1.617 จากอินเดียผสมโรงเข้าไปอีก 


เชื้อกลายพันธุ์อินเดียพบในประเทศแถบอาเซียน 5 ประเทศ คือ  มาเลเซีย กัมพูชา อินโดนีเซีย ไทย สิงคโปร์ และเวียดนาม ซึ่งการระบาดของไวรัสในอาเซียนนั้น ผู้เชี่ยวชาญแบ่งระดับความกังวลไว้ต่างกัน 
บางประเทศน่ากังวลมาก คือ กัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมา ผู้เชี่ยวชาญกังวลหนักเพราะระบบสาธารณสุขยังไม่พร้อมรับมือการระบาด 


สปป.ลาว กับกัมพูชา ก่อนหน้านี้เคยเข้มงวดมาตรการโควิด แต่กลับมีกรณีคนติดเชื้อเพิ่ม สาเหตุจากแรงงานต่างชาติที่เข้าไปทำงาน พาเชื้อกลายพันธุ์สายพันธุ์อังกฤษเข้าไประบาด ยอดติดเชื้อพุ่ง 50 เท่าหากเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 

 

 

ยอดความสูญเสียจากไวรัสที่แท้จริง 


ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่โจมตีมนุษย์อย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยในแถบอาเซียนนั้น ประชาชนหลายล้านคนกำลังเจอวิกฤตโรคระบาด มีผู้เสียชีวิตมากถึง 78,000 คน แต่ตัวเลขความสูญเสียที่แท้จริงอาจมากกว่าที่มีการรายงานออกมา ซึ่งมีหลายปัจจัยประกอบกัน  


1.จากการศึกษาพบว่าผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่มไม่แสดงอาการ ทำให้ตรวจไม่พบเชื้อ ตัวอย่างในประเทศฟิลิปปินส์มีผู้เสียชีวิตตามบ้าน หรือ ระหว่างรอเตียง เพราะไม่ได้ตรวจหาเชื้อ หรือบางคนผลตรวจว่าติดเชื้อก็เสียชีวิตไปแล้ว


2.การตีตราทางสังคม (social stigma) ทัศนคติเหมารวม พฤติกรรมเลือกปฏิบัติที่มีผลต่อชนบางเชื้อชาติและทุกคนที่สังคมเข้าใจว่าสัมผัสกับเชื้อไวรัส


3.ความพร้อมที่จะดำเนินการทดสอบและติดตามผู้ติดต่ออย่างเข้มงวดและการแยกผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยัน 

 

 

ผู้เสียชีวิตทั่วโลกอาจสูงถึง 13 ล้านคนแล้ว


องค์การอนามัยโลกกล่าวในรายงานที่เผยแพร่เมื่อวันศุกร์ (21 พฤษภาคม) ว่าอาจมีผู้เสียชีวิตเนื่องจากการระบาดของโรคระบาดมากกว่าตัวเลขที่รายงานอย่างเป็นทางการถึงสามเท่า
เช่นเดียวกับ The Economist คาดการณ์ว่าจำนวนผู้เสียชีวิตส่วนเกินทั่วโลกจะสูงขึ้นถึง 4 เท่าโดยอยู่ระหว่าง 7 ถึง 13 ล้านคนโดยส่วนใหญ่พบในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง 
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นคล้ายคลึงกับที่เราเคยเห็นในอินเดียและเนปาล มีความรู้สึกถึงความเหนื่อยล้าจากการระบาดของโรคในจำนวนที่เพิ่มขึ้นของผู้คนที่ฝ่าฝืนกฎ

 

 

อาเซียนต้องเร่งสร้างภูมิคุ้มกันหมู่


ผู้เชี่ยวชาญหลายคนกล่าวว่าวิธีที่จะลดอัตราการเสียชีวิตของโควิด -19 คือการสร้างภูมิคุ้มกันโรค ดังนั้น รัฐบาลจึงเร่งรณรงค์การฉีดวัคซีนหลังจากเริ่มต้นอย่างช้า ๆ แต่ก็ยังไม่เพียงพอ 


Economist Intelligence Unit ที่เผยแพร่การคาดการณ์เมื่อเดือนที่แล้วระบุว่า จะต้องใช้เวลาสักพักกว่าที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ แสดงให้เห็นว่าประเทศต่างๆในภูมิภาคจะไม่ดำเนินการดังกล่าวจนกว่าจะถึงสิ้นปีหน้าเป็นอย่างน้อย


"คลื่นลูกแรกเอเชียคุมได้ดี...แต่สิ่งที่เราเห็นตอนนี้คือผู้ป่วยจำนวนมหาศาลในเอเชียใต้ - ผู้ป่วยจำนวนมากต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและโรงพยาบาลก็เริ่มเต็มซึ่งน่าจะเป็นเครื่องเตือนใจให้กับชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นประเทศในเอเชียที่เราต้องพยายามเพิ่มเป็นสองเท่าในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคในขณะนี้”


ถ้ารอนานเกินไปเราอาจได้เห็นสถานการณ์เช่นในเนปาลหรืออินเดียในอาเซียนก็เป็นได้

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง