รีเซต

สธ.เตรียมปรับ "โควิด" รักษาฟรีที่รพ.ตามสิทธิ ส่วนฉุกเฉินวิกฤตยังรักษาได้ทุกที่

สธ.เตรียมปรับ "โควิด" รักษาฟรีที่รพ.ตามสิทธิ ส่วนฉุกเฉินวิกฤตยังรักษาได้ทุกที่
ข่าวสด
14 กุมภาพันธ์ 2565 ( 17:29 )
53

ข่าววันนี้ 14 ก.พ.65 นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) แถลงข่าวการรักษาโรคโควิด 19 ตามสิทธิการรักษา หลังจากเตรียมปลดโรคโควิด 19 ออกจากโรคฉุกเฉินวิกฤตที่เข้ารักษาได้ทุกที่ (UCEP)

 

 

นพ.ธงชัย กล่าวว่า สิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตรักษาทุกที่ (Universal Coverage for Emergency Patients : UCEP) คือ สิทธิรักษาตามนโยบายรัฐบาล เพื่อคุ้มครองผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตให้เข้ารักษา รพ.แห่งใดก็ได้ใน 72 ชั่วโมง ทั้ง รพ.รัฐหรือเอกชน โดยต้องมีอาการวิกฤต เช่น หมดสติ ไม่รู้สึกตัว อาการช็อก หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรงมากจนติดขัด หรือเจ็บหน้าอกเฉียบพลัน อ่อนแรงบริเวณแขนขาครึ่งตัว เลือดออกในสมอง เป็นต้น

 

 

ซึ่งก่อนหน้านี้หากไป รพ.เอกชนอาจเรียกเก็บค่ารักษาล่วงหน้าหรือวางมัดจำ แต่เมื่อมี UCEP ก็สามารถเข้าใช้สิทธิรักษาได้ เมื่อมีโรคโควิด 19 ช่วงแรกยังมีความรู้ความเข้าใจ ทั้งการรักษาและการควบคุมโรคน้อย ผู้ป่วยก็เพิ่มมากขึ้น จึงนำ UCEP เข้ามาใช้ควบคู่กับการควบคุมโรค คือ ทำให้ผู้ติดเชื้อเข้าสู่ รพ.ให้มากที่สุด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด โดยช่วงแรกนำเข้า รพ.รัฐ ไม่ว่ามีอาการมากน้อยหรือไม่มีอาการ แต่พอ รพ.รัฐเต็มก็ให้ รพ.เอกชนเข้ามาช่วย และสร้างรพ.สนามรองรับเพิ่มเติม

 

 

นพ.ธงชัย กล่าวต่อว่า วันนี้เรามีความรู้มากขึ้น ผู้ติดเชื้อกว่า 90% ไม่มีอาการหรืออาการน้อยมาก ไม่จำเป็นต้องเข้ามานอน รพ. ต้องเข้านอนรพ.มีเพียง 10% เท่านั้น ขณะที่การระบาดขณะนี้เป็น "โอมิครอน" มากกว่า 90% ความรุนแรงน้อยกว่าเดลตา 7 เท่า คนนอน รพ. ใส่เครื่องช่วยหายใจน้อยกว่าปีที่แล้ว 7 เท่า และเสียชีวิตน้อยกว่า 10 เท่าตัว

 

เราจึงเน้นใช้ระบบ Home Isolation (HI) และ Community Isolation (CI) และปรับเรื่อง UCEP กลับมาสู่ระบบปกติ ในการดูแลผู้ป่วยวิกฤตจริงๆ โดยผู้ป่วยโควิดที่มีอาการฉุกเฉิน เช่น อาการหายใจเหนื่อยหอบอย่างแรง ซึมลง ก็เข้าข่ายฉุกเฉินตามนิยามปกติก็เข้ารักษาที่ไหนก็ได้ ซึ่งขณะนี้ยังใช้เกณฑ์พิจารณาฉุกเฉินวิกฤต 6 ข้อของสถาบันการแพทย์ฦฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) พิจารณา

 

"วันนี้เรามีเตียงรองรับผู้ป่วยวิกฤตทั่วประเทศ 3 หมื่นกว่าเตียง และมีเตียงสีเขียว ซึ่งปีที่แล้วทำไว้รองรับโควิดอาการน้อย ไม่มีอาการอีก 1.3 แสนกว่าเตียง ที่สามารถจะขยายมาดูแลผู้ป่วยอาการรุนแรงเพิ่มได้ แต่หากจะเอาผู้ป่วยโควิดทั้งหมดเข้าไปนอนอีก ก็จะไปกินเตียงคนไข้อื่นที่ไม่ใช่โควิดด้วย" นพ.ธงชัยกล่าวและว่า การไม่ติดโควิดดีที่สุด จึงขอให้ประชาชนทุกคนฉีดวัคซีนให้ครบ และหากรับสองเข็มเกิน 3 เดือนให้มารับบูสเตอร์โดส โดยเฉพาะผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัว

ด้าน นพ.ธเรศ กล่าวว่า คนไทยทุกคนมีสิทธิการรักษา ทั้งหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (30 บาทรักษาทุกโรคหรือบัตรทอง) สวัสดิการข้าราชการ และประกันสังคม เมื่อมีโควิดช่วงแรกเราไม่รู้จักนัก ประชาชนก็ค่อนข้างกังวล และหา รพ.ต่างๆ ที่ใกล้ตัวที่สุด สบส.จึงเสนอคณะกรรมการสถานพยาบาลเปิดกลไก UCEP โควิด ให้ไปรักษาที่ไหนก็ได้เมื่อวันที่ 3 มี.ค.2563 ทำให้เกิดการร่วมกันดูแลคนไข้ทั้งภาครัฐและเอกชน

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาประชาชนส่วนใหญ่เลือกเข้า รพ.ใหญ่ๆ ทำให้ รพ.เหล่านั้นไม่สามารถรักษาโรคอื่นได้ ต้องชะลอการผ่าตัดต่างๆ ส่วนปัจจุบัน "โอมิครอน" มีความรุนแรงน้อย ประชาชนเข้าใจวิธีป้องกันควบคุมโรค คณะอนุกรรมการการรักษาในพื้นที่ กทม. จึงประชุมเมื่อวันที่ 26 ม.ค. เห็นตรงกันว่าจะปรับโควิด 19 จากฉุกเฉินให้ไปรักษาตามสิทธิ ซึ่งยังได้รับการรักษาฟรี ไม่เสียเงิน และเสนอเข้าศูนย์ปฏิบัติฉุกเฉิน (อีโอซี) สธ.ก็เห็นตรงกัน เพื่อให้เกิดระบบที่ดี สามารถรักษาโรคอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 31 ม.ค. มีการประชุมเตรียมความพร้อมของกองทุนสุขภาพทั้ง 4 กองทุน คือ กรมบัญชีกลาง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานประกันสังคม (สปส.) และกองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ โดยเบื้องต้นสวัสดิการข้าราชการสามารถเข้ารักษา รพ.รัฐทุกแห่งทั่วประเทศ, บัตรทองเข้ารักษาสถานพยาบาลเครือข่ายบัตรทองทุกแห่ง ตามนโยบายเจ็บป่วยรักษาทุกที่ เช่น บัตรทองอยู่ขอนแก่น มาทำงานพื้นที่ กทม.ก็ไปรักษาเครือข่ายบัตรทองใน กทม.ได้,

ผู้ประกันตน ทราบจากผู้แทนประกันสังคมว่า จะเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการการแพทย์ วันที่ 15 ก.พ. คือให้รักษาในเครือข่าย รพ.ประกันสังคม ที่มีทั้งรพ.รัฐและเอกชนได้ และบัตรประกันสุขภาพต่างด้าวก็รักษา รพ.ตามสิทธิที่ขึ้นทะเบียนไว้ ส่วนผู้ที่มีปัญหาไรสิทธิและสถานะ เราเตรียมรพ.สังกัด สธ. กทม. และ รพ.รัฐทุกแห่งไว้

"สำหรับระบบ HI ยังสามารถเข้าได้ตามปกติ หากเป็นผู้ป่วยของระบบไหนก็เข้า HI ของระบบนั้น ซึ่งทุกเครือข่ายจะทำ HI ของตัวเอง โดยบัตรทองก็โทร 1330 ประกันสังคมโทร 1506 เบิกจ่ายตรงข้าราชการโทร 02-270-6400 และต่าวด้าวโทร 02-590-1578 หากจะเข้าโรงพยาบาลก็ให้ไปตามโรงพยาบาลเครือข่ายตามสิทธิการรักษาของตนเอง หากป่วยโควิดมีอาการรุนแรง

เช่น มีกลุ่มอาการหายใจเหนื่อยหอบรุนแรงมาก หรือซึม ก็ใช้ UCEP ติดต่อเข้าสถานพยาบาลทุกแห่งได้เหมือนเดิม แต่ถ้าประสงค์ไม่ไปรักษา รพ.ตามสิทธิ แต่ไป รพ.เอกชนนอกเครือข่าย ถ้าไม่ฉุกเฉินวิกฤตก็จะต้องชำระค่าใช้จ่ายเอง ซึ่งการรักษาโควิด 19 ตามสิทธิก็จะเป็นประโยชน์ต่อระบบสุขภาพโดยรวม" นพ.ธเรศ กล่าว

นพ.ธเรศ กล่าวอีกว่า การปรับกลับมาใช้ UCEP ตามปกติ จะเพิ่มเติมที่อาจยังไม่ครอบคลุมกรณีโควิด เช่น ชุด PPE ชุดป้องกันโรค เครื่องช่วยหายใจบางชนิดที่ใช้กับคนไข้โควิด โดยจะประชุมในการเพิ่มรายการต่างๆ ที่ไม่ครอบคลุม เพราะเป็นโรคใหม่ เพื่อให้คนไข้โควิดแล้วเกิดฉุกเฉินวิกฤต รพ.จะได้นำไปใช้เบิกจ่ายได้

เมื่อถามว่าจะเริ่ม 1 มี.ค.นี้ หรือไม่ นพ.ธเรศ กล่าวว่า กรอบเวลาจะเริ่มเมื่อไร ทาง สธ.จะพิจารณา

เมื่อถามว่า ผู้ติดเชื้อสูงขึ้นช่วงนี้เมื่อดำเนินการเรื่องดังกล่าวจะกระทบหรือไม่ นพ.ธเรศ กล่าวว่า ไม่กระทบ แต่จะดี เพราะเป็นการกระจายคนไข้ไปตามจุดต่างๆ ตามการขึ้นทะเบียนตามสิทธิ

ผู้สื่อข่าวถาม UCEP ต้องรักษาภายใน 72 ชั่วโมง จะเป็นข้อจำกัดของผู้ป่วยโควิดหรือไม่ นพ.ธเรศ กล่าวว่า ไม่กระทบ เพราะเป็นการช่วยเหลือผู้ป่วยอาการรุนแรงใน 72 ชั่วโมง เมื่อดีขึ้นก็ส่งกลับ รพ.ตามสิทธิ แต่หากหาเตียงไม่ได้ ก็ยังรักษาได้ และจะตามจ่าย

เมื่อถามว่า กรณีอยู่ HI แล้วอาการรุนแรงขึ้น จะจัดเตียงรองรับใช่หรือไม่ นพ.ธเรศ กล่าวว่า HI จะมีสถานพยาบาลเป็นพี่เลี้ยง บางแห่งเป็นคลินิกชุมชนอบอุ่น บางแห่งเป็น รพ. หากอาการบ่งชี้เริ่มมากขึ้นก็จะติดต่อและส่งต่อให้ รพ.คู่ปฏิบัติการต่อไป

ถามว่าต้องกำหนดค่ารักษาของ รพ.เอกชนหรือไม่ นพ.ธเรศ กล่าวว่า พ.ร.บ.สถานพยาบาลฯ เรื่องกลไกราคาจะเป็นการแจ้งราคาให้ผู้ป่วยทราบ แต่ยังไม่มีกลไกควบคุมราคา แต่จะหารือกับภาคเอกชน ในการบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชน

เมื่อถามว่า การออกประกาศจะออกในลักษณะอย่างไร กำหนดโรคโควิดไม่เป้นโรคฉุกเฉิน หรือออกประกาศให้กลับไปรักษาตามสิทธิ นพ.ธเรศกล่าวว่า ต้องดูที่ตัวกฎหมาย ซึ่งกฎหมายแม่บทระบุประมาณว่า กรณีเป็นโรคฉุกเฉินตาม พ.ร.บ.ฉุกเฉิน โรคติดต่อร้ายแรง ตามพ.ร.บ.โรคติดต่อ หรือภาวะฉุกเฉินที่มอบอำนาจรัฐมนตรีประกาศเป็นโรคฉุกเฉินที่ประชาชนจำเป็นต้องรับการดูแลรักษา

ซึ่งขณะนี้ยังเป็นโรคติดต่ออันตราย แต่ประชาชนไม่เป็นภาวะฉุกเฉินแล้ว ดังนั้น จะออกเป็นประกาศกระทรวงสาธารณสุข ยกเลิกความเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินที่ต้องดูแลฉุกเฉิน แต่ยังเป็นภาวะโรค ไม่เกี่ยวกับการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง