รีเซต

แจงขั้นตอน การดำเนินคดี เยาวชนทำผิด ต้องคุมส่งศาลใน 24 ชม.

แจงขั้นตอน การดำเนินคดี เยาวชนทำผิด ต้องคุมส่งศาลใน 24 ชม.
TNN ช่อง16
4 ตุลาคม 2566 ( 13:57 )
114

เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม นายสรวิศ  ลิมปรังษี  โฆษกศาลยุติธรรม  กล่าวถึงแนวทางการดำเนินคดีกับ เยาวชนชายอายุ 14 ปี ที่ ก่อเหตุใช้อาวุธปืนยิงประชาชนในห้างดัง มีผู้บาดเจ็บ และเสียชีวิต ว่า ในการจับกุมเยาวชน ศาลเยาวชนฯ จะมีกระบวนการตรวจสอบการจับกุม ตามกฎหมาย  ซึ่งพนักงานสอบสวน  ต้องนำตัวเด็กหรือเยาวชน ส่งศาลเยาวชนฯ  ภายใน24 ชั่วโมง เพื่อให้ศาลตรวจสอบการจับก่อนว่า  การจับกุมเด็ก หรือเยาวชน  การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของเยาวชน  เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่   


ปกติ การจับกุมเด็กหรือเยาวชนที่กระทำความผิด กฎหมายให้อำนาจพนักงานสอบสวน ควบคุมตัวไว้ได้ไม่เกิน  24 ชั่วโมง  ส่วนมากก็จะนำตัวมาส่งศาลเยาวชนฯ เพื่อให้ศาลใช้ดุลยพินิจ ว่าจะควบคุมตัว หรือจะให้ดำเนินการตามขั้นตอนอย่างไรต่อไป     หลังจากตรวจสอบการจับกุม  ศาลจะรอดูรายงานการจับกุม จากพนักงานสอบสวน ที่นำส่งมาให้ศาลพิจารณา ว่าพฤติการณ์ของเยาวชน รายนี้ เป็นอย่างไรบ้าง  เช่น  ศาลจะดูว่า เด็กก่อเหตุยิงไปกี่คน   สภาพทางจิตใจ การรักษาพยาบาลทางจิต  การดูแลของพ่อแม่ผู้ปกครอง เป็นอย่างไร ซึ่ง พนักงานสอบสวน จะต้องใส่มาในรายงาน ให้ศาลพิจารณา  และในการตรวจสอบการจับ  พนักงานสอบสวน ก็จะต้องเดินทางมาศาลเยาวชนฯ ด้วย  ซึ่งศาลอาจจะต้องทำการไต่สวนพนักงานสอบสวน เพิ่มเติม ถึงข้อมูลต่างๆ ที่พนักงานสอบสวน ใส่มาในรายการการจับกุม   จากนั้นศาลจะพิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนว่า จะใช้ดุลยพินิจในการปล่อยตัว  หรือจะควบคุมตัว เด็ก หรือเยาวชน ที่ก่อเหตุหรือไม่  


ส่วนกรณีของเด็กที่มีเรื่องของอาการป่วยทางจิต  นั้น  หากศาลเห็นว่า ถ้าพ่อแม่เด็กดูแลเด็กได้  ก็จะให้พ่อแม่ หรือผู้ปกครองดูแล  และอาจวางมาตรการต่างๆกำหนดไว้   แต่หากพ่อแม่เด็ก ดูแลไม่ได้ ก็อาจจะให้องค์กร หรือหน่วยงาน ที่ดูแลด้านเด็ก ดูแลแทน  หรือสถานที่อื่นที่ศาลเห็นสมควร  เช่น  สถานดูแลทางจิตเวช  แต่ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับพฤติการณ์ของเด็ก ว่า รุนแรงขนาดไหน  และต้องใช้มาตรการอะไรที่จะมาควบคุมดูแลเด็กเหล่านี้ 


ในส่วนของพ่อแม่ ของเด็กนั้น ตามกฎหมาย หากเป็นเด็กหรือเยาวชน ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ  พ่อแม่ก็ต้องรับผิดด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 429  เว้นแต่พ่อแม่จะพิสูจน์ข้อยกเว้นตามกฎหมายได้ว่า  ตนเองไม่ได้มีส่วนผิด 


โฆษกศาลยุติธรรม ยังกล่าวด้วยว่า กฎหมายให้ดูพฤติการณ์ของแต่ละเรื่องไป  ยกตัวอย่างเช่น ใน 1 คดี มีเด็กทำผิดกฎหมาย 10 คน  ศาลอาจจะใช้มาตรการ ที่ต่างกันไปของทั้ง 10 คนก็เป็นไปได้ ขึ้นอยู่กับพฤติการณ์ และความจำเป็นของเด็กแต่ละคน เหมาะสมแค่ไหน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง